คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2061/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ที่พิพาทซึ่ง เรียกว่าหนองอีเบี้ย โจทก์ทั้งสองได้ แจ้ง การครอบครองไว้แล้วจำเลยเป็นผู้ใหญ่บ้าน ได้ รับการร้องเรียนจากราษฎรประมาณ 92 คน ว่า โจทก์บุกรุกที่พิพาทอันเป็นหนองสาธารณะจำเลยจึงได้ ร้องเรียนนายอำเภอให้ส่งเจ้าหน้าที่ออกไปตรวจสอบที่พิพาทตาม กฎหมายลักษณะปกครองท้องที่ มาตรา 122 การกระทำของจำเลย ไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิ หรือรบกวนการครอบครองของโจทก์แต่ อย่างใด โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องทั้งสองสำนวนใจความทำนองเดียวกันว่า โจทก์ที่ 1เป็นเจ้าของที่ดินตาม ส.ค.1 เลขที่ 49 โจทก์ที่ 2 เป็นเจ้าของที่ดินตาม ส.ค.1 เลขที่ 150 ที่ดินทั้งสองแปลงเดิมเป็นที่ดินผืนเดียวติดต่อกัน โจทก์ทั้งสองต่างได้รับมรดกมาจากบิดามารดาของตนและได้ครอบครองทำกินต่อเนื่องกันตลอดมา ทั้งได้แจ้งการครอบครองไว้แล้ว เมื่อประมาณต้นเดือนมิถุนายน 2525 จำเลยซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้าน ได้มาพูดขอที่ดินของโจทก์ที่ 1 เปิดเป็นทางสาธารณะลงสู่หนองอีเบี้ย ซึ่งเป็นที่นาของโจทก์ที่ 2 โจทก์ที่ 1 ไม่ยอมเปิดทางให้ จำเลยจึงได้ทำหนังสือร้องเรียนต่อนายอำเภอเสลภูมิ กล่าวหาว่าโจทก์ที่ 2 บุกรุกหนองอีเบี้ยอ้างว่าเป็นที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน ขอให้ทางอำเภอตรวจสอบและขับไล่จำเลยที่ 2ออกจากหนองอีเบี้ย และรายงานให้ทางอำเภอสืบสวนเอาที่ดินของโจทก์ที่ 1 รวมเป็นที่สาธารณประโยชน์หนองอีเบี้ยด้วย ทางอำเภอได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นตรวจสอบแล้ว ไม่ปรากฏทางทะเบียนว่าหนองอีเบี้ยเป็นที่สาธารณประโยชน์ และทางอำเภอได้ระงับเรื่องไปแล้ว แต่จำเลยก็ยังรวบรวมราษฎรหลายคนร้องเรียนต่อนายอำเภอใหม่ว่าโจทก์ทั้งสองบุกรุกที่สาธารณประโยชน์ขอให้ขับไล่ อันเป็นการโต้แย้งและรบกวนสิทธิครอบครองของโจทก์ขอให้มีคำสั่งแสดงว่าที่ดินภายในเส้นสีเหลืองในแผนที่สังเขปท้ายฟ้องทั้งสองสำนวน โจทก์ทั้งสองมีสิทธิครอบครองห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้อง
จำเลยให้การทั้งสองสำนวนทำนองเดียวกันว่า ที่ดินที่โจทก์ทั้งสองอ้างว่าเป็นของตนอยู่ในเขตที่ดินสาธารณประโยชน์หนองอีเบี้ยซึ่งประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันมานานประมาณ 60-70 ปีแล้ว ต่อมาเมื่อประมาณ 5-6 ปีมานี้ โจทก์ทั้งสองได้บุกรุกเข้าไปทำประโยชน์ในเขตที่ดินสาธารณประโยชน์หนองอีเบี้ยโดยโจทก์ที่ 1 เข้าทำนาในบริเวณขอบหนอง และโจทก์ที่ 2 เข้าทำนาในตัวหนองซึ่งตื้นเขินขึ้นทำให้ประชาชนผู้เคยใช้ประโยชน์ในที่ดินหนองสาธารณะดังกล่าวไม่อาจใช้ประโยชน์ได้ จึงได้พากันมาร้องเรียนต่อจำเลยในฐานะผู้ใหญ่บ้านผู้มีหน้าที่ดูแลที่ดินสาธารณประโยชน์แทนนายอำเภอ จำเลยได้ทำหนังสือร้องเรียนไปยังอำเภอเสลภูมิโดยประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนจากการกระทำของโจทก์ทั้งสองร่วมกันลงลายมือชื่อในหนังสือนั้นทางอำเภอได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นสอบสวนหาข้อเท็จจริง ขณะอยู่ในระหว่างการสอบสวนโจทก์ก็มาฟ้องจำเลยเป็นคดีทั้งสองสำนวนนี้ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่าที่พิพาทมีชื่อเรียกว่าหนองอีเบี้ย ตั้งอยู่ที่ตำบลเมืองไพร อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด โจทก์ที่ 2 อ้างว่าที่ดินของโจทก์ที่ 2 อยู่ตอนใน ส่วนโจทก์ที่ 1 อ้างว่าที่ดินของโจทก์ที่ 1 อยู่ล้อมรอบที่ดินของโจทก์ที่ 2 และโจทก์ทั้งสองได้แจ้งการครอบครองไว้แล้ว ขณะที่ศาลชั้นต้นไปเดินเผชิญสืบได้บันทึกว่าที่ดินพิพาทมีสภาพเป็นรูปแอ่งกระทะ ไม่มีน้ำขังบริเวณใจกลางมีบ่อน้ำขุดเอง 1 บ่อ เนื้อที่ประมาณ 5-6 ตารางเมตร และทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของที่ดินพิพาทมีบ่อน้ำขุดเองอีก 1 บ่อเนื้อที่ประมาณ6-7 ตารางเมตร ในบริเวณแอ่งกระทะนี้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกอยู่รอบนอกเนื้อที่ประมาณ 4 ไร่ ส่วนรอบในเนื้อที่ประมาณไร่เศษระหว่างที่ดินรอบในและที่ดินรอบนอกมีเสาไม้ปักเป็นแนวเขต ที่ดินรอบนอกโจทก์ที่ 1 ว่าเป็นของตน ส่วนที่ดินรอบในโจทก์ที่ 2 ว่าเป็นของตน จำเลยอ้างว่ามีราษฎรร้องเรียนจำเลยซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านว่าโจทก์ทั้งสองห้ามราษฎรไม่ให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินหนองอีเบี้ยโดยอ้างว่าเป็นที่ดินของโจทก์ทั้งสอง จำเลยทำบันทึกเสนอนายอำเภอนายอำเภอมีคำสั่งตั้งกรรมการออกไปสอบสวนข้อเท็จจริง แต่ยังไม่ได้เสนอความเห็นต่อนายอำเภอ และสภาตำบลเมืองไพรเคยประชุมพิจารณาว่าที่ดินพิพาทเป็นหนองสาธารณะหรือไม่ กรรมการสภาตำบลมี34 คน ออกเสียงว่าที่ดินพิพาทเป็นหนองสาธารณะ 6 เสียง ออกเสียงว่าไม่เป็นหนองสาธารณะ 1 เสียง นอกนั้นงดออกเสียงเนื่องจากไม่ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับที่ดินพิพาท มีปัญหาว่าการที่จำเลยได้รับการร้องเรียนจากราษฎรว่าโจทก์ที่ 2 บุกรุกและทำประโยชน์ส่วนตัวในที่ดินหนองอีเบี้ยซึ่งเป็นหนองสาธารณะ ราษฎรใช้ประโยชน์ร่วมกันมาเป็นเวลานาน ทำให้ราษฎรได้รับความเดือดร้อน จำเลยได้ทำหนังสือถึงนายอำเภอเพื่อขอให้ส่งเจ้าหน้าที่ออกไปตรวจสอบด้วย การที่จำเลยทำหนังสือถึงนายอำเภอดังกล่าวเป็นการโต้แย้งหรือรบกวนการครอบครองของโจทก์หรือไม่ เห็นว่าฟ้องโจทก์บรรยายว่าจำเลยได้มาพูดขอที่ดินโจทก์ที่ 1 เพื่อเปิดเป็นทางสาธารณะลงสู่หนองอีเบี้ยซึ่งเป็นของโจทก์ที่ 2 โจทก์ที่ 1 ไม่ยอมให้เปิดทาง ต่อมาทราบว่าจำเลยได้รายงานให้นายอำเภอสืบสวนสอบสวนจะเอาที่ดินของโจทก์ทั้งสองเป็นที่สาธารณประโยชน์ ผลการสืบสวนสอบสวนไม่มีผู้ใดกล่าวอ้างที่ดินของโจทก์ทั้งสองเป็นที่สาธารณะ สภาตำบลได้ประชุมปรึกษาแล้วลงมติว่าหนองอีเบี้ยไม่ใช่ที่สาธารณประโยชน์ นายอำเภอได้ระงับเรื่องไปแต่จำเลยยังรวบรวมราษฎรหลายคนกล่าวหาว่าโจทก์ทั้งสองบุกรุกที่สาธารณประโยชน์อันเป็นการโต้แย้งสิทธิและรบกวนสิทธิครอบครองของโจทก์ทั้งสอง ดังนี้ จะเห็นได้ว่าการที่จำเลยซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านได้รับการร้องเรียนจากราษฎรบ้านโนนสนาม บ้านนำสร้าง และบ้านนาเหล่งรวมประมาณ 92 คนว่า โจทก์ที่ 2 บุกรุกหนองอีเบี้ย จำเลยได้ทำหนังสือถึงนายอำเภอ นายอำเภอได้ตั้งกรรมการไปสอบสวนข้อเท็จจริงนายไพรัส ทองเจริญ เจ้าหน้าที่บริหารงานที่ดิน อำเภอเสลภูมิ ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเบิกความเป็นพยานจำเลยว่า ได้สอบพยานไว้หลายหมู่บ้าน พยานที่ให้การว่าเคยใช้ประโยชน์ในหนองอีเบี้ยมีจำนวนมาก ส่วนพยานที่ให้การว่าไม่เคยใช้ประโยชน์ก็มีจำนวนมาก การสอบสวนยังไม่ยุติ มีการนำเรื่องมาฟ้องศาลก่อน จึงไม่สามารถสรุปผลการสอบสวนได้ ดังนี้ เห็นได้ว่าเมื่อข้อเท็จจริงจากการสอบสวนยังฟังไม่ได้ว่าที่ดินพิพาทจะเป็นหนองสาธารณะหรือไม่ และนายอำเภอซึ่งเป็นผู้ดูแลที่ดินสาธารณประโยชน์ยังไม่ได้มีคำสั่งว่าที่ดินพิพาทเป็นหนองสาธารณะและดำเนินการเพิกถอนหนังสือ ส.ค.1 ของโจทก์ทั้งสองแต่อย่างใด จำเลยซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้าน เมื่อได้รับการร้องเรียนจากราษฎรซึ่งได้รับความเดือดร้อนจากการที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์หนองสาธารณะ จึงได้ร้องเรียนนายอำเภอให้ส่งเจ้าหน้าที่ออกไปตรวจสอบตามกฎหมายลักษณะปกครองท้องที่ มาตรา 122 นั้น การกระทำของจำเลยไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิหรือรบกวนการครอบครองของโจทก์แต่อย่างใด ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยชอบด้วยรูปคดีแล้ว ฎีกาโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share