แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
อาคารพิพาทปลูกสร้างมานาน 15 ปีแล้ว และเป็นอาคารพาณิชย์ 4 ชั้น เดิมมี 12 ห้อง ปลูกสร้างเป็นอาคารเดียวติดต่อกันทั้งสิบสองห้อง ก่อนเกิดเหตุคดีนี้อาคารห้องแรกเคยพังลงมา เสาด้านหน้าระหว่างห้องเลขที่ 35/39 กับเลขที่ 35/40 หักทรุดลงมา และเสาด้านหน้าของอาคารพาณิชย์ทั้งสิบเอ็ดห้องแตกร้าว 5 ห้อง อาคารดังกล่าวใช้คานร่วมต่อเนื่องกัน เหล็กที่หล่อคานรับน้ำหนักต่อเนื่องกันเป็นโครงสร้างเดียวกัน หากช่วงกลางพังทรุดลงมาก็จะดึงโครงสร้างของห้องอื่นพังลงมาด้วย เมื่อปรากฏว่าอาคารดังกล่าวทั้งสิบเอ็ดห้อง รวมทั้งห้องพิพาทของโจทก์ได้ปลูกสร้างในคราวเดียวกัน วัสดุที่ใช้เป็นชนิดเดียวกัน ทั้งอาคารห้องเลขที่ 35/39 และเลขที่ 35/40 ได้ผ่านการตรวจสอบแล้ว จึงไม่จำต้องกำหนดให้นายช่างไปตรวจสอบอาคารพิพาทของโจทก์ซ้ำอีก และฟังได้ว่าอาคารพิพาทของโจทก์มีสภาพที่อาจเป็นภยันตรายต่อสุขภาพ ชีวิต ร่างกายหรือทรัพย์สินแล้ว เมื่อโจทก์ไม่ดำเนินการแก้ไขอาคารตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ซึ่งทำการแทนจำเลยที่ 1 จึงมีอำนาจออกคำสั่งให้โจทก์รื้อถอนอาคารได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาเพิกถอนคำสั่งของจำเลยทั้งสองที่ให้โจทก์ระงับการใช้อาคาร รื้อถอน หรือแก้ไขอาคารของโจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นเทศบาลเมืองนนทบุรีที่ นบ 5206/3904 ลงวันที่ 13 ตุลาคม 2537 และคำสั่งที่ นบ 5206/415 ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2538 ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 เป็นนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองนนทบุรี และเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นตาม พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ได้ออกคำสั่งที่ นบ 5206/3904 ลงวันที่ 13 ตุลาคม 2537 ให้โจทก์รื้อถอนอาคารพิพาทของโจทก์ห้องเลขที่ 35/37 หมู่ที่ 2 ถนนงามวงศ์วาน ตำบลบางเขน อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี หรือแก้ไขให้มีความปลอดภัย โดยให้วิศวกรจากสถาบันที่เชื่อถือได้เป็นผู้ดำเนินการให้เสร็จภายในกำหนด 45 วัน และห้ามมิให้ผู้ใดเข้าไปภายในอาคารของโจทก์ แต่โจทก์ไม่ได้ดำเนินการประการใดภายในกำหนดนั้น ต่อมาจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเทศมนตรีเทศบาลเมืองนนทบุรีและทำการแทนจำเลยที่ 1 ได้ออกคำสั่งที่ นบ 5206/415 ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2538 ให้โจทก์รื้อถอนอาคารของโจทก์ให้เสร็จภายในกำหนด 30 วัน โจทก์อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ในเขตเทศบาลและสุขาภิบาลในจังหวัดนนทบุรีพิจารณาแล้วมีคำสั่งยกอุทธรณ์ของโจทก์
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า อาคารพิพาทของโจทก์อยู่ในสภาพที่อาจเป็นภยันตรายต่อสุขภาพ ชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินหรือไม่ ได้ความจากพยานจำเลยทั้งสองว่า อาคารพิพาทได้ปลูกสร้างมานาน 15 ปีแล้ว และเป็นอาคารพาณิชย์ 4 ชั้น เดิมมี 12 ห้อง ปลูกสร้างเป็นอาคารเดียวติดต่อกันทั้งสิบสองห้อง ก่อนเกิดเหตุคดีนี้อาคารห้องแรกเคยพังลงมา นายช่างเทศบาลเมืองนนทบุรีพบว่าเสาด้านหน้าระหว่างห้องเลขที่ 35/39 กับเลขที่ 35/40 หักทรุดลงมา ปูนซีเมนต์ที่หล่อเสาเสื่อมสภาพ แตกร้าว เหล็กยืนในเสามีขนาดเล็กกว่ามาตรฐาน 3 มิลลิเมตร เหล็กปลอกมีระยะห่างเกิน 20 เซนติเมตร ซึ่งห่างกว่ามาตรฐาน เสาด้านหน้าของอาคารพาณิชย์ทั้งสิบเอ็ดห้อง แตกร้าว 5 ห้อง อาคารพาณิชย์ใช้คานร่วมต่อเนื่องกัน เหล็กที่หล่อคานรับน้ำหนักต่อเนื่องกัน นายสมบัติ บุญเตี้ย นายช่างวิศวกรโยธาของเทศบาลเมืองนนทบุรีเบิกความว่า อาคารพาณิชย์ทั้งสิบเอ็ดห้องเป็นโครงสร้างเดียวกัน หากช่วงกลางพังทรุดลงมาก็จะดึงโครงสร้างของห้องอื่นพังลงมาด้วย เมื่อปรากฏว่าอาคารดังกล่าวทั้งสิบเอ็ดห้อง รวมทั้งห้องพิพาทของโจทก์ได้ปลูกสร้างในคราวเดียวกัน วัสดุที่ใช้เป็นชนิดเดียวกัน ทั้งอาคารห้องเลขที่ 35/39 และเลขที่ 35/40 ได้ผ่านการตรวจสอบแล้ว จึงไม่จำต้องกำหนดให้นายช่างไปตรวจสอบอาคารพิพาทของโจทก์ซ้ำอีก ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าอาคารพิพาทของโจทก์มีสภาพที่อาจเป็นภยันตรายต่อสุขภาพ ชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินแล้ว คำสั่งของจำเลยทั้งสองจึงชอบด้วยกฎหมาย
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ.