คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2119/2523

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องกล่าวโดยสรุปถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยกับพวกร่วมกันกระทำผิดคือ นำไม้สักของกลางเข้ามาในราชอาณาจักร และระหว่างวันเวลาเดียวกันร่วมกันมีไม้ของกลางจำนวนเดียวกันนั้นไว้ในครอบครองเป็นความผิด ทั้งนี้การกระทำของจำเลยกับพวกทั้งสองประการดังกล่าวเกิดขึ้นในระหว่างวันเวลาและสถานที่เดียวกัน เจ้าพนักงานยึดได้ไม้จำนวนเดียวกันเป็นของกลาง ดังนี้ ย่อมเข้าใจได้ว่าในส่วนที่เกี่ยวกับไม้ของกลางที่มีอยู่จำนวนเดียวนั้น โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยกับพวกร่วมกันนำเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นความผิดและมีไว้ในครอบครองเป็นความผิดด้วยไม่ทำให้เข้าใจไปว่าไม้ของกลางที่มีอยู่จำนวนเดียวเป็นไม้ที่จำเลยกับพวกนำเข้ามาในราชอาณาจักรและมิได้นำเข้ามาในราชอาณาจักรในคราวเดียวกันอันเป็นการขัดแย้งกันแต่อย่างใด ส่วนปัญหาที่ว่าจะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ หรือไม่นั้นเป็นเรื่องที่จะต้องวินิจฉัยเมื่อมีคำพิพากษา หาทำให้ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมไม่ หากเป็นฟ้องที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) แล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าเมื่อระหว่างต้นเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๐ ถึงวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๒๐ วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยทั้งสองกับพวกที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้องร่วมกันกระทำผิดนำไม้สักท่อนจากสาธารณรัฐสังคมนิยมแห่งสหภาพพม่าเข้ามาในราชอาณาจักร จำนวน ๗๒๐ ท่อน ปริมาตรา ๙๖๑ ลูกบาศก์เมตรา ราคา ๗,๕๓๖,๐๗๐ บาท คิดเป็นอากรขาเข้า ๗๕,๖๓๐ บาท ๗๐ สตางค์ ภาษีการค้า ๑๒๗,๑๘๔ บาท ๓๖ สตางค์ และภาษีบำรุงท้องที่ ๑๒,๗๑๘ บาท ๔๓ สตางค์ โดยจำเลยมิได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มิได้นำผ่านศุลกากรโดยถูกต้อง มีเจตนาหลีกเลี่ยงข้อห้ามข้อจำกัด อันเดียวกับการนำเข้าและนำของเข้าเขตแดนทางบก นอกทางอนุมัติโดยมิได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากอธิบดีหรือผู้แทน และหลีกเลี่ยงไม่เสียภาษีศุลกากรด้วยเจตนาฉ้อภาษีรัฐที่จะต้องเสียตามกฎหมายและตามวันเวลาดังกล่าวแล้วจำเลยทั้งสองกับพวกได้ร่วมกันมีไม้สักท่อน อันเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. ๒๔๘๔ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๑๘ จำนวน ๗๔๐ ท่อน ปริมาตรา ๙๖๑ ลูกบาศก์เมตร คิดเป็นค่าภาคหลวง ๑๔๔,๑๕๐ บาท และไม้ดังกล่าวอยู่ในลักษณะไม้หวงห้ามที่ยังไม่ได้แปรรูป ไม่มีรอยตรารัฐบาลประทับไว้และไม่มีรอบตราค่าภาคหลวง ไว้ในความครอบครองของจำเลยโดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน และจำเลยพิสูจน์ไม่ได้ว่าเป็นไม้ที่ได้มาโดยขอบด้วยกฎหมาย เหตุเกิดที่ตำบลแม่ปะ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ในวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๒๐ เจ้าพนักงานยึดได้ไม้จำนวน ๗๔๐ ท่อน ที่จำเลยร่วมกันกระทำผิดดังกล่าวเป็นของกลาง โดยมีผู้แจ้งความนำจับเพื่อขอรับสินบนรางวัลด้วย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ มาตรา ๒๗ พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๔๘๐ มาตรา ๕, ๑๐ พระราชบัญญัติ (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๔๘๒ มาตรา ๖, ๑๖, ๑๗ พระราชบัญญัติ (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๓ ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ ๓๒๙ ข้อ ๑๖ พระราชบัญญัติควบคุมการสั่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้าบางอย่าง พ.ศ. ๒๔๘๒ มาตรา ๓, ๙ พระราชบัญญัติควบคุมการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้าบางอย่าง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๓ พระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕,๗,๒๐ พระราชกฤษฎีกาควบคุมการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้าบางอย่าง (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๔๙๖ มาตรา ๓ ประกาศกระทรวงพาณิชย์เรื่องการนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร (ฉบับที่ ๘๔) พ.ศ. ๒๕๒๐ พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. ๒๔๘๔ มาตรา ๖๙, ๗๔, ๗๔ จัตวา พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๐๘ มาตรา ๒๘ พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๖) พ.. ๒๕๒๒ มาตรา ๓, ๙ พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำผิด พ.ศ. ๒๔๘๙ มาตรา ๖, ๙ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ ริบไม้ของกลาง จ่ายสินบนและรางวัลนำจับแก่ผู้นำจับตามกฎหมาย
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณาโจทก์แถลงรับตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๓ ว่า ไม้จำนวน ๗๔๐ ท่อนที่โจทก์บรรยายฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากรฯ และพระราชบัญญัติควบคุมการส่งออกไปนอกฯ กับที่บรรยายฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ เป็นไม้จำนวนเดียวกันกองเดียวกัน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลยแล้ววินิจฉัยโจทก์บรรยายฟ้องตอนแรกว่า จำเลยกับพวกนำไม้ของกลางเข้ามาในราชอาณาจักร ตอนหลังบรรยายว่าวันเวลาเดียวกันมีไว้ในครอบครองโดยมิได้รับอนุญาตทั้งๆ ที่เป็นไม้จำนวนเดียวกันเท่ากับว่าเป็นไม้จากต่างประเทศและในประเทศขัดกันอย่างชัดแจ้ง ถือว่าคำฟ้องเคลือบคลุมไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕๘ (๕) พิพากษายกฟ้องคืนไม้ของกลางแก่จำเลย
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่าไม่พอถือว่าฟ้องขัดกัน คำฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุมพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ใช้ศาลชั้นต้นทำการพิจารณาสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยต่อไป แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์บรรยายฟ้องกล่าวโดยสรุปถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยกับพวกร่วมกันกระทำผิดคือนำไม้สักของกลางเข้ามาในราชอาณาจักร และระหว่างวันเวลาเดียวกันร่วมกันมีไม้ของกลางจำนวนเดียวกันนั้นไว้ในครอบครองเป็นความผิด ทั้งนี้การกระทำของจำเลยทั้งสองกับพวกทั้งสองประการดังกล่าวข้างต้น เกิดขึ้นระหว่างวันเวลาและสถานที่เดียวกัน เจ้าพนักงานยึดได้ไม้จำนวนเดียวกันเป็นของกลาง ดังนี้ ย่อมเข้าใจได้ว่า ในส่วนที่เกี่ยวกับไม้ของกลางที่มีอยู่จำนวนเดียวนั้น โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยกับพวกร่วมกันนำเข้ามาในราชอาณาจักร เป็นความผิดและมีไว้ในครอบครองเป็นความผิดด้วย ไม่ทำให้เข้าใจว่าไม้ของกลางที่มีอยู่จำนวนเดียวเป็นไม้ที่จำเลยกับพวกนำเข้ามาในราชอาณาจักรและมิได้นำเข้ามาในราชอาณาจักรในคราวเดียวกัน ขัดแย้งกันแต่อย่างใดไม่ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า การกระทำตามฟ้องไม่อาจเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ ได้นั้นก็เป็นปัญหาที่ศาลจะยกขึ้นวินิจฉัยเมื่อมีคำพิพากษาหาทำให้ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมไม่ หากเป็นฟ้องที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕๘ (๕) แล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share