แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
การที่จะให้ศาลชั้นต้นยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ได้นั้น จะต้องแสดงให้เห็นว่าโจทก์มีเหตุสมควรที่มาศาลในวันนัดไม่ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 166 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 181 คดีนี้ศาลชั้นต้นนัดสืบพยานโจทก์ โจทก์ที่ 1 ที่ 3 และทนายโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ได้ทราบวันเวลานัดดังกล่าวโดยชอบแล้ว แต่มิได้มาศาลตามกำหนดนัด เนื่องจากทนายโจทก์ที่ 1 และที่ 3 เดินทางไปว่าความในคดีอื่นที่ศาลได้นัดพิพากษาตามยอมในวันเดียวกัน โดยไม่ได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนการพิจารณาในคดีนี้ ซึ่งทนายโจทก์ที่ 1 และที่ 3 เป็นคนนัดวันนัดสืบพยานโจทก์ในคดีนี้ไว้เอง ทนายโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ชอบที่จะแจ้งต่อศาลในคดีอื่นว่าทนายโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ติดการพิจารณาของศาลในคดีนี้ และขอให้ศาลในคดีอื่นนัดพิจารณาตามยอมในวันอื่น ไม่ควรนัดให้ซ้อนกัน แต่ทนายโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ก็หาได้กระทำไม่ นับว่าเป็นความบกพร่องของทนายโจทก์ที่ 1 และที่ 3 เอง ทั้งเมื่อมีเหตุขัดข้องทำให้ไม่สามารถเดินทางมาศาลได้ก็ต้องแจ้งเหตุขัดข้องต่อศาลในคดีนี้ทันที การที่ทนายโจทก์ที่ 1 และที่ 3 เพียงแต่บอกให้โจทก์ที่ 1 มาศาลเพื่อตอบคำถามค้านของทนายจำเลยให้เสร็จโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้องให้ศาลในคดีนี้ทราบ แสดงให้เห็นว่าทนายโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ไม่เห็นถึงความสำคัญในเวลานัดของศาลในคดีนี้ เหตุขัดข้องของทนายโจทก์ที่ 1 และที่ 3 จะยกขึ้นเป็นข้ออ้างเพื่อให้ศาลชั้นต้นยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ได้ แม้โจทก์ที่ 1 จะมีใบรับรองแพทย์และรายงานแพทย์มาแสดงว่าโจทก์ที่ 1 เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลในวันดังกล่าว โดยมีอาการโรคกระเพาะและแน่นหน้าอกก็ตามแต่ตามรายงานแพทย์ดังกล่าวได้สรุปผลการตรวจว่า โจทก์ที่ 1 มีปัญหาระบบย่อยอาหารโดยไม่มีโรคหัวใจ เนื่องจากอุดตันของเส้นโลหิตแต่อย่างใด ทั้งโจทก์ที่ 1 ยังสามารถโทรศัพท์ติดต่อไปยังสำนักงานของทนายโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ได้ แสดงว่าอาการป่วยของโจทก์ที่ 1 ไม่ร้ายแรงถึงขนาดที่จะทำให้โจทก์ที่ 1 ไม่สามารถแจ้งเหตุขัดข้องต่อศาลชั้นต้นได้โดยสามารถสอบถามหมายเลขโทรศัพท์ของศาลชั้นต้นจากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยซึ่งให้บริการสอบถามหมายเลขโทรศัพท์ตลอด 24 ชั่วโมงได้ตามพฤติการณ์แห่งคดีที่ศาลชั้นต้นรอจนถึงเวลา 15.30 นาฬิกา นับว่าเป็นระยะเวลานานพอที่โจทก์ที่ 1 ที่ 3 และทนายโจทก์ที่ 1 และที่ 3 จะโทรศัพท์แจ้งเหตุขัดข้องต่อศาลชั้นต้นหรือมอบหมายให้ผู้หนึ่งผู้ใดมาแจ้งเหตุขัดข้องต่อศาลชั้นต้นอันอยู่ในวิสัยที่โจทก์ที่ 1 ที่ 3 และทนายโจทก์ที่ 1 และที่ 3 สามารถจะกระทำได้แต่โจทก์ที่ 1 และที่ 3 และทนายโจทก์ที่ 1 และที่ 3 หาได้ดำเนินการดังกล่าวไม่ พฤติการณ์ของฝ่ายโจทก์เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลล่าช้า กรณีจึงไม่มีเหตุอันสมควรที่ศาลชั้นต้นจะยกคดีนี้ขึ้นพิจารณาใหม่
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ทั้งสามฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334, 335, 358 และ 360 ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่า คดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ประทับฟ้องของโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ไว้พิจารณา ศาลชั้นต้นจึงดำเนินการนัดสืบพยานโจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ครั้งถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ โจทก์ที่ 1 ที่ 3 และทนายโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ไม่มาศาลตามกำหนดนัด ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้ยกฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 166 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 181
โจทก์ที่ 1 และที่ 3 ยื่นคำร้องว่า ในวันนัดสืบพยานโจทก์ ทนายโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ต้องเดินทางไปว่าความที่ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสงขลา จึงมาว่าความในคดีนี้ไม่ได้ นายสมเจตต์บอกให้โจทก์ที่ 1 มาศาล เพื่อให้จำเลยถามค้านพยานโจทก์ปากโจทก์ที่ 1 ต่อจากนัดก่อน แต่โจทก์ที่ 1 เดินทางกลับจากต่างประเทศแล้วมีอาการป่วยกะทันหันต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลจึงไม่สามารถมาศาลตามวันนัดได้ ขอให้ยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่
จำเลยยื่นคำคัดค้านว่า โจทก์ที่ 1 ที่ 3 และทนายโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ทราบนัดโดยชอบแล้วไม่มาศาลโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้อง ถือว่าจงใจขาดนัดพิจารณา ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งให้ยกคำร้อง
โจทก์ที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ที่ 1 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ว่ามีเหตุสมควรที่ศาลชั้นต้นจะยกคดีนี้ขึ้นพิจารณาใหม่หรือไม่ เห็นว่า การที่จะให้ศาลชั้นต้นยกคดีนี้ขึ้นพิจารณาคดีใหม่ได้นั้น โจทก์ที่ 1 และที่ 3 จะต้องแสดงให้เห็นว่ามีเหตุสมควรที่มาศาลในวันนัดไม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 166 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 181 คดีนี้ศาลชั้นต้นนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 28 กันยายน 2543 เวลา 13.30 นาฬิกา โจทก์ที่ 1 ที่ 3 และทนายโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ได้ทราบวันเวลานัดดังกล่าวโดยชอบแล้ว แต่มิได้มาศาลตามกำหนดนัด โดยได้ความจากคำเบิกความของทนายโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ในชั้นไต่สวนคำร้องว่า เหตุที่ทนายโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ไม่มาศาลตามกำหนดนัดนั้น เนื่องจากทนายโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นทนายโจทก์ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 119/2541 ของศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสงขลา ซึ่งได้มีการเจรจาเพื่อทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในวันที่ 2 สิงหาคม 2543 และศาลในคดีดังกล่าวได้นัดพิพากษาตามยอมในวันที่ 28 กันยายน 2543 เวลา 9 นาฬิกา โดยกำหนดให้คู่ความทำการรังวัดที่ดินพิพาทให้เสร็จก่อนวันนัด แต่คู่ความในคดีดังกล่าวเกิดข้อขัดแย้งกันในการรังวัดที่ดินพิพาทและได้แจ้งความดำเนินคดีต่อกัน ทนายโจทก์ที่ 1 และที่ 3 จึงเดินทางไปดูที่ดินพิพาทตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน 2543 โดยได้ติดต่อกับโจทก์ที่ 1 ทางโทรศัพท์ และบอกให้โจทก์ที่ 1 มาศาลในวันนัดเพื่อเบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยให้เสร็จ แล้วทนายโจทก์ที่ 1 และที่ 3 จะมาถามติงในนัดต่อไป ทนายโจทก์ที่ 1 และที่ 3 จึงไม่ได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนการพิจารณาในคดีนี้ และได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ที่ 1 ว่า โจทก์ที่ 1 เดินทางกลับจากประเทศสหรัฐอเมริกาในวันที่ 27 กันยายน 2543 เวลา 11 นาฬิกา โดยมีอาการไม่สบายแน่นหน้าอกและอาเจียนจึงพักผ่อนอยู่ที่บ้าน ครั้นเวลากลางคืนหลังสองยามโจทก์ที่ 1 ได้ป่วยกะทันหัน บุตรของโจทก์ที่ 1 นำตัวโจทก์ที่ 1 ไปรักษาที่โรงพยาบาลกรุงเทพจนถึงวันที่ 29 กันยายน 2543 โจทก์ที่ 1 ไม่ได้แจ้งโจทก์ที่ 3 เนื่องจากไม่สามารถติดต่อกันได้ เห็นว่า ทนายโจทก์ที่ 1 และที่ 3 เป็นคนนัดวันนัดสืบพยานโจทก์ในคดีนี้ไว้เองตั้งแต่วันที่ 7 กรกฎาคม 2543 เมื่อทนายโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ไปว่าความในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 119/2541 ของศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสงขลา ซึ่งได้มีการเจรจาเพื่อทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในวันที่ 2 สิงหาคม 2543 และศาลในคดีดังกล่าวได้นัดพิพากษาตามยอมในวันที่ 28 กันยายน 2543 เวลา 9 นาฬิกา ทนายโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ชอบที่จะแจ้งต่อศาลในคดีดังกล่าวว่าทนายโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ติดการพิจารณาของศาลในคดีนี้ และขอให้ศาลในคดีดังกล่าวนัดพิพากษาตามยอมในวันอื่น ไม่ควรนัดให้ซ้อนกัน แต่ทนายโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ก็หาได้กระทำไม่ การที่ทนายโจทก์ที่ 1 และที่ 3 นัดพิพากษาตามยอมในวันเดียวกับวันนัดสืบพยานโจทก์ในคดีนี้ นับว่าเป็นความบกพร่องของทนายโจทก์ที่ 1 และที่ 3 เอง ทั้งเมื่อคู่ความในคดีดังกล่าวเกิดข้อขัดแย้งกันในการรังวัดที่ดินพิพาททนายโจทก์ที่ 1 และที่ 3 จำเป็นต้องเดินทางไปดูที่ดินพิพาท ทนายโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ก็จะต้องเดินทางกลับมาให้ทันวันนัดของศาลในคดีนี้ หากมีเหตุขัดข้องทำให้ไม่สามารถเดินทางมาศาลได้ก็ต้องแจ้งเหตุขัดข้องต่อศาลในคดีนี้ทันที การที่ทนายโจทก์ที่ 1 และที่ 3 เพียงแต่บอกให้โจทก์ที่ 1 มาศาลเพื่อตอบคำถามค้านของทนายจำเลยให้เสร็จโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้องให้ศาลในคดีนี้ทราบ แสดงให้เห็นว่าทนายโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ไม่เห็นถึงความสำคัญในเวลานัดของศาลในคดีนี้ เหตุขัดข้องของทนายโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ดังกล่าวจึงไม่ใช่เรื่องที่ทนายโจทก์ที่ 1 และที่ 3 จะยกขึ้นเป็นข้ออ้างเพื่อให้ศาลชั้นต้นยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ได้ ส่วนอาการป่วยของโจทก์ที่ 1 แม้โจทก์ที่ 1 จะมีใบรับรองแพทย์และรายงานแพทย์มาแสดงว่าโจทก์ที่ 1 เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลในวันที่ 28 กันยายน 2543 โดยมีอาการโรคกระเพาะและแน่นหน้าอกก็ตาม แต่ตามรายงานแพทย์ดังกล่าวได้สรุปผลการตรวจว่า โจทก์ที่ 1 มีปัญหาระบบย่อยอาหารโดยไม่มีโรคหัวใจเนื่องจากอุดตันของเส้นโลหิตแต่อย่างใด ทั้งโจทก์ที่ 1 ยังสามารถโทรศัพท์ติดต่อไปยังสำนักงานของทนายโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ได้ แสดงว่าอาการป่วยของโจทก์ที่ 1 ไม่ร้ายแรงถึงขนาดที่จะทำให้โจทก์ที่ 1 ไม่สามารถแจ้งเหตุขัดข้องต่อศาลชั้นต้นได้ ส่วนที่โจทก์ที่ 1 อ้างว่า โจทก์ที่ 1 ไม่ได้โทรศัพท์แจ้งเหตุให้ศาลชั้นต้นทราบเนื่องจากไม่มีหมายเลขโทรศัพท์ของศาลชั้นต้นก็เป็นข้ออ้างที่เลื่อนลอยและไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง เพราะโจทก์ที่ 1 สามารถสอบถามหมายเลขโทรศัพท์ของศาลชั้นต้นจากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยซึ่งให้บริการสอบถามหมายเลขโทรศัพท์ตลอด 24 ชั่วโมงได้ ตามพฤติการณ์แห่งคดีที่ศาลชั้นต้นรอโจทก์ที่ 1 ที่ 3 และทนายโจทก์ที่ 1 และที่ 3 อยู่จนถึงเวลา 15.30 นาฬิกา นับว่าเป็นระยะเวลานานพอที่โจทก์ที่ 1 ที่ 3 และทนายโจทก์ที่ 1 และที่ 3 จะโทรศัพท์แจ้งเหตุขัดข้องต่อศาลชั้นต้นหรือมอบหมายให้ผู้หนึ่งผู้ใดมาแจ้งเหตุขัดข้องต่อศาลชั้นต้นอันอยู่ในวิสัยที่โจทก์ที่ 1 ที่ 3 และทนายโจทก์ที่ 1 และที่ 3 สามารถจะกระทำได้ แต่โจทก์ที่ 1 ที่ 3 และทนายโจทก์ที่ 1 และที่ 3 หาได้ดำเนินการดังกล่าวไม่ พฤติการณ์ของฝ่ายโจทก์เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลล่าช้า กรณีจึงไม่มีเหตุอันสมควรที่ศาลชั้นต้นจะยกคดีนี้ขึ้นพิจารณาใหม่ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของโจทก์ที่ 1 และที่ 3 และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน