แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ส. เดินทางไปกับ ก. ซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจช่วงของโจทก์และร่วมกันเจรจาขอรับรถยนต์คืนตลอดจนทำบันทึกการตรวจสภาพรถมอบให้แก่ตัวแทนของจำเลยที่ 1 เป็นพฤติการณ์ที่ ส. แสดงออกเป็นตัวแทนของโจทก์ และโจทก์ก็รับเอารถยนต์คันที่เช่าซื้อคืนไปจากการยึด เห็นได้ว่าโจทก์เชิด ส. ออกแสดงเป็นตัวแทนของตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 821 แต่อำนาจหน้าที่ของ ส. ซึ่งเป็นตัวแทนเชิดมีเพียงเท่าที่ผู้รับมอบอำนาจช่วงของโจทก์มีอยู่ คือ ติดตามเอาคืน ยึดเข้าครอบครองเคลื่อนย้ายรถ แจ้งความร้องทุกข์ และกระทำการตามความจำเป็นตามกฎหมายเพื่อนำรถยนต์คันที่เช่าซื้อกลับคืนโจทก์ ส. ไม่มีอำนาจที่จะไปตกลงไม่เรียกร้องค่าเสียหายใดๆ กับจำเลยที่ 1 นอกเหนือไปจากความจำเป็นเพื่อยึดรถยนต์คันที่เช่าซื้อคืนได้ การที่ ส. ไปทำข้อตกลงในหนังสือรับรองว่าไม่เรียกร้องค่าเสียหายใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งนอกเหนืออำนาจในการเป็นตัวแทน โดยโจทก์ไม่ได้ให้สัตยาบันแก่การนั้น ข้อตกลงดังกล่าวไม่ผูกพันโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 823 วรรคแรก โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 ได้อีก
จำเลยที่ 2 ให้การว่าโจทก์ผ่อนเวลาให้จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันไม่ยินยอม จำเลยที่ 2 จึงพ้นจากความรับผิด ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น จำเลยที่ 1 ฎีกาปัญหาดังกล่าวโดยไม่ได้ให้การตั้งประเด็นไว้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ศาลฎีกาย่อมไม่รับวินิจฉัย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินตามสัญญาเช่าซื้อ สัญญาค้ำประกัน 415,395 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 180,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์ไม่อาจเรียกค่าเสียหายใดๆ จากจำเลยที่ 1 เนื่องจากโจทก์เชิดบุคคลอื่นกระทำแทนและทำหนังสือไม่เรียกร้องค่าเสียหายใดๆ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์ยอมผ่อนเวลาให้จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันไม่ยินยอม จำเลยที่ 2 จึงพ้นจากความรับผิด โจทก์เชิดบุคคลอื่นให้มารับรถยนต์จากจำเลยที่ 1 และบุคคลดังกล่าวทำหนังสือไม่เรียกร้องค่าเสียหายใดๆ จากจำเลยที่ 1 โจทก์จึงไม่มีอำนาจเรียกค่าเสียหายใดๆ จากจำเลยที่ 2 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 180,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 28 เมษายน 2543) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินเสร็จสิ้น คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “…จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าโจทก์ยอมผ่อนเวลาให้จำเลยที่ 1 ดังนั้น จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงพ้นจากความรับผิดนั้น เห็นว่า ประเด็นดังกล่าวเป็นข้อต่อสู้ตามคำให้การของจำเลยที่ 2 เท่านั้น จำเลยที่ 1 ไม่ได้ให้การตั้งประเด็นไว้ เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 มิได้นำสืบให้เห็นว่าโจทก์ตกลงผ่อนเวลาให้จำเลยที่ 1 อย่างไรที่จะเป็นเหตุให้จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิด ข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวจึงฟังไม่ขึ้น และจำเลยที่ 2 ไม่ได้อุทธรณ์ฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยเช่นกัน คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า โจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 ได้หรือไม่เพียงใด โดยจำเลยที่ 1 ฎีกาประการแรกว่า บุคคลที่โจทก์เชิดออกเป็นตัวแทนของโจทก์ในการรับรถยนต์คืนจากจำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือไม่เรียกร้องค่าเสียหายใดๆ จากจำเลยที่ 1 แล้ว ในประเด็นนี้ จำเลยที่ 1 นำสืบว่า นายสมเกียรติและนายสำราญไปยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนจากจำเลยที่ 1 โดยแสดงหลักฐานการรับมอบอำนาจจากโจทก์ และตกลงกับตัวแทนของจำเลยที่ 1 ในขณะรับมอบรถยนต์คืนว่าโจทก์จะไม่เรียกร้องค่าเสียหายใดๆ จากจำเลยที่ 1 ทั้งสิ้น เห็นว่า ในวันที่ตัวแทนโจทก์ไปยึดรถยนต์คืนจากจำเลยที่ 1 นายสำราญร่วมเดินทางไปกับนายสมเกียรติซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจช่วงของโจทก์และร่วมกันเจรจาขอรับรถยนต์คืนตลอดจนทำบันทึกการตรวจสภาพรถมอบให้แก่ตัวแทนของจำเลยที่ 1 พฤติการณ์ของนายสำราญที่แสดงออกเป็นตัวแทนของโจทก์ และโจทก์ก็รับเอารถยนต์คันที่เช่าซื้อคืนไปจากการยึดครั้งนี้เห็นได้ว่าโจทก์เชิดนายสำราญออกแสดงเป็นตัวแทนของตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 821 แต่อำนาจหน้าที่ของนายสำราญซึ่งเป็นตัวแทนเชิดมีเพียงเท่าที่ผู้รับมอบอำนาจช่วงของโจทก์มีอยู่ตามหนังสือมอบอำนาจที่แสดงต่อตัวแทนของจำเลยที่ 1 คือ ติดตามเอาคืน ยึด เข้าครอบครอง เคลื่อนย้ายรถ แจ้งความร้องทุกข์ และกระทำการตามความจำเป็นตามกฎหมายเพื่อนำรถยนต์คันที่เช่าซื้อกลับคืนโจทก์ นายสำราญไม่มีอำนาจที่จะไปตกลงไม่เรียกร้องค่าเสียหายใดๆ กับจำเลยที่ 1 นอกเหนือไปจากความจำเป็นเพื่อยึดรถยนต์คันที่เช่าซื้อคืนได้ การที่นายสำราญไปทำหนังสือรับรองว่าจะไม่เรียกร้องค่าเสียหายใดๆ ทั้งสิ้นตามหนังสือรับรองซึ่งนอกเหนืออำนาจในการเป็นตัวแทน โดยโจทก์ไม่ได้ให้สัตยาบันแก่การนั้น ข้อตกลงดังกล่าวไม่ผูกพันโจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 823 วรรคแรก โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น…”
พิพากษายืน