คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2604/2516

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บุตรซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ ต้องอยู่ใต้อำนาจปกครองของบิดามารดาแต่อำนาจปกครองโดยแท้จริงคงอยู่ที่บิดา บิดาจึงเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองและผู้ใช้อำนาจปกครองเท่านั้นที่มีสิทธิเอาเงินของบุตรมาใช้ได้ตามสมควรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1545 มารดาหามีสิทธิไม่
บิดาเปิดบัญชีเงินฝากประจำที่ธนาคารให้บุตรผู้เยาว์ โดยมอบหมายให้มารดาเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ถอนเงินจากธนาคารมาใช้จ่ายเพื่อการศึกษาของบุตร แล้วบิดามารดาต่างได้นำเงินเข้าฝากในบัญชีดังกล่าวระคนปนกับเงินได้ของบุตร โดยมีเจตนายกเงินที่นำเข้าฝากนั้นให้แก่บุตรดังนี้ เงินในบัญชีเงินฝากจึงเป็นของบุตรทั้งสิ้น หาใช่เป็นเงินที่บิดามารดาฝากไว้เป็นของตนเอง โดยฝากไว้ในนามของบุตรทำนองลงชื่อบุตรเป็นนามแฝงไม่ แม้จะมีข้อตกลงกับธนาคารว่าผู้ใดจะเป็นผู้ลงชื่อถอนเงินจากธนาคารได้นั้น ก็เป็นเรื่องระเบียบและวิธีการตามธรรมดาของธนาคารซึ่งเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก ทั้งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1545 และ 1546 ก็บัญญัติให้อำนาจและวิธีการแก่ผู้ใช้อำนาจปกครองที่จะนำเงินของบุตรไปใช้จ่ายได้ ย่อมจำเป็นที่จะต้องระบุชื่อผู้มีอำนาจหน้าที่ในการถอนเงินของบุตรจากธนาคารไว้ด้วย มิฉะนั้นจะเกิดความยุ่งยากในกรณีที่จะต้องนำเงินมาใช้จ่ายตามอำนาจ ที่บิดามอบหมายให้มารดาเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ถอนเงินจากธนาคารมาใช้จ่ายเพื่อการศึกษาของบุตรจึงเป็นเรื่องการมอบหมายให้มารดาทำหน้าที่แทนบิดาตามธรรมดานั่นเองมารดาหามีสิทธิถอนเงินของบุตรไปใช้สอยส่วนตัวไม่
พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องคดีอุทลุมในนามของตนเองแทนเด็กตามอำนาจและหน้าที่ในกฎหมาย โดยไม่มีการแต่งตั้งทนาย ศาลไม่สั่งให้ค่าทนายความ
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 7/2516 แต่ไม่ลงมติ)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นายศุภสิทธิ มหาคุณ กับจำเลยที่ ๑ เป็นสามีภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมาย มีบุตรด้วยกัน ๓ คน เป็นผู้เยาว์ นายศุภสิทธิ ฝากเงินไว้กับธนาคารแห่งอเมริกาในนามของบุตรเพื่อนำผลประโยชน์จากเงินที่ฝากเป็นค่าใช้จ่ายในการศึกษาของบุตร และมอบให้จำเลยที่ ๑เป็นผู้ดูแลรักษาผลประโยชน์แทน กับมีสิทธิถอนเงินผลประโยชน์ดังกล่าวไปใช้จ่ายเพื่อประโยชน์ของบุตรทั้งสาม ต่อมาจำเลยที่ ๑ ฟ้องหย่าจากนายศุภสิทธิ แล้วถอนเงินฝากของบุตรทั้งสาม เป็นจำนวน ๙๓๕,๙๐๘.๘๘บาท ทั้งนี้ โดยจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ซึ่งเป็นบิดามารดาจำเลยที่ ๑ รู้เห็นและจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ได้เก็บรักษาเงิน ๓๐๐,๐๐๐ บาทไว้เพื่อประโยชน์ของจำเลยทั้งสาม ส่วนเงินที่เหลือ ๖๓๕,๙๖๐.๘๘ บาท จำเลยที่ ๑ นำไปใช้จ่ายเพื่อประโยชน์ของตนเองอย่างสุรุ่ยสุร่ายโดยไม่มีอำนาจ และไม่ได้ใช้จ่ายเพื่อผลประโยชน์ของบุตร ขอให้จำเลยทั้งสามคืนหรือใช้เงินตามความรับผิด พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า ไม่ใช่คดีอุทลุม โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะผู้เยาว์ไม่ได้ร้องขอพนักงานอัยการให้ฟ้องเงินฝากของบุตรผู้เยาว์ทั้งสามเป็นเงินที่นายศุภสิทธิและจำเลยที่ ๑ ทำมาหาได้ร่วมกัน ซึ่งเป็นสินสมรสฝากธนาคารไว้ในนามบุตรทั้งสาม จำเลยที่ ๑ มีสิทธิถอนจากธนาคารไปใช้ได้ทั้งเงินฝากและผลประโยชน์ เพราะนายศุภสิทธิมีภรรยาใหม่และไม่อุปการะเลี้ยงดูจำเลยที่ ๑ และบุตรเงินที่ถอนนำไปใช้จ่ายส่วนตัวของจำเลยที่ ๑ ตามฐานานุรูปและอุปการะเลี้ยงดูให้การศึกษาแก่บุตร จึงไม่ต้องคืนหรือใช้เงิน
จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ให้การว่า ไม่ได้ร่วมรู้เห็นกับจำเลยที่ ๑และไม่มีนิติสัมพันธ์กับเด็กทั้งสาม เงินที่จำเลยที่ ๑ ฝากไว้เป็นเงินของจำเลยที่ ๑ เอง โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า นายศุภสิทธิมีอำนาจร้องขอต่อพนักงานอัยการแทนบุตรทั้งสามได้ เงินฝากตามบัญชีเป็นของบุตรทั้งสามบางส่วน นอกนั้นเป็นเงินของนายศุภสิทธิบ้าง เงินของจำเลยที่ ๑ บ้าง จำเลยที่ ๑ ไม่มีเจตนายกเงินให้บุตรทั้งสาม โจทก์นำสืบไม่ได้ว่าจำเลยที่ ๑ ถอนเงินไปใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย และจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ รู้เห็นในเงินที่จำเลยที่ ๑ นำมาฝาก กับไม่มีข้อเท็จจริงว่าฝากเงินเพื่อประโยชน์ของจำเลยทั้งสาม พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ในปัญหาที่ว่าเงินตามที่โจทก์ฟ้องเรียกคืนจำนวน ๙๓๕,๙๐๘.๘๘ บาทซึ่งจำเลยแถลงรับว่าเป็นยอดเงินที่ถูกต้องเป็นเงินของใครนั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เงินในบัญชีชื่อเด็กทั้งสามที่พิพาทกันนี้เป็นเงินที่มาจากสินสมรสระหว่างนายศุภสิทธิกับจำเลยที่ ๑ ระคนปนอยู่กับเงินส่วนตัวของเด็กทั้งสามเองด้วยส่วนปัญหาที่ว่าเงินจำนวนที่ฝากไว้ที่ธนาคารทั้งหมดที่พิพาทกันจะฟังว่าเป็นของใครนั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าเงินส่วนของเด็กทั้งสามย่อมไม่มีปัญหาต้องฟังว่าเป็นของเด็กทั้งสาม การที่นายศุภสิทธิได้เปิดบัญชีเงินฝากให้บุตรทั้ง ๓ คนซึ่งผู้ฝากเป็นผู้ปกครอง แต่เงินที่ฝากเป็นเงินให้เด็ก จึงเชื่อได้ว่านายศุภสิทธิมีเจตนายกเงินที่นำเข้าฝากดังกล่าวให้แก่เด็กโดยแยกการเก็บรักษาไว้เป็นส่วนสัดต่างหาก โดยความรู้เห็นยินยอมจากจำเลยที่ ๑ด้วย ส่วนเงินจำนวนที่จำเลยที่ ๑ มีชื่อเป็นผู้รับและได้นำเข้าฝากในบัญชีของเด็กทั้งสาม ก็ต้องฟังว่าจำเลยที่ ๑ ได้ยกเงินก้อนนั้นให้แก่เด็กทั้งสามแล้ว เงินที่พิพาทในบัญชีธนาคารแห่งอเมริกาตามที่โจทก์ฟ้อง จึงเป็นเงินของเด็กทั้งสามทั้งสิ้น หาใช่เป็นเงินที่นายศุภสิทธิหรือจำเลยที่ ๑ ฝากไว้เป็นของตนเอง โดยฝากไว้ในนามของเด็กทำนองลงชื่อบุตรเป็นนามแฝงไม่ส่วนการที่ต้องมีข้อตกลงกับธนาคารว่า ผู้ใดจะเป็นผู้ลงชื่อถอนเงินจากธนาคารได้นั้นเป็นเรื่องระเบียบและวิธีการตามธรรมดาของธนาคารเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก อนึ่ง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๕๔๕ และ ๑๕๔๖ ก็ได้บัญญัติให้อำนาจและวิธีการแก่ผู้ใช้อำนาจปกครองที่จะนำเงินของบุตรไปใช้จ่ายได้อยู่ก็ย่อมจำเป็นอยู่เองที่จะต้องมีการระบุชื่อผู้มีอำนาจหน้าที่ในการที่จะถอนเงินของบุตรจากธนาคารไว้ด้วยมิฉะนั้นจะเกิดความยุ่งยากในกรณีที่จำเลยจะต้องถอนมาใช้จ่ายตามอำนาจส่วนที่ปรากฏว่าจำเลยที่ ๑ เป็นผู้มีอำนาจเบิกเงินจากบัญชีของเด็กได้นั้นโจทก์ก็นำสืบอยู่ว่านายศุภสิทธิได้มอบให้จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นมารดาเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่เบิกเงินมาใช้จ่ายเพื่อการศึกษาของเด็ก จึงเป็นเรื่องมอบหมายให้จำเลยที่ ๑ ทำหน้าที่แทนนายศุภสิทธิตามธรรมดานั่นเอง
ในปัญหาที่ว่า จำเลยที่ ๑ จะนำเอาเงินของเด็กไปใช้สอยได้แค่ไหนเพียงใดหรือไม่นั้น วินิจฉัยว่า แม้บุตรผู้ยังไม่บรรลุนิติภาวะจะต้องอยู่ใต้อำนาจปกครองของบิดามารดาก็ตาม แต่อำนาจปกครองโดยแท้จริงคงอยู่ที่บิดาเท่านั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๓๗ฉะนั้น บิดาจึงเป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง และผู้ใช้อำนาจปกครองเท่านั้นจึงจะมีสิทธิเอาเงินของบุตรมาใช้ได้ตามสมควร ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๔๕ จำเลยที่ ๑ ก็หาใช่บุคคลที่ยากจนจึงไม่มีสิทธิและไม่สมควรที่จะเอาเงินของบุตรไปใช้สอยส่วนตัว สำหรับเงินที่ใช้สอยในการเลี้ยงดูและให้การศึกาาแก่เด็กทั้งสามซึ่งจำเลยที่ ๑กล่าวอ้าง แต่ก็ไม่ได้นำสืบว่าใช้จ่ายไปเท่าใด จึงไม่อาจคำนวณหักให้แก่จำเลยที่ ๑ ได้
คดีในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ วินิจฉัยว่า ถ้าหากมีทรัพย์สินของเด็กทั้งสามไปตกอยู่ที่ใด เด็กในฐานะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ย่อมมีสิทธิติดตามเอาคืนมาได้จะอ้างว่าเด็กทั้งสามไม่มีนิติสัมพันธ์กับจำเลยที่ ๒และที่ ๓ ไม่ได้ แต่คดีนี้จำเลยที่ ๑ นำสืบว่าได้เอาเงิน ๓๐๐,๐๐๐ บาทคืนมาจากจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ แล้วโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานนำสืบหักล้างจึงต้องฟังว่าเงินที่โจทก์ฟ้องเรียกคืนไม่ได้อยู่ที่จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ แล้วและไม่อาจบังคับได้
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เฉพาะตัวจำเลยที่ ๑ ให้จำเลยที่ ๑ คืนหรือใช้เงินตามฟ้องพร้อมด้วยดอกเบี้ย ส่วนค่าทนายความคดีนี้พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องคดีในนามของตนเองแทนเด็กตามอำนาจหน้าที่ในกฎหมายโดยไม่ได้มีการแต่งตั้งทนาย จึงไม่สั่งให้ค่าทนายความ

Share