คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6463/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ริบรถยนต์ของกลางไปแล้วก็ชอบที่ผู้ร้องซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของแท้จริงและมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยจะต้องยื่นคำเสนอขอคืนต่อศาลภายใน1 ปี นับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36ผู้ร้องมายื่นคำร้องขอคืนรถยนต์ของกลางต่อศาลชั้นต้นภายหลังวันคำพิพากษาถึงที่สุดเกิน 1 ปี ย่อมต้องห้ามตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว แม้ผู้ร้องเป็นเจ้าของรถยนต์ของกลางและมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำผิดของจำเลย ทั้งเพิ่งทราบผลคำพิพากษาเมื่อพ้น 1 ปีก็ตาม ผู้ร้องก็ไม่มีสิทธิยื่นคำร้อง ขอให้ศาลสั่งคืนรถยนต์ของกลางได้
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 ได้บัญญัติไว้ชัดแจ้งว่าการขอคืนของกลางที่ศาลสั่งให้ริบจะต้องกระทำภายใน 1 ปี นับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุด บทกฎหมายดังกล่าวได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษามีผลใช้บังคับแล้ว จึงต้องถือว่าทุกคนรู้ บุคคลใดรวมทั้งผู้ร้องจะอ้างว่าไม่รู้กฎหมายหาได้ไม่

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43, 134, 160, 160 ทวิประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 46, 91 ฐานขับรถในขณะเมาสุราโดยประมาทอันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน จำคุก 2 เดือน ปรับ 10,000 บาท ฐานขับรถแข่งในทางโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 2 เดือนปรับ 10,000 บาท รวมจำคุก 4 เดือน ปรับ 20,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุก 2 เดือน ปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกรอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี คุมความประพฤติโดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือน ต่อครั้ง มีกำหนดเวลา1 ปี ห้ามจำเลยดื่มสุราในระหว่างคุมความประพฤติให้จำเลยทำงานบริการสังคมหรือสาธารณะประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรมีกำหนด 20 ชั่วโมง หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน ท – 6263 สงขลา ของกลาง

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของรถยนต์กระบะของกลางผู้ร้องไม่ได้รู้เห็นเป็นใจหรือยินยอมให้จำเลยนำรถยนต์กระบะของกลางไปใช้กระทำความผิด เมื่อผู้ร้องทราบเรื่องเจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยและยึดรถยนต์กระบะของกลาง ผู้ร้องได้ติดต่อขอรับรถยนต์กระบะนั้นคืน เจ้าพนักงานตำรวจมอบรถยนต์กระบะของกลางให้อยู่ในความดูแลของผู้ร้อง ส่วนเรื่องคดีความของจำเลยผู้ร้องไม่ทราบเลย จนกระทั่งวันที่ 22 กันยายน 2542 ผู้ร้องได้รับหนังสือจากสถานีตำรวจภูธรอำเภอหาดใหญ่ฉบับลงวันที่ 13 กันยายน 2542 ผู้ร้องจึงทราบว่าศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ริบรถยนต์กระบะของกลางแล้ว ขอให้มีคำสั่งคืนรถยนต์กระบะของกลางแก่ผู้ร้อง

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องขอคืนของกลางเกิน 1 ปี นับแต่คำพิพากษาถึงที่สุด ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 ให้ยกคำร้อง

ผู้ร้องอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน

ผู้ร้องฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติได้ว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องขอคืนรถยนต์ของกลางที่ศาลชั้นต้นสั่งให้ริบเมื่อเกิน 1 ปี นับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุด

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า ผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนรถยนต์ของกลางหรือไม่ ข้อนี้ที่ผู้ร้องฎีกาอ้างว่า รถยนต์ของกลางเป็นของผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลภายนอกและมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด ศาลย่อมไม่มีอำนาจสั่งให้ริบนั้น เห็นว่า คดีนี้เมื่อศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ริบรถยนต์ของกลางไปแล้ว ก็ชอบที่ผู้ร้องซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของแท้จริงและมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยจะต้องยื่นคำเสนอขอคืนต่อศาลภายใน 1 ปี นับแต่ วันคำพิพากษาถึงที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 แต่เมื่อปรากฏว่าผู้ร้องมายื่นคำร้องขอคืนรถยนต์ของกลางต่อศาลชั้นต้นภายหลังวันคำพิพากษาถึงที่สุดเกิน 1 ปี ย่อมต้องห้ามตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ดังนั้น ถึงแม้จะฟังว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของรถยนต์ของกลาง และมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำผิดของจำเลย ทั้งเพิ่งทราบผลคำพิพากษา เมื่อพ้น 1 ปี ดังที่ผู้ร้องอ้างก็ตาม ผู้ร้องก็ไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งคืนรถยนต์ของกลางได้

ที่ผู้ร้องฎีกาว่า ผู้ร้องไม่ทราบว่ามีประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 บัญญัติไว้ว่าการขอคืนของกลางที่ศาลสั่งให้ริบจะต้องกระทำภายใน 1 ปี นับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุด เนื่องจากเจ้าพนักงานหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องไม่ได้แนะนำหรือแจ้งให้ผู้ร้องทราบนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 36 ได้บัญญัติไว้ชัดแจ้งว่าการขอคืนของกลางที่ศาลสั่งให้ริบจะต้องกระทำภายใน 1 ปี นับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุด ซึ่งบทกฎหมายดังกล่าวได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษามีผลใช้บังคับแล้วจึงต้องถือว่าทุกคนรู้ บุคคลใดรวมทั้งผู้ร้องจะอ้างว่าไม่รู้กฎหมายหาได้ไม่และเจ้าพนักงานหรือหน่วยงานของรัฐก็ไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องแนะนำหรือแจ้งให้ผู้ร้องได้ทราบถึงบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวดังที่ผู้ร้องฎีกาแต่ประการใด

พิพากษายืน

Share