แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในคดีอาญาที่ ว. ผู้เอาประกันภัยรถยนต์จากโจทก์ถูกฟ้อง ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้องโจทก์ โดยฟังว่าการที่รถของ ว. ชนกับรถของ ศ. มิใช่เป็นเพราะความประมาทของ ว. และคดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว ถือได้ว่าพนักงานอัยการได้ดำเนินคดีอาญาแทนจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นบิดามารดาของ ศ. คดีในส่วนความประมาทของ ว. ถือเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาดังกล่าวและถึงที่สุดแล้ว จำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 การที่ศาลล่างทั้งสองพิจารณาพยานหลักฐานและรับฟังข้อเท็จจริงในคดีส่วนแพ่งไปอีกทางหนึ่งอันรับฟังไปคนละทางกับข้อเท็จจริงในคดีส่วนอาญาย่อมไม่สามารถจะกระทำได้อันเป็นการไม่ชอบ เมื่อจำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมไม่ได้ฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในส่วนความประมาทของ ศ. จึงต้องรับฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า ศ. เป็นผู้ประมาทโดยขับรถยนต์เฉี่ยวชนรถยนต์คันที่ ว. ขับ อันเป็นการละเมิดต่อ ว. โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยชำระค่าเสียหายให้แก่ ว. จึงเข้ารับช่วงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองในฐานะทายาทโดยธรรมของ ศ. แต่ไม่จำต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1601 และจากจำเลยร่วมในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์ของ ศ. ได้
ส่วนประเด็นเรื่องการกำหนดค่าเสียหาย แม้ศาลล่างทั้งสองไม่ได้วินิจฉัยปัญหานี้ไว้ แต่เมื่อโจทก์ยื่นอุทธรณ์และฎีกา ได้เสียค่าขึ้นศาลมาอย่างคดีมีทุนทรัพย์ และคู่ความสืบพยานข้อเท็จจริงเพียงพอแก่การวินิจฉัยได้ เพื่อมิให้คดีล่าช้า ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหาย 1,951,624 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,903,514 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุด
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งเรียกบริษัทไทยศรีประกันภัย จำกัด เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
จำเลยร่วมให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า เหตุรถยนต์ทั้งสองคันเฉี่ยวชนกันเกิดจากการกระทำโดยประมาทของนายวีระและนายเศรษฐาไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน โจทก์จึงไม่ได้รับช่วงสิทธิเป็นการไม่ชอบหรือไม่ โดยฎีกาว่า พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องนายวีระเป็นจำเลยในคดีอาญาต่อศาลชั้นต้น และศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1178/2553 ยกฟ้องโจทก์ โดยฟังว่าการที่รถของนายวีระชนกับรถของนายเศรษฐามิใช่เป็นเพราะความประมาทของนายวีระ คดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว ศาลต้องนำข้อเท็จจริงในคดีดังกล่าวมารับฟังนั้น เห็นว่า คดีอาญาที่นายวีระถูกฟ้อง ถือได้ว่าพนักงานอัยการได้ดำเนินคดีอาญาแทนจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นบิดามารดาของ นายเศรษฐาตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1178/2553 ของศาลชั้นต้น คดีในส่วนความประมาทของนายวีระถือเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาดังกล่าวและถึงที่สุดแล้ว ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 กำหนดให้การพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าวรับฟังข้อเท็จจริงได้แล้วว่าก่อนเฉี่ยวชนกันรถยนต์ทั้งสองคันขับมาด้วยความเร็วสูง รอยห้ามล้อรถคันที่นายเศรษฐาขับปรากฏอยู่บนเส้นแบ่งการจราจรฝั่งช่องเดินรถของนายวีระอย่างชัดเจน แสดงให้เห็นว่ารถยนต์คันที่นายเศรษฐาขับแล่นลงจากสะพานเป็นฝ่ายล้ำเฉียงเข้าไปในช่องเดินรถของนายวีระ เหตุที่เกิดขึ้นจึงเกิดจากรถยนต์คันที่นายเศรษฐาขับแล่นลงจากสะพานด้วยความเร็วสูง แล้วล้ำเข้าไปในช่องเดินรถที่นายวีระขับสวนทางมาจึงชนกับรถยนต์คันที่นายวีระขับในช่องเดินรถตามปกติของนายวีระ จึงเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกะทันหันกระชั้นชิด นายวีระไม่อาจห้ามล้อลดความเร็วหรือหลีกเลี่ยงการชนได้ การที่รถยนต์คันที่นายวีระขับชนกับรถยนต์คันที่นายเศรษฐาขับจึงไม่ใช่เพราะความประมาทของนายวีระนั้น ในคดีส่วนอาญาข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นรับฟังจึงต้องยุติเพียงเท่านี้ การที่ศาลล่างทั้งสองพิจารณาพยานหลักฐานและรับฟังข้อเท็จจริงในคดีส่วนแพ่งไปอีกทางหนึ่ง โดยศาลชั้นต้นฟังว่าเป็นความประมาทของนายวีระฝ่ายเดียว ส่วนศาลอุทธรณ์ฟังว่านายเศรษฐากับนายวีระมีส่วนประมาทเลินเล่อไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันนั้น เป็นการรับฟังไปคนละทางกับข้อเท็จจริงในคดีส่วนอาญาย่อมไม่สามารถจะกระทำได้ เพราะขัดแย้งกับบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวอันเป็นการไม่ชอบ เมื่อจำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมไม่ได้ฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่วินิจฉัยว่า สาเหตุที่รถยนต์ทั้งสองคันเฉี่ยวชนกันนั้นเป็นเพราะความประมาทของนายเศรษฐา จึงต้องรับฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า นายเศรษฐาเป็นผู้ประมาทโดยขับรถยนต์เฉี่ยวชนรถยนต์คันที่นายวีระขับอันเป็นการละเมิดต่อนายวีระ ทำให้นายวีระได้รับความเสียหาย ซึ่งต่อมาโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยชำระค่าเสียหายตามกรมธรรม์ประกันภัยแก่นายวีระผู้ได้รับความเสียหายตามสัญญากรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ โจทก์จึงเข้ารับช่วงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองในฐานะทายาทโดยธรรมของนายเศรษฐา และจากจำเลยร่วมในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์คันที่นายเศรษฐาขับตามสัญญากรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ได้ การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า ค่าเสียหายมีเพียงใด แม้ศาลล่างทั้งสองยังไม่ได้วินิจฉัยปัญหานี้ไว้ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ยื่นอุทธรณ์และฎีกาได้เสียค่าขึ้นศาลมาอย่างคดีมีทุนทรัพย์และคู่ความสืบพยานข้อเท็จจริงเพียงพอแก่การวินิจฉัยได้ เพื่อมิให้คดีล่าช้า ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียว โจทก์มีนางสาวพัชริน ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เบิกความว่า โจทก์ชดใช้เงินตามสัญญากรมธรรม์ประกันภัยว่าด้วยการจ่ายสินไหมทดแทนรถยนต์เสียหายสิ้นเชิง 2,700,000 บาท ชดใช้ค่ารักษาพยาบาลแก่นายวีระ 13,514 บาท ตามใบสั่งจ่าย (สินไหมรถยนต์) ใบรับเงิน ใบแจ้งเรียกเก็บเงิน และใบเสร็จรับเงิน จำหน่ายซากรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยแก่นายมงคล ได้เงิน 810,000 บาท ตามใบแจ้งหนี้เหลือเงินค่าเสียหายที่จำเลยทั้งสองค้างชำระ 1,903,514 บาท โจทก์คิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่ชำระเงินจนถึงวันฟ้องเป็นดอกเบี้ย 48,110 บาท รวมเป็นเงิน 1,951,624 บาท จำเลยร่วมในฐานะผู้รับประกันภัยต้องชดใช้ค่าเสียหายตามกรมธรรม์ประกันภัยค้ำจุน 1,000,000 บาท ก่อน ส่วนที่เหลืออีก 951,624 บาท จำเลยทั้งสองต้องชดใช้แก่โจทก์ ส่วนจำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมมีจำเลยที่ 1 เบิกความว่า นายเศรษฐามิได้ประมาท จำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดนั้น เห็นว่า โจทก์มีพยานบุคคลนำสืบการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวกับรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยและค่ารักษาพยาบาลของนายวีระโดยมีพยานเอกสารยืนยันการจ่ายเงินมาประกอบให้เห็น ส่วนจำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมนำสืบเพียงว่า จำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดเพราะนายเศรษฐามิได้ประมาทเท่านั้น โดยหามีพยานหลักฐานใดมาประกอบสนับสนุนหรือนำสืบโต้แย้งให้เห็นเป็นอย่างอื่นไม่ พยานหลักฐานโจทก์จึงมีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานจำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมรับฟังได้ว่า โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนรถยนต์ 2,700,000 บาท ค่ารักษาพยาบาล 13,514 บาท และจำหน่ายซากรถยนต์คันดังกล่าวได้เงินมา 810,000 บาท เมื่อหักออกแล้วเหลือเป็นเงิน 1,903,514 บาท กับดอกเบี้ย 48,110 บาท รวมเป็นเงิน 1,951,624 บาท ซึ่งจำเลยทั้งสองในฐานะทายาทโดยธรรมและจำเลยร่วมในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนต้องรับผิดต่อโจทก์
พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมร่วมกันใช้เงินแก่โจทก์ โดยจำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดใช้เงินจำนวน 1,951,624 บาท จำเลยร่วมร่วมรับผิดใช้เงินจำนวน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุด แต่จำเลยทั้งสองไม่จำต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1601 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ