แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานผลิตเมทแอมเฟตามีนเพื่อจำหน่าย มิได้ขอให้ลงโทษฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เงินสดที่โจทก์อ้างว่าจำเลยได้มาจากการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จึงมิใช่เครื่องมือ เครื่องใช้หรือวัตถุอื่นซึ่งจำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิดตามมาตรา 102 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 หรือเป็นทรัพย์สินซึ่งจำเลยได้มาโดยการกระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษอันศาลมีอำนาจสั่งริบได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33(2) จึงไม่อาจริบได้ แม้จำเลยไม่ฎีกา แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5),246 และ247 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 65, 66, 67, 102 และริบของกลางที่เหลือทั้งหมด
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่ามีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองจริง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 4, 15 วรรคหนึ่ง, 65 วรรคสอง ให้ลงโทษประหารชีวิต จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุม ชั้นสอบสวนและคำเบิกความของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา กรณีมีเหตุบรรเทาโทษเห็นสมควรลดโทษให้จำเลยกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบด้วยมาตรา 52(2) ให้จำคุกจำเลย30 ปี ริบเงินสด หลอดพลาสติกและถุงพลาสติกของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลยมีกำหนด 25 ปีนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ริบของกลางคือเงินสดจำนวน2,103 บาท ที่โจทก์อ้างว่าจำเลยได้มาจากการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนและศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืนในส่วนนี้นั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานผลิตเมทแอมเฟตามีนเพื่อจำหน่าย มิได้ขอให้ลงโทษจำเลยฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เงินสดจำนวนดังกล่าวจึงมิใช่เครื่องมือเครื่องใช้ หรือวัตถุอื่นซึ่งจำเลยได้ใช้การกระทำความผิดตามโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 102 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522หรือเป็นทรัพย์สินซึ่งจำเลยได้มาโดยกระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษอันศาลมีอำนาจสั่งให้ริบได้ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 33(2) แห่งประมวลกฎหมายอาญาจึงไม่อาจริบได้ แม้จำเลยไม่ได้ฎีกา แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5), 246 และ 247 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอให้ริบเงินสดจำนวน 2,103 บาท ของกลางนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2