แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามข้อบังคับสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ว่าด้วยค่าเช่าบ้าน พ.ศ. 2533 ข้อ 15 ระบุว่า “ในกรณีที่ผู้ซึ่งมีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านตามข้อบังคับนี้ ได้เช่าซื้อบ้านหรือผ่อนชำระเงินกู้เพื่อชำระราคาบ้านที่ค้างชำระอยู่ในท้องที่ที่ไปประจำสำนักงานใหม่ เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยและได้อาศัยอยู่จริงในบ้านนั้น ให้ผู้นั้นมีสิทธินำหลักฐานการชำระค่าเช่าซื้อหรือค่าผ่อนชำระเงินกู้ดังกล่าวมาเบิกค่าเช่าบ้านได้ไม่เกินจำนวนเงินที่กำหนดไว้ตามบัญชีอัตราค่าเช่าบ้านท้ายข้อบังคับนี้…” ดังนั้นการที่พนักงานของจำเลยจะนำหลักฐานการชำระค่าเช่าซื้อหรือค่าผ่อนชำระเงินกู้มาเบิกค่าเช่าบ้านได้นั้นจะต้องเป็นกรณีที่ได้เช่าซื้อบ้านหรือผ่อนชำระเงินกู้เพื่อชำระราคาบ้านซึ่งอยู่ในท้องที่ที่ไปประจำสำนักงานใหม่เท่านั้น ซึ่งตามข้อบังคับสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ว่าด้วยค่าเช่าบ้าน พ.ศ.2533 ข้อ 4 ระบุว่า “ท้องที่หมายความว่า กรุงเทพมหานคร อำเภอ กิ่งอำเภอ หรือท้องที่ของอำเภอ และหรือกิ่งอำเภอที่ผู้อำนวยการประกาศกำหนดให้เป็นท้องที่เดียวกันตามข้อ 5 โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสงเคราะห์การทำสวนยาง” และข้อ 5 ระบุว่า “ให้คณะกรรมการสงเคราะห์การทำสวนยางมีอำนาจประกาศกำหนดให้อำเภอและหรือกิ่งอำเภอหลายท้องที่รวมกันเป็นท้องที่เดียวกันได้” เมื่อโจทก์ได้รับคำสั่งให้ไปปฏิบัติหน้าที่ในท้องที่อำเภอเมืองอุบลราชธานี แต่โจทก์ได้ไปเช่าซื้อบ้านหรือผ่อนชำระเงินกู้เพื่อชำระราคาบ้านในอำเภอวารินชำราบโดยไม่ปรากฏว่าคณะกรรมการสงเคราะห์การทำสวนยางได้ประกาศกำหนดให้สองอำเภอดังกล่าวเป็นท้องที่เดียวกันอำเภอวารินชำราบจึงเป็นท้องที่อื่น มิใช่เป็นท้องที่ที่ได้รับคำสั่งให้ไปปฏิบัติหน้าที่ โจทก์จึงไม่มีสิทธินำหลักฐานการชำระค่าเช่าซื้อหรือค่าผ่อนชำระเงินกู้ดังกล่าวมาเบิกค่าเช่าบ้านได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยและบังคับให้จำเลยจ่ายค่าเช่าบ้านเพื่อชำระค่าเช่าซื้อบ้านให้แก่โจทก์ตามสิทธิในอัตราเดือนละ 3,000 บาท ให้จำเลยจ่ายค่าเช่าบ้านส่วนที่ขาดไปตามสิทธิจำนวน 34,517.40 บาท ที่จำเลยระงับการจ่ายและให้เรียกเงินคืนนับแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2545 เป็นต้นไป พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวแต่ละเดือนนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การขอให้ศาลมีคำสั่งไม่รับฟ้องโจทก์
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ศาลนี้ ค่าเช่าบ้านมิใช่ค่าจ้างหรือเงินสวัสดิการเกี่ยวกับค่าจ้าง จำเลยมีสิทธิหักเงินเดือนของโจทก์เนื่องจากการขอเบิกเงินค่าเช่าบ้านของโจทก์ตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2545 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2547 เป็นเงิน 34,517.40 บาท เป็นการ
ฝ่าฝืนต่อคำสั่งให้ปฏิบัติของจำเลย ซึ่งมีคำสั่งตั้งแต่วันที่ 21 สิงหาคม 2545 ซึ่งโจทก์ทราบคำสั่งให้ปฏิบัติแล้วยังนำหลักฐานการซื้อบ้านต่างท้องที่ที่ตนประจำปฏิบัติหน้าที่อยู่มาเบิกจากจำเลยอีกจึงเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งดังกล่าว จำเลยจึงมีสิทธิหักค่าเช่าบ้านที่โจทก์ไม่มีสิทธิเบิกคืนได้โดยมิต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ก่อน คำสั่งให้หักเงินเดือนโจทก์ เป็นคำสั่งที่หักเงินส่วนที่โจทก์ไม่มีสิทธิเบิกค่าเช่าบ้านเท่านั้น ส่วนที่โจทก์มีสิทธิเบิกได้จำเลยมิได้นำมาหักด้วย อีกทั้งก่อนวันที่ 22 สิงหาคม 2545 ที่โจทก์ได้เบิกค่าเช่าบ้านเดือนละ 3,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2540 จำเลยไม่ได้เรียกคืนบางส่วนจากโจทก์และมิได้นำมาหักด้วย ดังนั้นคำสั่งของจำเลยชอบแล้ว ไม่มีเหตุที่จะให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลย โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิได้ค่าเช่าบ้านส่วนที่ขาดไปตามฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธินำหลักฐานการผ่อนชำระเงินกู้เพื่อชำระค่าบ้านที่เช่าซื้อในอำเภอวารินชำราบมาเบิกค่าเช่าบ้านหรือไม่ เห็นว่า สิทธิในการเบิกค่าเช่าบ้านของโจทก์จะมีอย่างไร ย่อมอยู่ภายใต้ข้อบังคับสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ว่าด้วยค่าเช่าบ้าน พ.ศ. 2533 โดยข้อ 7 ระบุว่า “ภายใต้ข้อบังคับข้อ 15 และข้อ 16 พนักงานผู้ใดได้รับคำสั่งให้เดินทางไปประจำสำนักงานในต่างท้องที่ มีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านที่ต้องจ่ายจริงตามที่สมควรแก่สภาพแห่งบ้าน แต่อย่างสูงไม่เกินจำนวนเงินที่กำหนดไว้ตามบัญชีอัตราค่าเช่าบ้าน” และข้อ 15 ระบุว่า “ในกรณีที่ผู้ซึ่งมีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านตามข้อบังคับนี้ ได้เช่าซื้อบ้านหรือผ่อนชำระเงินกู้เพื่อชำระราคาบ้านที่ค้างชำระอยู่ในท้องที่ที่ไปประจำสำนักงานใหม่ เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยและได้อาศัยอยู่จริงในบ้านนั้น ให้ผู้นั้นมีสิทธินำหลักฐานการชำระค่าเช่าซื้อหรือค่าผ่อนชำระเงินกู้ดังกล่าว มาเบิกค่าเช่าบ้านได้ไม่เกินจำนวนเงินที่กำหนดไว้ตามบัญชีอัตราค่าเช่าบ้านท้ายข้อบังคับนี้…” ดังนั้นการที่พนักงานของจำเลยจะนำหลักฐานการชำระค่าเช่าซื้อหรือค่าผ่อนชำระเงินกู้มาเบิกค่าเช่าบ้านได้นั้นจะต้องเป็นกรณีที่ได้เช่าซื้อบ้านหรือผ่อนชำระเงินกู้เพื่อชำระราคาบ้านซึ่งอยู่ในท้องที่ที่ไปประจำสำนักงานใหม่เท่านั้น ซึ่งตามข้อบังคับสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ว่าด้วยค่าเช่าบ้าน พ.ศ. 2533 ข้อ 4 ระบุว่า “ท้องที่ หมายความว่า กรุงเทพมหานคร อำเภอ กิ่งอำเภอ หรือท้องที่ของอำเภอ และหรือกิ่งอำเภอที่ผู้อำนวยการประกาศกำหนดให้เป็นท้องที่เดียวกันตามข้อ 5 โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการสงเคราะห์การทำสวนยาง” และข้อ 5 ระบุว่า “ให้คณะกรรมการสงเคราะห์การทำสวนยางมีอำนาจประกาศกำหนดให้อำเภอและหรือกิ่งอำเภอหลายท้องที่รวมกันเป็นท้องที่เดียวกันได้” ในเมื่อโจทก์ได้รับคำสั่งให้ไปปฏิบัติหน้าที่ในท้องที่อำเภอเมืองอุบลราชธานี แต่โจทก์ได้ไปเช่าซื้อบ้านหรือผ่อนชำระเงินกู้เพื่อชำระราคาบ้านในอำเภอวารินชำราบโดยไม่ปรากฏว่าคณะกรรมการสงเคราะห์การทำสวนยางประกาศกำหนดให้สองอำเภอดังกล่าวเป็นท้องที่เดียวกัน อำเภอวารินชำราบจึงเป็นท้องที่อื่นมิใช่เป็นท้องที่ที่ได้รับคำสั่งให้ไปปฏิบัติหน้าที่ โจทก์จึงไม่มีสิทธินำหลักฐานการชำระค่าเช่าซื้อหรือค่าผ่อนชำระเงินกู้ดังกล่าวมาเบิกค่าเช่าบ้านได้ แม้ผู้อำนวยการสำนักงานสงเคราะห์การทำสวนยางหรือผู้กระทำการแทนจะได้ตอบข้อหารือว่าการเช่าซื้อบ้านไม่ว่ากระทำในท้องที่ใดก็มีสิทธิเบิกค่าเช่าบ้านได้นั้น ก็เป็นเพียงความเห็นทางกฎหมายส่วนบุคคลที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงสภาพบังคับที่ชัดแจ้งของข้อบังคับสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ว่าด้วยค่าเช่าบ้าน พ.ศ. 2533 ได้ ส่วนการที่ผู้อำนวยการสำนักงานสงเคราะห์การทำสวนยางเป็นผู้รักษาการตามข้อบังคับฉบับนี้ก็มีอำนาจในการบริหารจัดการเกี่ยวกับข้อบังคับเพียงเท่าที่ไม่ขัดต่อกฎหมายและข้อบังคับ ไม่ได้หมายความว่าจะมีอำนาจตีความอย่างไรได้ แม้ว่าภายหลังจากที่มีการตอบข้อหารือจะมีการถือปฏิบัติให้โจทก์เบิกค่าเช่าบ้านโดยใช้หลักฐานการกู้เงินชำระราคาบ้านในอำเภอวารินชำราบได้ ก็ไม่อาจถือว่าเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ผูกพันโจทก์และจำเลย เพราะเป็นเพียงการตีความเพื่อบังคับใช้ข้อบังคับที่คลาดเคลื่อน ดังนี้ โจทก์จึงไม่มีสิทธินำหลักฐานการผ่อนชำระเงินกู้เพื่อชำระค่าบ้านที่เช่าซื้อซึ่งตั้งอยู่ในอำเภอวาริน
ชำราบอันเป็นท้องที่นอกเขตที่ตนปฏิบัติงานมาเบิกค่าเช่าบ้านได้ ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมาชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน