คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 612/2516

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 119 และตามพระราชบัญญัติพนักงานอัยการ พ.ศ. 2498 มาตรา 11(8) กับมาตรา 4 ย่อมเห็นได้ว่า เมื่อมีการผิดสัญญาประกันจำเลยที่ทำไว้กับศาลแล้ว พนักงานอัยการซึ่งเป็นทนายของแผ่นดินเป็นผู้มีหน้าที่ดำเนินคดี หาใช่หน้าที่ของศาลหรือเจ้าหน้าที่ของศาลไม่ และตามมาตรา 4 และมาตรา 11(8) นั้นแสดงว่าพนักงานอัยการต้องดำเนินคดีในการบังคับให้เป็นไปตามสัญญาประกัน ซึ่งหมายถึงการขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีและจัดการอื่นใดในทางอรรถคดีเพื่อเป็นผลให้ได้เงินค่าปรับตามคำสั่งศาล การนำยึดทรัพย์ผู้ผิดสัญญาประกัน ไม่ใช่หน้าที่ของศาลหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายศาล แต่เพื่อประโยชน์ในการค้นหาทรัพย์ที่นำมาเป็นหลักประกันต่อศาล ศาลย่อมเรียกผู้ประกันมาสอบถามและให้จัดการนำยึดตามที่พนักงานอัยการขอได้

ย่อยาว

คดีนี้ นายเพียร ปาลศรี และนางเกยูร ศรีสวัสดิ์ ผู้ประกันยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ปล่อยจำเลยทั้งสามชั่วคราว เพื่อหาเงินมาชำระค่าปรับ ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาต ต่อมาผู้ประกันไม่อาจนำจำเลยที่ 2 ที่ 3 ส่งศาลได้ตามกำหนด ศาลมีคำสั่งปรับผู้ประกันคนละ 3,000 บาท นายเพียรผู้ประกันคนหนึ่งชำระเงินแล้ว ส่วนนางเกยูรผู้ประกันอีกคนหนึ่งไม่ชำระ ศาลชั้นต้นแจ้งให้พนักงานอัยการดำเนินการบังคับคดีแก่นางประยูรผู้ประกัน ตามพระราชบัญญัติพนักงานอัยการ พ.ศ. 2498 พนักงานอัยการเห็นว่าทรัพย์สินของนางเกยูรผู้ประกันเป็นที่ดินอยู่ที่จังหวัดนราธิวาส คนละเขตศาลจึงยื่นคำร้องขอให้ศาลจังหวัดปัตตานีออกหมายบังคับคดีส่งให้ศาลจังหวัดนราธิวาสบังคับคดีแทน แต่ไม่ได้ให้ผู้ใดเป็นผู้นำยึด ศาลจังหวัดปัตตานีสั่งให้พนักงานอัยการแถลงให้ศาลทราบว่าจะให้ใครเป็นผู้นำยึดภายใน 3 วัน

พนักงานอัยการยื่นคำแถลงต่อศาลว่า ศาลเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจึงเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายศาลนำยึด มิฉะนั้นขอให้ศาลเรียกผู้ประกันมาสอบถามไต่สวนเกี่ยวกับทรัพย์ที่วางประกัน โดยให้นายเพียร ปาลศรี ผู้ประกันอีกคนหนึ่งเป็นผู้นำยึด

ศาลชั้นต้นสั่งว่า พนักงานอัยการโจทก์มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการบังคับให้เป็นไปตามสัญญาอยู่แล้ว เจ้าพนักงานศาลเป็นเจ้าพนักงานบังคับคดีจะนำยึดได้อย่างไร ที่จะให้นายเพียร ปาลศรีเป็นผู้นำยึดนายเพียรมิใช่เป็นผู้ขอให้ดำเนินการบังคับคดี ส่วนที่จะให้เรียกนางเกยูร ผู้ประกันมาสอบถาม กรณีก็ไม่เข้าข่ายมาตรา 277 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ให้ยกคำร้อง

พนักงานอัยการอุทธรณ์คำสั่ง

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

พนักงานอัยการฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามพระราชบัญญัติพนักงานอัยการ พ.ศ. 2498มาตรา 11 (8) บัญญัติไว้ว่า ในกรณีที่มีการผิดสัญญาประกันจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พนักงานอัยการมีอำนาจและหน้าที่ดำเนินคดีในการบังคับให้เป็นไปตามสัญญานั้น และตามมาตรา 4 ให้คำจำกัดความของคำว่า “ดำเนินคดี” ไว้ว่า หมายถึงดำเนินการไปตามอำนาจและหน้าที่ในทางอรรถคดีของพนักงานอัยการ ตามกฎหมายดังกล่าวย่อมเห็นได้ว่า เมื่อมีการผิดสัญญาประกันจำเลยเกิดขึ้น พนักงานอัยการซึ่งเป็นทนายของแผ่นดินเป็นผู้ดำเนินคดี หาใช่หน้าที่ของศาลหรือเจ้าหน้าที่ของศาลไม่ หน้าที่ในทางอรรถคดีเกี่ยวกับเรื่องนี้มีอย่างไร ปรากฏอยู่ในมาตรา 11 (8) นั้นเองว่าดำเนินคดีในการบังคับให้เป็นไปตามสัญญานั้น ซึ่งหมายถึงการขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีและจัดการอื่นใดในทาง อรรถคดีเพื่อเป็นผลให้ได้เงินค่าปรับตามคำสั่งศาล

ที่โจทก์ฎีกาว่า หากศาลไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของศาลเป็นผู้นำยึดก็ขอให้ออกหมายเรียกหรือหมายนัดให้ผู้ประกันหรือผู้รับรองหลักทรัพย์มาศาลเพื่อสอบถามถึงความมีอยู่ของทรัพย์ที่จะยึด ศาลฎีกาเห็นว่าเพื่อประโยชน์ในการค้นหาทรัพย์ที่นำมาเป็นหลักประกันต่อศาลศาลย่อมเรียกผู้ประกันมาสอบถามและให้จัดการนำยึดได้

พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นว่า ให้ศาลชั้นต้นเรียกผู้ประกันมาสอบถาม ตามคำแถลงของพนักงานอัยการ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share