คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5819/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

เมื่อรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหาย สัญญาเช่าซื้อย่อมระงับไปนับแต่วันที่รถยนต์สูญหายตาม ป.พ.พ. มาตรา 567 จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องส่งมอบรถยนต์คันที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ แต่เมื่อปรากฏข้อตกลงตามสัญญาเช่าซื้อว่าในกรณีที่รถยนต์นั้นสูญหาย ผู้เช่าจะยอมชดใช้ค่ารถยนต์เป็นเงินจำนวนเท่ากับค่าเช่าซื้อส่วนที่เหลือที่ผู้เช่าจะต้องชำระทั้งหมดตามสัญญาเช่าซื้อทันที ถือว่าจำเลยที่ 1 ได้ตกลงจะชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์กรณีนี้ไว้ด้วย อันเป็นการกำหนดความรับผิดในการที่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ล่วงหน้ามีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ซึ่งหากสูงเกินส่วนศาลชอบที่จะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคแรก ส่วนค่าขาดประโยชน์นั้น เมื่อรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายไปเป็นเหตุให้สัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้ว จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์ 1 คัน ในราคา 425,809.44 บาท ตกลงผ่อนชำระรวม 48 งวด จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันการเช่าซื้อของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์อย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ 1 ผิดสัญญา โจทก์บอกเลิกสัญญา แต่จำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบรถคืน ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืนโจทก์ในสภาพใช้การได้ดี หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา 110,000 บาท และขอให้ใช้ค่าขาดประโยชน์ 20,000 บาท และค่าขาดประโยชน์เดือนละ 4,000 บาด นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืนโจทก์หรือชำระราคาแทน กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเบี้ยปรับในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงิน 130,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะครบ
จำเลยที่ 1 ให้การว่า ลายมือชื่อนางมณีรัตน์ผู้มอบอำนาจมิใช่ลายมือชื่อที่แท้จริง หนังสือมอบอำนาจเป็นเอกสารปลอม ลายมือชื่อของนายชายผู้มอบอำนาจช่วงเป็นลายมือชื่อปลอม ขณะทำสัญญาเช่าซื้อนายสุรศักดิ์ไม่ใช่กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ การที่นายสุรศักดิ์มอบอำนาจให้นายสงัดทำสัญญาเช่าซื้อแทนโจทก์จึงเป็นการมอบอำนาจโดยมิชอบ จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ดังกล่าว ซึ่งราคาเช่าซื้อเป็นการนำราคารถยนต์บวกดอกเบี้ยล่วงหน้า จำเลยที่ 1 ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์รวม 35 งวด เป็นเงิน 310,486.05 บาท ภายหลังรถสูญหายเนื่องจากถูกคนร้ายลักไป จำเลยที่ 1 ไม่เคยได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญา สัญญาเช่าซื้อจึงยังไม่ระงับ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีหน้าที่ส่งรถยนต์คืนหรือใช้ราคา ค่าขาดประโยชน์ เบี้ยปรับราคาเช่าซื้อเป็นราคารถยนต์กับดอกเบี้ยล่วงหน้า โจทก์จึงนำราคาค่าเช่าซื้อมาคิดเป็นราคารถไม่ได้ ค่าขาดประโยชน์ของโจทก์ไม่เกิน 2,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืนโจทก์ในสภาพใช้การได้ดี หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา 87,000 บาท และร่วมกันใช้ค่าขาดประโยชน์ 12,000 บาท และค่าขาดประโยชน์อีกเดือนละ 2,400 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบรถคืนหรือใช้ราคา แต่ให้คิดค่าขาดประโยชน์ไม่เกิน 24 เดือน
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 1 ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลอุทธรณ์ภาค 2 รับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาโต้แย้งในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์โต้แย้งในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์ 1 คัน ราคา 425,809.44 บาท ผ่อนชำระ 48 งวด งวดละ 8,871.03 บาท มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อ 35 งวด แล้วผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อ โดยรถยนต์ที่เช่าซื้อถูกคนร้ายลักไป ซึ่งจำเลยที่ 1 ไปแจ้งความไว้แล้วตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี โจทก์ได้บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อไปยังจำเลยที่ 1 และแจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบแล้ว คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการแรกว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 นั้นชอบหรือไม่ เห็นว่า ตามคำให้การจำเลยที่ 1 ได้ให้การไว้แล้วว่าหลังจากทำสัญญาเช่าซื้อแล้วเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2542 รถยนต์ที่เช่าซื้อได้ถูกคนร้ายลักไป จำเลยที่ 1 แจ้งให้โจทก์ทราบกับขอลดค่าเช่าซื้อที่ต้องชำระแต่ละงวดและแจ้งการหยุดใช้รถ โจทก์ตกลงทั้งจำเลยที่ 1 ไม่เคยได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาหรือให้ส่งมอบรถยนต์คืน สัญญาเช่าซื้อยังไม่เลิกกัน จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องส่งรถยนต์คืนโจทก์ หรือชดใช้ค่าขาดประโยชน์หรือค่าเสียหายแก่โจทก์ การที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า รถยนต์ที่เช่าซื้อถูกคนร้ายลักไป สัญญเช่าซื้อย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 567 โจทก์จะเรียกค่าเช่าซื้อที่เกิดขึ้นหลังจากรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายแล้วไม่ได้ จำเลยที่ 1 ไม่ต้องคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อแก่โจทก์ และไม่ต้องรับผิดค่าขาดประโยชน์ที่โจทก์อาจนำรถยนต์ที่เช่าซื้อออกให้บุคคลอื่นเช่า สาระสำคัญของอุทธรณ์จำเลยที่ 1 จึงอยู่ที่ว่ารถยนต์ที่เช่าซื้อได้สูญหายไปซึ่งจำเลยที่ 1 ได้ให้การไว้แล้ว เมื่อรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายไปแล้วผลของกฎหมายจะเป็นประการใด ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ก็ชอบที่จะวินิจฉัยให้ ดังนั้นการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 จึงไม่ชอบ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการต่อไปว่า จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดแก่โจทก์หรือไม่เพียงใด ซึ่งปัญหาดังกล่าวศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยังมิได้วินิจฉัย ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียวโดยไม่จำต้องย้อนสำนวน เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่ารถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายไป สัญญาเช่าซื้อย่อมระงับไปนับแต่วันที่รถยนต์สูญหายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 567 จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องส่งมอบรถยนต์คันที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ แต่เมื่อปรากฏข้อตกลงตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 3 ระบุว่า ในกรณีที่รถยนต์นั้นสูญหายผู้เช่าจะยอมชดใช้ค่ารถยนต์เป็นเงินจำนวนเท่ากับค่าเช่าซื้อส่วนที่เหลือที่ผู้เช่าจะต้องชำระทั้งหมดตามสัญญาเช่าซื้อทันทีถือว่าจำเลยที่ 1 ได้ตกลงจะชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์กรณีนี้ไว้ด้วย อันเป็นการกำหนดความรับผิดในการที่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ไว้ล่วงหน้า มีลักษณะเป็นเบี้ยปรับซึ่งศาลอาจพิจารณากำหนดราคารถยนต์เท่ากับค่าเช่าซื้อส่วนที่เหลืออยู่หรือหากสูงเกินส่วนศาลชอบที่จะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคแรก เมื่อพิจารณาถึงทางได้เสียของโจทก์ทุกอย่างแล้วทั้งจำเลยที่ 1 ฎีกาในทำนองว่าเห็นด้วยกับราคารถยนต์ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้ ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรกำหนดราคารถยนต์ให้เป็นจำนวน 87,000 บาท ส่วนค่าขาดประโยชน์นั้น เมื่อรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายไปเป็นเหตุให้สัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้ว จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดค่าขาดประโยชน์ต่อโจทก์ สำหรับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 87,000 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share