คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6526/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ค่าเช่าบ้านที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์เป็นประจำทุกเดือนแม้จะมีจำนวนแน่นอนและจ่ายโดยไม่มีเงื่อนไข แต่ค่าเช่าบ้านดังกล่าวจำเลยจ่ายเป็นค่าที่พักให้แก่ลูกจ้างของจำเลยที่ปฏิบัติงานอยู่ที่โรงงานมาบตาพุดซึ่งเป็นสวัสดิการที่จำเลยจัดให้แก่ลูกจ้างของจำเลยเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการทำงาน มิใช่จ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน จึงมิใช่ค่าจ้าง เมื่อค่าเช่าบ้านดังกล่าวไม่มีสภาพเป็นค่าจ้าง แม้จำเลยจะนำไปรวมกับเงินเดือนซึ่งเป็นค่าจ้างเพื่อคำนวณเป็นค่าล่วงเวลาให้แก่โจทก์ ก็ไม่ทำให้ค่าเช่าบ้านซึ่งเป็นสวัสดิการกลายเป็นค่าจ้าง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2539 จำเลยรับโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 35,800 บาท (ค่าจ้าง32,545 บาท ค่าเช่าบ้าน 3,255 บาท) ตำแหน่งหัวหน้าแผนกบุคคลธุรการกำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 27 ของเดือน ต่อมาวันที่ 20 กรกฎาคม 2543 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์มิได้กระทำความผิด เป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์ทำงานกับจำเลยติดต่อกันมาครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน คิดเป็นเงิน 214,800 บาท มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 37 วัน คิดเป็นเงิน 44,153 บาท การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ต้องขาดรายได้ประจำและโจทก์มีภาระต้องเลี้ยงดูครอบครัว โจทก์ขอคิดค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม 429,600 บาทจำเลยยังไม่จ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน 4 วัน คิดเป็นเงิน4,773 บาท จำเลยหักค่าจ้างโจทก์ในอัตราร้อยละ 5 ทุกเดือนนำเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพโดยจำเลยจะจ่ายเงินสมทบส่วนหนึ่ง เงินดังกล่าวโจทก์จะมีสิทธิได้รับเมื่อพ้นสภาพการเป็นลูกจ้างจำเลย เมื่อโจทก์ถูกเลิกจ้างโจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินดังกล่าวจำนวน 153,883.30 บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 44,153 บาท เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจำนวน 153,883.30 บาท ค่าชดเชยจำนวน 214,800 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน 4,773 บาทค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจำนวน 429,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันเลิกจ้าง (วันที่ 20 กรกฎาคม 2543) ถึงวันฟ้องคิดเป็นเงิน 618 บาท จากต้นเงิน 214,800 บาท และให้จำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 48,926 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา หย่อนสมรรถภาพ ผลการปฏิบัติงานไม่เป็นไปตามที่จำเลยมอบหมาย กระทำการข้ามผู้บังคับบัญชาและออกจากสถานที่ทำงานในระหว่างเวลาทำงานโดยมิได้รับอนุญาต ซึ่งจำเลยเคยเตือนเป็นหนังสือแล้ว จำเลยยินยอมจ่ายค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่โจทก์ตามกฎหมายโดยคำนวณจากค่าจ้างที่เป็นเงินเดือนแต่โจทก์ไม่ยอมรับอ้างว่าจะต้องนำค่าที่พักหรือค่าเช่าบ้านมารวมเป็นค่าจ้างด้วย แต่จำเลยเห็นว่าค่าที่พักหรือค่าเช่าบ้านมิใช่ค่าจ้าง แต่เป็นเงินพิเศษหรือเงินสวัสดิการช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัยให้แก่ลูกจ้างที่ปฏิบัติงานประจำที่โรงงานมาบตาพุด จำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุที่เป็นธรรม โจทก์ได้รับเงินสะสมและเงินสมทบจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพซึ่งเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากจำเลยเรียบร้อยแล้ว ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยจ่ายค่าเช่าบ้านให้โจทก์เป็นจำนวนแน่นอนไม่ได้ตรวจสอบว่ามีการเช่าบ้านจริงหรือไม่ ใช้ค่าเช่าบ้านรวมกับเงินเดือนเป็นฐานคำนวณค่าล่วงเวลา ค่าเช่าบ้านจึงเป็นเงินที่จำเลยจ่ายเป็นค่าตอบแทนการทำงานสำหรับระยะเวลาทำงานปกติอันเป็นค่าจ้าง ดังนั้น ค่าจ้างของโจทก์ซึ่งประกอบด้วยเงินเดือนและค่าเช่าบ้านจึงเป็นเงินเดือนละ 35,800 บาท โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 180 วัน ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่โจทก์ยังไม่ได้ใช้สิทธิหยุด 4 วัน สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้าง 37 วัน ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนายเอนนิโอ คาสเทลลี่ ผู้บังคับบัญชาฝ่าฝืนกฎข้อบังคับของจำเลยและปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีเหตุอันสมควรเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 214,800 บาทค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน 4,773 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ15 ต่อปี นับจากวันที่ 20 กรกฎาคม 2543 และจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 44,153 บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจำนวน 140,000บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้อง (วันที่ 27 กรกฎาคม 2543)จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์มิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมนั้น ศาลแรงงานกลางพิจารณาพยานหลักฐานโจทก์และจำเลยแล้ววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าโจทก์กระทำการดังที่จำเลยอ้างเป็นเหตุผลในการเลิกจ้างโจทก์ว่าโจทก์ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนายเอนนิโอ คาสเทลลี่ผู้บังคับบัญชา ฝ่าฝืนกฎข้อบังคับของจำเลยและปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง อุทธรณ์ของจำเลยที่แสดงเหตุผลเพื่อให้ศาลฎีการับฟังว่าโจทก์ได้กระทำการดังกล่าวแล้วจริง เป็นอุทธรณ์ที่โต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย เมื่ออุทธรณ์จำเลยข้อนี้ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์เสียแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยที่ว่าจำเลยไม่จำต้องตั้งกรรมการเพื่อสอบสวนความผิดของโจทก์ก็ดี บันทึกตามเอกสารหมาย ล.2 ถึง ล.5และ ล.7 เป็นเพียงบันทึกตักเตือนการทำงานและความเห็นของนายเอนนิโอ คาสเทลลี่โจทก์ไม่จำต้องลงชื่อยอมรับเพราะไม่ใช่หนังสือเตือนตามกฎหมายก็ดี จำเลยไม่จำต้องระบุเหตุผลของการเลิกจ้างโจทก์ในหนังสือเลิกจ้างเอกสารหมาย จ.2 เพราะมิใช่เป็นกรณีเลิกจ้างโดยจำเลยไม่จำต้องจ่ายค่าชดเชย แต่เป็นกรณีที่จำเลยเลิกจ้างโดยยอมจ่ายค่าชดเชยก็ดี การที่จำเลยเลิกจ้างเป็นเพราะโจทก์ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนายเอนนิโอคาสเทลลี่ ผู้บังคับบัญชา โจทก์หย่อนสมรรถภาพในการทำงาน เป็นการเลิกจ้างโดยมีเหตุอันสมควร มิใช่เป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมก็ดี แม้จะเป็นปัญหาข้อกฎหมายแต่ก็ไม่อาจทำให้ผลของคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางที่ว่าการเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่มีเหตุอันสมควร เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมเปลี่ยนแปลงไป จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ที่จำเลยอุทธรณ์ต่อมาว่า ค่าเช่าบ้านที่จำเลยจ่ายให้โจทก์ไม่เป็นค่าจ้างที่จะนำมาคำนวณเป็นค่าชดเชย ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าที่จำเลยจะต้องจ่ายให้แก่โจทก์ และโจทก์เป็นเจ้าหนี้ผู้ผิดนัดเพราะเหตุไม่ยอมรับชำระหนี้เงินประเภทต่าง ๆ ที่จำเลยเสนอจ่ายแก่โจทก์นั้น เห็นว่า แม้ค่าเช่าบ้านที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์เป็นประจำทุกเดือนจะมีจำนวนแน่นอนและจ่ายโดยไม่มีเงื่อนไขก็ตาม แต่ค่าเช่าบ้านดังกล่าวจำเลยจ่ายเป็นค่าที่พักให้แก่ลูกจ้างของจำเลยที่ปฏิบัติงานอยู่ที่โรงงานมาบตาพุด ซึ่งเป็นสวัสดิการอย่างหนึ่งที่จำเลยจัดให้แก่บรรดาลูกจ้างของจำเลยเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการทำงานตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเอกสารหมาย จ.6 บทที่ 9 สวัสดิการ จึงมิใช่จ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน จึงมิใช่ค่าจ้าง เมื่อค่าเช่าบ้านดังกล่าวไม่มีสภาพเป็นค่าจ้างเสียแล้ว แม้จำเลยจะนำไปรวมกับเงินเดือนซึ่งเป็นค่าจ้างเพื่อคำนวณเป็นค่าล่วงเวลาให้แก่โจทก์ก็ไม่ทำให้ค่าเช่าบ้านซึ่งเป็นสวัสดิการกลายเป็นค่าจ้างไปไม่ ดังนั้น เมื่อปรากฏตามข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางฟังมาว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยยอมจ่ายค่าชดเชย ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์จึงเป็นการขอปฏิบัติการชำระหนี้โดยชอบ แต่โจทก์ไม่ยอมรับชำระหนี้โดยอ้างว่าจำเลยมิได้นำค่าเช่าบ้านมาคำนวณรวมเป็นเงินประเภทต่าง ๆดังกล่าวข้างต้น ถือได้ว่าโจทก์เป็นเจ้าหนี้ที่ไม่รับชำระหนี้โดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้ โจทก์จึงตกเป็นเจ้าหนี้ผู้ผิดนัด ย่อมไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในเงินประเภทต่าง ๆ ดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 207 และมาตรา 221จำเลยไม่จำต้องจ่ายดอกเบี้ยในค่าชดเชย ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น

ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์อ้างว่าจำเลยได้จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ในเดือนกรกฎาคม2543 ครบถ้วนเต็มเดือนแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเพียง 30 วัน หรือ 1 งวดค่าจ้าง มิใช่ 37 วัน ดังที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นเห็นว่า จำเลยมิได้ให้การต่อสู้ไว้ จำเลยเพิ่งจะยกปัญหาข้อนี้ขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง เป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย 195,270 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 4,339 บาท และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า40,138.83 บาทแก่โจทก์ โดยจำเลยไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยสำหรับเงินประเภทดังกล่าวข้างต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share