คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3118/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยร่วมกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน โดยเหตุเกิดที่ตำบลนากลาง อำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู และแขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร และประเทศสิงคโปร์ เกี่ยวพันกัน จึงเป็นกรณีการกระทำของจำเลยเป็นความผิดซึ่งมีหลายกรรมกระทำลงในท้องที่ต่าง ๆ กัน ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 (4) พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบจึงเป็นพนักงานสอบสวนซึ่งท้องที่ที่จับจำเลยได้อยู่ในเขตอำนาจ ไม่ใช่กรณีความผิดซึ่งมีโทษตามกฎหมายไทยได้กระทำลงนอกราชอาณาจักรไทยอย่างเดียว ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 20 ซึ่งอัยการสูงสุดหรือผู้รักษาการแทนเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ คดีนี้ตามฟ้องจับจำเลยได้เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2553 และนำส่งพนักงานสอบสวน ทำการสอบสวนแล้ว การสอบสวนจึงเป็นไปโดยชอบ และโจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยจะเพิ่งยกขึ้นฎีกา ไม่ได้ยกขึ้นในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ก็ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 4, 9 วรรคหนึ่ง วรรคสี่, 12 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 4, 6 (1), 9 วรรคหนึ่งวรรคสอง, 52 วรรคหนึ่ง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 283 วรรคแรก, 310, 310 ทวิ, 320 วรรคแรก, 337 และให้จำเลยคืนเงิน 40,000 บาทแก่ผู้เสียหายที่ 2
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 283 วรรคแรก, 310 วรรคแรก, 310 ทวิ, 320 วรรคแรก, 337 วรรคแรกพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 9 วรรคหนึ่งวรรคสี่, 12 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551มาตรา 6 (1), 9 วรรคหนึ่ง วรรคสอง, 52 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่น เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 12 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 10 ปี ฐานร่วมกันเป็นธุระจัดหาเพื่อการอนาจารซึ่งหญิงโดยใช้อุบายหลอกลวง ฐานร่วมกันเป็นธุระจัดหาเพื่อให้บุคคลกระทำการค้าประเวณีโดยใช้อุบายหลอกลวง ขู่เข็ญ ฐานร่วมกันใช้อุบายหลอกลวงส่งคนออกไปนอกราชอาณาจักร และฐานร่วมกันค้ามนุษย์ เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันค้ามนุษย์ ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 6 (1), 52 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 4 ปี และฐานกรรโชก จำคุก 1 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่น คงจำคุก 7 ปี 6 เดือน ฐานร่วมกันค้ามนุษย์คงจำคุก 3 ปี และฐานกรรโชก คงจำคุก 9 เดือน รวมจำคุก 10 ปี 15 เดือนและให้จำเลยคืนเงิน 40,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 2
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นตามที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้ว่า นางสาววิชญาดา ผู้เสียหายที่ 1 เดินทางออกจากประเทศไทยไปที่ประเทศสิงคโปร์เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2552 และเดินทางกลับประเทศไทยเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2552 โดยได้รับการช่วยเหลือจากสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศสิงคโปร์
คดีมีปัญหาที่จะวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยประการแรกว่า คดีนี้มีการสอบสวนโดยชอบหรือไม่ และโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยร่วมกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน โดยเหตุเกิดที่ตำบลนากลาง อำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู และแขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร และประเทศสิงคโปร์ เกี่ยวพันกัน จึงเป็นกรณีการกระทำของจำเลยเป็นความผิดซึ่งมีหลายกรรมกระทำลงในท้องที่ต่าง ๆ กัน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 19 (4) พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบจึงเป็นพนักงานสอบสวนซึ่งท้องที่ที่จับจำเลยได้อยู่ในเขตอำนาจ ไม่ใช่กรณีความผิดซึ่งมีโทษตามกฎหมายไทยได้กระทำลงนอกราชอาณาจักรไทยอย่างเดียวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 20 ซึ่งอัยการสูงสุดหรือผู้รักษาการแทนเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ คดีนี้ตามฟ้องจับจำเลยได้เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2553 และนำส่งพนักงานสอบสวน ทำการสอบสวนแล้ว การสอบสวนจึงเป็นไปโดยชอบ และโจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยจะเพิ่งยกขึ้นฎีกา ไม่ได้ยกขึ้นในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ก็ตาม ก็ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสองประกอบมาตรา 225
พิพากษากลับเป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์

Share