คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1758-1759/2516

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่ดินของวัดนั้นกรรมสิทธิ์จะโอนไปได้ก็แต่โดยการออกพระราชบัญญัติเท่านั้น ที่พิพาทอยู่ในเขตพระพุทธบาทซึ่งพระเจ้าทรงธรรมได้อุทิศไว้แต่โบราณกาล โดยมีวัดพระพุทธบาทเป็นผู้ดูแล แม้จำเลยจะได้รับโฉนดสำหรับที่พิพาทมา ก็หาถือได้ว่าเป็นการได้มาโดยการออกเป็นพระราชบัญญัติไม่ จำเลยจึงไม่อาจยกเอาการได้ที่ดินมาโดยการรังวัดออกโฉนดหรือโดยการโอนชื่อทางทะเบียนใช้ยันต่อวัดได้แม้จำเลยจะได้ครอบครองที่พิพาทอย่างเป็นเจ้าของมาเป็นเวลานานเท่าใด ก็ไม่มีทางที่จะแย่งเอากรรมสิทธิ์ที่ดินซึ่งเป็นของวัดไปเป็นของตนได้ และแม้ทางวัดจะได้ปล่อยปละละเลยไว้เป็นเวลานานกว่าจะได้ใช้สิทธิติดตามว่ากล่าวเอาจากจำเลย กรรมสิทธิ์ในที่ดินของวัดก็หาระงับสิ้นสุดไม่
โจทก์อ้างเอกสาร พระราชพงศาวดารเกี่ยวกับตำนานพระพุทธบาทเป็นพยานว่า พระพุทธบาทได้ถูกค้นพบในรัชกาลพระเจ้าทรงธรรมระหว่างปี พ.ศ. 2163 – 2271 แล้ว พระเจ้าทรงธรรมทรงโสมนัสศรัทธาจึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างมหาเจดีย์สถานมีพระมณฑปสวมรอยพระพุทธบาทและพระสังฆารามที่พระภิกษุสงฆ์อยู่บริบาล และได้ทรงพระราชอุทิศที่โยชน์หนึ่งโดยรอบรอยพระพุทธบาทถวายเป็นพุทธบูชากัลปนาผลนอกจากเอกสาร โจทก์ยังนำสืบผู้ที่สูงอายุเป็นพยานประกอบหลายปากว่าต่างได้รับทราบได้ยินได้ฟังสืบต่อกันมาตรงกันว่า พระเจ้าทรงธรรมได้ทรงอุทิศที่ดินถวายโดยรอบพระพุทธบาทมีอาณาเขตถึงหนึ่งโยชน์โดยรอบ ข้อความที่เล่าสืบกันมาทางประวัติศาสตร์นี้รับฟังประกอบกับหลักฐานพระราชพงศาวดารของทางราชการได้

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้พิจารณาพิพากษารวมกัน โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่า ที่ดินโฉนดที่ ๘๕๒๘, ๘๕๒๑, ๘๕๒๒ เป็นที่ดินส่วนหนึ่งของวัดพระพุทธบาทซึ่งไม่มีโฉนดมาแต่เดิม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๙ ทางราชการได้ปรับปรุงบริเวณวัดพระพุทธบาท โดยตัดถนนไปเชื่อมกับถนนบ้านหมอ-หนองโดน และไปเชื่อมกับถนนพหลโยธินและได้ทำวงเวียนขึ้นด้วย ในการนี้ได้ตัดทับที่ดินบางส่วนของที่ดินทั้ง ๓ โฉนดนั้น จำเลยที่ ๒ ได้นำโฉนดมายืนยันเจ้าอาวาสวัดพระพุทธบาท จึงทราบว่า สำนวนคดีแรก นายจอน นางคำผู้อาศัยที่วัดได้นำที่ดินของวัดพระพุทธบาทไปขอรังวัดออกโฉนดเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ ๘๕๒๘ แล้วต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๐๗ จำเลยที่ ๑ ขอรับมรดกและในวันเดียวกันนั้นเองได้โอนขายให้แก่จำเลยที่ ๒ สำนวนหลังจำเลยที่ ๑ ได้นำโฉนดที่ดินเลขที่ ๘๕๒๑ มีชื่อนายจู นางมุดเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ซึ่งขายให้แก่นายปาน บิดาจำเลยที่ ๑ ไปขอให้ศาลจังหวัดสระบุรีสั่งแสดงกรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ แล้วโอนขายให้กับจำเลยที่ ๒ ส่วนโฉนดที่ดินเลขที่ ๘๕๒๒ จำเลยที่ ๑ รับมรดกมาจากนางวังเจ้าของกรรมสิทธิ์เดิมแล้วโอนขายให้แก่จำเลย ครั้นต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๘ จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ทั้งสองสำนวนได้รื้อรั้วของวัดพระพุทธบาทแล้วเอาสังกะสีล้อมแทน โจทก์ได้ห้ามแล้วไม่เชื่อฟัง จึงขอให้ศาลเพิกถอนทำลายโฉนดทั้ง ๓ แปลง ใส่ชื่อวัดพระพุทธบาทเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทนให้ขับไล่และให้จำเลยรื้อรั้วสังกะสีที่ทำขึ้นออกไปทำที่ให้คืนสภาพเดิม กับให้ใช้ค่าเสียหาย
จำเลยทั้งสามของทั้งสองสำนวนให้การทำนองเดียวกันว่า พระราชกฤษฎีกาพ.ศ. ๒๔๙๗ ไม่เกี่ยวกับที่ดินที่มีเจ้าของครอบครองทำประโยชน์อยู่ก่อนแล้วอำนาจหน้าที่การจัดสรรที่ดินรกร้างว่างเปล่าตามพระราชกฤษฎีกาไม่ใช่เป็นอำนาจของเจ้าอาวาสวัดพระพุทธบาท วัดพระพุทธบาทไม่เคยคัดค้านเมื่อจำเลยที่ ๑ ประกาศขอรับมรดกที่ดินโฉนดที่ ๘๕๒๘ ที่ดินพิพาทไม่เคยเป็นที่ธรณีสงฆ์ของวัดพระพุทธบาท ทั้งเจ้าอาวาสวัดพระพุทธบาทได้เคยรับรองว่าที่ดินบริเวณที่พิพาทเป็นที่ของเอกชน โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนทำลายโฉนด ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลย วัดพระพุทธบาทไม่เสียหาย
ศาลชั้นต้นฟังว่า ที่ดินโฉนดที่ ๘๕๒๑, ๘๕๒๒ และ ๘๕๒๘ เป็นของวัดพระพุทธบาท พิพากษาให้เพิกถอนโฉนดทั้งสามโฉนด ขับไล่จำเลยและให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไป ห้ามเข้าเกี่ยวข้อง
จำเลยทั้งสามของทั้งสองสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสามของทั้งสองสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยในปัญหาข้อเท็จจริงที่จำเลยฎีกาว่า หลักฐานที่โจทก์อ้างว่าที่พิพาทอยู่ในเขตของวัดพระพุทธบาทเลื่อนลอยนั้น เห็นว่า โจทก์ได้ส่งเอกสารพระราชพงศาวดารเกี่ยวกับตำนานพระพุทธบาทซึ่งได้มีกล่าวไว้ว่าพระพุทธบาทได้ถูกค้นพบในรัชกาลพระเจ้าทรงธรรมคือระหว่างปีพ.ศ. ๒๑๖๓ – ๒๒๗๑ แล้วพระเจ้าทรงธรรมทรงพระโสมนัสศรัทธาจึงโปรดเกล้าฯให้สร้างมหาเจดียสถาน มีพระมณฑปสวมรอยพระพุทธบาทและพระสังฆารามที่พระภิกษุสงฆ์อยู่บริบาล และได้สร้างพระราชนิเวศน์ที่เชิงเขาพระบาท ๑ แห่งและได้ทรงพระราชอุทิศที่โยชน์หนึ่งโดยรอบรอยพระพุทธบาทถวายเป็นพุทธบูชากัลปนาผล นอกจากได้ความตามพระราชพงศาวดารเช่นนี้แล้ว โจทก์ยังได้นำสืบผู้ที่สูงอายุเป็นพยานประกอบอีกปลายปาก ต่างเบิกความว่าต่างได้รับทราบได้ยินได้ฟังสืบต่อกันมาตรงกันว่า พระเจ้าทรงธรรมได้ทรงอุทิศที่ดินถวายโดยรอบพระพุทธบาท มีอาณาเขตถึงหนึ่งโยชน์โดยรอบ ข้อความที่เล่าสืบกันมาทางประวัติศาสตร์นี้รับฟังประกอบกับหลักฐานพระราชพงศาวดารของทางราชการได้ หาใช่เป็นการเลื่อนลอยไม่ ข้อเท็จจริงจึงน่าเชื่อว่าที่พิพาทอยู่ในเขตของพระพุทธบาทซึ่งพระเจ้าทรงธรรมได้ทรงอุทิศไว้แต่โบราณกาลโดยมีวัดพระพุทธบาทเป็นผู้ดูแลรักษา
ในปัญหาที่ว่า ที่ดินของจำเลยทั้งสามเป็นที่ดินที่ทางราชการได้ออกโฉนดให้ จำเลยที่ ๒ ได้ซื้อมาโดยมีค่าตอบแทนย่อมได้กรรมสิทธิ์นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าที่ดินของวัดนั้นกรรมสิทธิ์จะโอนไปได้ก็แต่โดยการออกเป็นพระราชบัญญัติเท่านั้น ฉะนั้น แม้จำเลยจะได้รับโฉนดสำหรับที่พิพาทมา ก็หาถือได้ว่าเป็นการได้มาโดยการออกเป็นพระราชบัญญัติไม่ จำเลยจึงไม่อาจยกเอาการได้ที่ดินมาโดยการรังวัดออกโฉนดหรือโดยการโอนชื่อทางทะเบียนใช้ยันต่อวัดได้ แม้จำเลยจะได้ครอบครองที่พิพาทอย่างเป็นเจ้าของมาเป็นเวลานานเท่าใดก็ไม่มีทางที่จะแย่งการกรรมสิทธิ์ที่ดินซึ่งเป็นของวัดไปเป็นของตนได้ และแม้ทางวัดจะได้ปล่อยปละละเลยไว้เป็นเวลานาน กว่าจะได้ใช้สิทธิติดตามว่ากล่าวเอาจากพวกจำเลยก็ตามกรรมสิทธิ์ในที่ดินของวัดก็หาได้ระงับสิ้นสุดไปโดยเหตุนั้นไม่ คดีไม่จำเป็นจะต้องวินิจฉัยถึงอำนาจตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามที่ดินบริเวณพระพุทธบาทกำหนดบริเวณเขตวัดพระพุทธบาทตามแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกา พ.ศ. ๒๔๗๙ อีก เพราะโจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาทมาก่อนพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้แล้ว
พิพากษายืน

Share