คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1762-1763/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.รัษฎากร มาตรา 42 บัญญัติว่า “เงินได้พึงประเมินประเภทต่อไปนี้ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้… (9) การขายสังหาริมทรัพย์อันเป็นมรดก หรือสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไร…” บริษัทย่อมมีวัตถุประสงค์ในทางค้าหากำไรมาแบ่งปันกันในระหว่างผู้ถือหุ้น การได้หุ้นมาจึงย่อมถือว่าเป็นการได้มาโดยมุ่งในทางการค้าหรือหากำไร รายได้จากการขายหุ้นจึงเป็นเงินได้พึงประเมินในการเสียภาษีเงินได้ เว้นแต่จะพิสูจน์ให้เห็นว่าหุ้นนั้นได้มาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไรโดยแท้จริง
เมื่อเจ้ามรดกถึงแก่กรรม มีการจดทะเบียนก่อตั้งบริษัทแล้วโอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเข้าเป็นทุนของบริษัท มีโจทก์ทั้งสองและทายาทอื่นอีก 7 คน เป็นผู้ถือหุ้น หลังจากนั้น ยังมีการจดทะเบียนก่อตั้งบริษัทอีกหนึ่งบริษัท ต่อมาโจทก์ทั้งสองตกลงโอนขายหุ้นของตนในบริษัททั้งสองให้แก่ ป. กับพวก การที่ผู้จัดการมรดกและทายาทจัดตั้งบริษัทแล้วแบ่งหุ้นให้แก่โจทก์ทั้งสองและทายาทอื่น เป็นการสงวนผลประโยชน์รายได้ที่เกิดจากกิจการให้ตกอยู่แก่ทายาทของ ส. ที่ถือหุ้นบริษัททั้งสองไว้ต่อไป และการถือหุ้นของโจทก์ทั้งสองกับทายาทดังกล่าว ยังทำให้ได้บริหารกิจการซึ่งน่าจะคาดหมายได้ว่ามูลค่าทรัพย์สินนี้จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงถือได้ว่าการได้รับหุ้นบริษัททั้งสองเป็นเรื่องของการค้าหากำไรและมิใช่การจัดตั้งบริษัทโดยไม่มีผลประโยชน์หรือกำไรที่จะแบ่งให้ผู้ถือหุ้นแต่ประการใด จึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสองได้หุ้นของบริษัทมาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไรตามมาตรา 42 (9)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 22,700,119.63 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน ของต้นเงิน 13,851,689.75 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และชำระเงินแก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 22,189,810.11 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน ของต้นเงิน 13,654,981.64 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
หลังจากศาลภาษีอากรกลางมีคำพิพากษา โจทก์ทั้งสองยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองขอแก้ไขวันที่ในการคำนวณดอกเบี้ยจากเดิม วันที่ 28 มิถุนายน 2550 เป็นวันที่ 26 มิถุนายน 2550 และขอแก้ไขเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 20 และคำขอท้ายฟ้องจากเดิม ให้จำเลยชำระเงินให้แก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 22,189,810.11 บาท เป็นให้จำเลยชำระเงินให้แก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 22,381,198.81 บาท ซึ่งเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อย
ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งว่า คดีนี้ศาลได้มีคำพิพากษาแล้ว ประกอบกับกรณีนี้เป็นการแก้ไขมาก ไม่ใช่เป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อย จึงให้ยกคำร้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์คำพิพากษาและคำสั่งต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองในประการแรกมีว่า การที่โจทก์ทั้งสองโอนขายหุ้นของตนในบริษัทสุวพีร์ธรรมวัฒนะ จำกัด และบริษัทสุวพีร์ธรรมวัฒนะ (1990) จำกัด ให้แก่นายปริญญา กับพวก ตามสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 746/2546 ของศาลแพ่ง เป็นการขายสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไร ซึ่งเป็นเงินได้ที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 42 (9) หรือไม่ โดยโจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ว่า ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตลาดยิ่งเจริญเป็นทรัพย์มรดกที่นางสุวพีร์ยกให้ทายาท การจัดตั้งบริษัทสุวพีร์ธรรมวัฒนะ จำกัด และให้ทายาทเป็นผู้ถือหุ้นก็เป็นไปตามพินัยกรรมของนางสุวพีร์ แม้บริษัทสุวพีร์ธรรมวัฒนะ จำกัด จะเป็นนิติบุคคลต่างหากจากทายาทผู้ถือหุ้นแต่ก็ไม่ใช่ผู้รับมรดก ผู้รับมรดกยังคงเป็นทายาทของนางสุวพีร์ ส่วนบริษัทสุวพีร์ธรรมวัฒนะ (1990) จำกัด ก็เช่นเดียวกัน กล่าวคือ โจทก์ทั้งสองได้หุ้นมาโดยมิได้รับโอนหรือซื้อจากผู้ใด แม้หุ้นดังกล่าวมิใช่ทรัพย์มรดก แต่เป็นการได้มาสืบเนื่องจากการแบ่งมรดกนั่นเอง และที่สำคัญหุ้นบริษัทสุวพีร์ธรรมวัฒนะ (1990) จำกัด ไม่มีราคาใดๆ อันจะถือว่าเป็นเงินลงทุน โจทก์ทั้งสองจึงได้หุ้นของบริษัททั้งสองมาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไร จึงไม่มีกรณีต้องเสียภาษีจากการโอนหุ้นตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น ปัญหานี้ประมวลรัษฎากร มาตรา 42 บัญญัติว่า “เงินได้พึงประเมินประเภทต่อไปนี้ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้… (9) การขายสังหาริมทรัพย์อันเป็นมรดก หรือสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไร…” ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นว่า บริษัทย่อมมีวัตถุประสงค์ในทางหากำไรมาแบ่งปันกันในระหว่างผู้ถือหุ้น ผู้ถือหุ้นของบริษัทย่อมหวังที่จะได้รับประโยชน์จากเงินปันผลหรือได้รับกำไรเมื่อโอนขายหุ้น หรือหวังจะได้ใช้สิทธิจากการเป็นผู้ถือหุ้นในการควบคุมกิจการงานของบริษัท ซึ่งโดยปกติก็เป็นเรื่องของการค้าหากำไร เพราะหุ้นของบริษัทไม่ใช่ทรัพย์สินที่อาจจะได้ประโยชน์ในทางด้านใช้สอย หรือมีคุณค่าทางด้านศิลปะ หรือมีประโยชน์ในด้านอื่นอย่างทรัพย์สินทั่ว ๆ ไป การได้หุ้นมาจึงย่อมถือว่าเป็นการได้มาโดยมุ่งในทางการค้าหรือหากำไร รายได้จากการขายหุ้นจึงเป็นเงินได้พึงประเมินในการเสียภาษีเงินได้ เว้นแต่จะมีการพิสูจน์ให้เห็นว่าหุ้นนั้นได้มาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไรโดยแท้จริง ซึ่งคดีนี้ข้อเท็จจริงฟังยุติได้ว่า ขณะนางสุวพีร์ เจ้ามรดก ยังมีชีวิตอยู่ นางสุวพีร์ได้ประกอบกิจการตลาดยิ่งเจริญในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทมาโดยตลอด มีผลประกอบการที่มีรายได้สูงดังที่โจทก์ทั้งสองเบิกความว่าตั้งแต่ปี 2530 กิจการมีรายได้จากค่าเช่าไม่ต่ำกว่าปีละ 60,000,000 บาท ทั้งรายได้จากค่าเช่าก็สูงขึ้นทุกปี เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2533 นางสุวพีร์ถึงแก่กรรม มีการจดทะเบียนก่อตั้งบริษัทสุวพีร์ธรรมวัฒนะ จำกัด แล้วโอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตลาดยิ่งเจริญเข้าเป็นทุนของบริษัท มีโจทก์ทั้งสองและทายาทอื่นอีก 7 คน เป็นผู้ถือหุ้น หลังจากนั้นประมาณ 2 เดือน ยังมีการจดทะเบียนก่อตั้งบริษัทสุวพีร์ธรรมวัฒนะ (1990) จำกัด อีกบริษัทหนึ่ง โดยมีทายาทตามพินัยกรรมเป็นผู้ถือหุ้น เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาภายในระหว่างทายาทเพื่อการบริหารจัดการตลาดยิ่งเจริญ ต่อมาทายาทมีข้อขัดแย้งในการบริหารจัดการตลาดยิ่งเจริญจนกระทั่งมีการฟ้องร้องดำเนินคดีระหว่างทายาท และในที่สุดเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2546 โจทก์ทั้งสองและทายาทอื่น สามารถตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลแพ่งได้มีคำพิพากษาตามยอม คดีถึงที่สุด ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 746/2546 ตามสัญญาประนีประนอมยอมความโดยโจทก์ทั้งสองตกลงโอนขายหุ้นของตนในบริษัทสุวพีร์ธรรมวัฒนะ จำกัด และบริษัทสุวพีร์ธรรมวัฒนะ (1990) จำกัด ให้แก่นายปริญญา กับพวก เห็นว่าการที่ผู้จัดการมรดกและทายาทจัดตั้งบริษัทสุวพีร์ธรรมวัฒนะ จำกัด และบริษัทสุวพีร์ธรรมวัฒนะ (1990) จำกัด แล้วแบ่งหุ้นในบริษัททั้งสองดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งสองและทายาทอื่น เป็นการสงวนผลประโยชน์รายได้ที่เกิดจากกิจการตลาดยิ่งเจริญให้ตกอยู่แก่ทายาทนางสุวพีร์ที่ถือหุ้นบริษัททั้งสองไว้ต่อไป และการถือหุ้นของโจทก์ทั้งสองกับทายาทดังกล่าว ยังทำให้ได้บริหารกิจการตลาดยิ่งเจริญซึ่งน่าจะคาดหมายได้ว่ามูลค่าทรัพย์สินนี้จะมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงถือได้ว่าการได้รับหุ้นบริษัททั้งสองเป็นเรื่องของการค้าหากำไร และมิใช่กรณีการจัดตั้งบริษัทสุวพีร์ธรรมวัฒนะ (1990) จำกัด โดยไม่มีผลประโยชน์หรือกำไรที่จะแบ่งให้ผู้ถือหุ้นแต่ประการใด จึงฟังไม่ได้ว่า โจทก์ทั้งสองได้หุ้นของบริษัททั้งสองมาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไร ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 42 (9) ส่วนคำพิพากษาศาลฎีกาที่โจทก์ทั้งสองอ้างนั้น โจทก์ในคดีดังกล่าวก็นำสืบว่า ผู้จัดการมรดกของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี จัดการมรดกโดยการจดทะเบียนตั้งบริษัทเชียงใหม่พาณิชย์จำกัด ขึ้นเมื่อปี 2476 แล้วแบ่งหุ้นให้แก่ทายาทนับแต่เริ่มก่อตั้งบริษัทมาเป็นเวลาประมาณสิบกว่าปี ไม่มีผลประโยชน์แบ่งให้แก่ผู้ถือหุ้นเพราะต้องชำระหนี้ให้พระคลังข้างที่และธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด ที่ทรัพย์มรดกมีหนี้ผูกพันอยู่ และต่อมาเกิดเพลิงไหม้ตลาดวโรรสทั้งหมดโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยในคดีดังกล่าวนำสืบโต้แย้ง เห็นได้ว่า สภาพการรับหุ้นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นมีข้อเท็จจริงที่แตกต่างกับคดีนี้ อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองในประการต่อไปมีว่า จำเลยคำนวณดอกเบี้ยสำหรับจำนวนเงินที่จำเลยมีคำสั่งให้คืนแก่โจทก์ทั้งสองโดยชอบหรือไม่เห็นว่า เมื่อเงินที่โจทก์ทั้งสองได้รับจากการขายหุ้นตามสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นเงินได้พึงประเมินและมีการหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ โจทก์ทั้งสองต้องยื่นแบบแสดงรายการเกี่ยวกับเงินภาษีอากรที่ถูกหักไว้ ณ ที่จ่าย วันที่ 31 มีนาคม ของปีภาษีถัดจากปีที่ได้รับเงินได้พึงประเมิน การที่จำเลยคำนวณดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ทั้งสองในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน ตั้งแต่วันถัดจากวันครบระยะเวลาสามเดือนนับแต่วันสิ้นกำหนดระยะเวลายื่นแบบแสดงรายการตามที่กฎหมายกำหนด จึงชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่า เงินค่าหุ้นที่โจทก์ทั้งสองได้รับจากการขายหุ้นของบริษัทสุวพีร์ธรรมวัฒนะ จำกัด และบริษัทสุวพีร์ธรรมวัฒนะ (1990) จำกัด ไม่ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 42 (9) และจำเลยคืนเงินที่มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ให้แก่โจทก์ทั้งสองครบถ้วนถูกต้องตามกฎหมายแล้วมานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วยในผล กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นและอุทธรณ์คำสั่งของศาลภาษีอากรกลางที่ไม่อนุญาตให้โจทก์ทั้งสองแก้ไขเพิ่มเติมฟ้อง เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share