คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1483/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ภายหลังที่ ก. ทนายโจทก์ทั้งสองยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกา และศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตแล้ว เฉพาะโจทก์ที่ 1 ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาออกไปอีก การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตจึงเป็นการอนุญาตให้ขยายระยะเวลาฎีกาแก่โจทก์ที่ 1 เท่านั้น หารวมถึงโจทก์ที่ 2 ด้วยไม่ เพราะสิทธิในการฎีกาเป็นเรื่องเฉพาะตัวของคู่ความแต่ราย ฉะนั้นขณะที่ ม. ทนายโจทก์ทั้งสองคนใหม่ ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาจึงพ้นกำหนดที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาฎีกาให้แก่โจทก์ที่ 2 แล้ว ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายเวลาฎีกาแก่โจทก์ที่ 2 ได้ โจทก์ที่ 2 จะต้องอ้างถึงเหตุสุดวิสัยที่ทำให้โจทก์ที่ 2 ไม่สามารถยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาก่อนสิ้นระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นเคยมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาฎีกาแก่โจทก์ทั้งสองถึงวันที่ 27 มีนาคม 2558 ตามคำร้องของ ก. ทนายโจทก์ทั้งสองด้วย ทั้งนี้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 แต่ตามคำร้อง ม. ทนายโจทก์ทั้งสองคนใหม่ อ้างเพียงว่าเอกสารสำนวนคดีอยู่ที่ทนายโจทก์คนเดิมทั้งหมดซึ่งยังติดต่อไม่ได้ ต้องขอคัดถ่ายเอกสารในสำนวนใหม่ทั้งหมด ทำให้ไม่สามารถจัดทำฎีกายื่นต่อศาลชั้นต้นภายในกำหนดได้ อันเป็นการอ้างถึงพฤติการณ์พิเศษที่ทำให้ไม่สามารถยื่นฎีกาได้ภายในกำหนดเท่านั้น แม้ตามคำร้องจะอ้างว่าเหตุดังกล่าวเป็นเหตุสุดวิสัย แต่ก็หาใช่เหตุที่ทำให้โจทก์ที่ 2 ไม่สามารถยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาก่อนสิ้นเวลาที่กำหนดคือวันที่ 27 มีนาคม 2558 ไม่ เพียงแต่เป็นเหตุส่วนตัวของ ม. ทนายโจทก์ทั้งสองคนใหม่ที่เพิ่งได้รับแต่งตั้งจากโจทก์ทั้งสองในวันที่ยื่นคำร้องนั้นเอง จึงทำให้ ม. ไม่อาจดำเนินกระบวนพิจารณาใดๆ แทนโจทก์ทั้งสองก่อนที่จะได้รับแต่งตั้งให้เป็นทนายความของโจทก์ทั้งสองได้ เมื่อไม่ปรากฏเหตุสุดวิสัยที่ทำให้โจทก์ที่ 2 ไม่สามารถยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาก่อนสิ้นระยะเวลาที่กำหนดได้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาฎีกาแก่โจทก์ที่ 2 จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 23 และที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของโจทก์ที่ 2 ในเวลาต่อมาซึ่งเป็นฎีกาที่ยื่นเมื่อพ้นกำหนดยื่นฎีกาแล้ว จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นเดียวกัน และถือได้ว่าเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 247 ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 142 (5)

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 5,110,985 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 4,754,405 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ (น่าจะเป็น โจทก์ทั้งสอง)
จำเลยทั้งสี่ ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ก่อนสืบพยานโจทก์ โจทก์ทั้งสองยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 3 เนื่องจากจำเลยที่ 3 ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสอง 400,000 บาท ศาลชั้นต้นอนุญาต จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 3 ออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ร่วมกันชำระเงิน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 30 มีนาคม 2555 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 2 กับให้ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ (ที่ถูก โจทก์ที่ 2) โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท ยกฟ้องโจทก์ที่ 1 คำขออื่นให้ยก
โจทก์ที่ 2 และจำเลยที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 2 เสียด้วย ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้โจทก์ทั้งสองฟังโดยชอบแล้ว เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2558 ต่อมาวันที่ 2 มีนาคม 2558 ทนายโจทก์ทั้งสองยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาฎีกาถึงวันที่ 27 มีนาคม 2558 หลังจากนั้นโจทก์ที่ 1 ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาอีก 2 ครั้ง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาฎีกาได้ถึงวันที่ 27 พฤษภาคม 2558 ต่อมาวันที่ 26 พฤษภาคม 2558 ทนายโจทก์ทั้งสองคนใหม่ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาอีก 2 ครั้ง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาฎีกาถึงวันที่ 26 มิถุนายน 2558 ครั้นวันที่ 27 กรกฎาคม 2558 โจทก์ที่ 2 ยื่นฎีกาพร้อมกับยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาวางเงินค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาวางเงินค่าฤชาธรรมเนียมดังกล่าว จนถึงวันที่ 27 สิงหาคม 2558 เมื่อโจทก์ที่ 2 วางเงินค่าฤชาธรรมเนียมตามกำหนดแล้ว ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งรับฎีกาของโจทก์ที่ 2 เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2558 ศาลฎีกาสมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่า มีเหตุที่ศาลชั้นต้นจะขยายระยะเวลาฎีกาแก่โจทก์ที่ 2 โดยชอบหรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ทั้งสองอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา ภายหลังเกิดเหตุได้แต่งตั้งให้นายกฤตษณ เป็นทนายความของโจทก์ทั้งสองดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลเรื่อยมา ภายหลังศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ นายกฤตษณในฐานะทนายความของโจทก์ทั้งสองยังคงยื่นคำร้องลงวันที่ 2 มีนาคม 2558 ขอขยายระยะเวลาฎีกา ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาฎีกาได้ถึงวันที่ 27 มีนาคม 2558 ต่อมาวันที่ 26 มีนาคม 2558 โจทก์ที่ 1 ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอขยายระยะเวลาฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาฎีกาออกไปถึงวันที่ 27 เมษายน 2558 ซึ่งเป็นการอนุญาตให้ขยายระยะเวลาฎีกาแก่โจทก์ที่ 1 เท่านั้น ส่วนโจทก์ที่ 2 มิได้ขอขยายระยะเวลาฎีกาแต่อย่างใด หลังจากนั้นโจทก์ที่ 1 ยื่นคำขอขยายระยะเวลาฎีกาอีก ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาฎีกาออกไปถึงวันที่ 27 พฤษภาคม 2558 ครั้นวันที่ 26 พฤษภาคม 2558 โจทก์ทั้งสองจึงแต่งตั้งนายโกมล เป็นทนายความคนใหม่และนายโกมล ได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกา อ้างว่า เอกสารสำนวนคดีอยู่ที่ทนายโจทก์คนเดิมทั้งหมด ซึ่งยังติดต่อไม่ได้ จึงต้องขอคัดถ่ายเอกสารในสำนวนใหม่ทั้งหมด ทำให้ยังไม่อาจยื่นฎีกาภายในกำหนดได้ และเป็นเหตุสุดวิสัยอันมิอาจก้าวล่วงได้ ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาฎีกาได้จนถึงวันที่ 26 มิถุนายน 2558 เห็นว่า ภายหลังที่นายกฤตษณ ทนายโจทก์ทั้งสองยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกา และศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตแล้ว เฉพาะโจทก์ที่ 1 ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาออกไปอีก การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตจึงเป็นการอนุญาตให้ขยายระยะเวลาฎีกาแก่โจทก์ที่ 1 เท่านั้น หารวมถึงโจทก์ที่ 2 ด้วยไม่ เพราะสิทธิในการฎีกาเป็นเรื่องเฉพาะตัวของคู่ความแต่ละราย ฉะนั้น ขณะที่นายโกมลทนายโจทก์ทั้งสองคนใหม่ ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาจึงพ้นกำหนดที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาฎีกาให้แก่โจทก์ที่ 2 แล้ว ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาฎีกาแก่โจทก์ที่ 2 ได้ โจทก์ที่ 2 จะต้องอ้างถึงเหตุสุดวิสัยที่ทำให้โจทก์ที่ 2 ไม่สามารถยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกา ก่อนสิ้นระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นเคยมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาฎีกาแก่โจทก์ทั้งสองถึงวันที่ 27 มีนาคม 2558 ตามคำร้องของนายกฤตษณ ทนายโจทก์ทั้งสองด้วย ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 แต่ตามคำร้องนายโกมล ทนายโจทก์ทั้งสองคนใหม่ อ้างเพียงว่าเอกสารสำนวนคดีอยู่ที่ทนายโจทก์คนเดิมทั้งหมดซึ่งยังติดต่อไม่ได้ ต้องขอคัดถ่ายเอกสารในสำนวนใหม่ทั้งหมด ทำให้ไม่สามารถจัดทำฎีกายื่นต่อศาลชั้นต้นภายในกำหนดได้ อันเป็นการอ้างถึงพฤติการณ์พิเศษที่ทำให้ไม่สามารถยื่นฎีกาได้ภายในกำหนดเท่านั้น แม้ตามคำร้องจะอ้างว่าเหตุดังกล่าวเป็นเหตุสุดวิสัย แต่ก็หาใช่เหตุที่ทำให้โจทก์ที่ 2 ไม่สามารถยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาก่อนสิ้นเวลาที่กำหนดคือวันที่ 27 มีนาคม 2558 ไม่ เพียงแต่เป็นเหตุส่วนตัวของนายโกมลทนายโจทก์ทั้งสองคนใหม่ที่เพิ่งได้รับแต่งตั้งจากโจทก์ทั้งสองในวันที่ยื่นคำร้องนั้นเอง จึงทำให้นายโกมลไม่อาจดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ แทนโจทก์ทั้งสอง ก่อนที่จะได้รับแต่งตั้งให้เป็นทนายความของโจทก์ทั้งสองได้ เมื่อไม่ปรากฏเหตุสุดวิสัยที่ทำให้โจทก์ที่ 2 ไม่สามารถยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาก่อนสิ้นระยะเวลาที่กำหนดได้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาฎีกาแก่โจทก์ที่ 2 จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของโจทก์ที่ 2 ในเวลาต่อมา ซึ่งเป็นฎีกาที่ยื่นเมื่อพ้นกำหนดยื่นฎีกาแล้ว จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นเดียวกัน และถือได้ว่าเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 247 ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 142 (5)
พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาฎีกาแก่โจทก์ที่ 2 นับแต่วันที่ 26 พฤษภาคม 2558 เป็นต้นมา และยกฎีกาของโจทก์ที่ 2 คืนค่าขึ้นศาลทั้งหมดในชั้นฎีกาแก่โจทก์ที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมนอกจากนี้ให้เป็นพับ

Share