คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 29/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

แม้การค้ำประกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่2จะเป็นการค้ำประกันเพื่อกิจการเนื่องกันไปหลายคราวไม่มีจำกัดเวลาเป็นคุณแก่เจ้าหนี้ซึ่งผู้ค้ำประกันอาจเลิกเสียเพื่อคราวอันเป็นอนาคตได้โดยบอกกล่าวความประสงค์นั้นแก่เจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา699วรรคหนึ่งก็ตามแต่ตามสัญญาค้ำประกันมีเงื่อนไขว่าผู้ค้ำประกันจะไม่บอกเลิกสัญญานี้จนกว่าจะมีบุคคลหรือทรัพย์สินมาประกันให้เป็นที่พอใจของโจทก์จำเลยที่2ทำหนังสือบอกเลิกการค้ำประกันไปยังโจทก์โดยไม่มีบุคคลหรือทรัพย์สินมาประกันให้เป็นที่พอใจของโจทก์เงื่อนไขข้อตกลงยังไม่เสร็จสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่2ทำไว้ต่อโจทก์จึงไม่ระงับสิ้นไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงิน 100,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 70,000 บาทนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 บอกเลิกสัญญาค้ำประกันไปแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้เงินจำนวน 100,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน 70,000 บาทนับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนให้บังคับเอาจากจำเลยที่ 2 จนกว่าจะครบ จำเลยที่ 2อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้มีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกิน 200,000 บาท ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาในข้อกฎหมายว่า โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดชอบหรือไม่ ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมไม่ และโจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2รับผิดตามหนังสือค้ำประกันชอบหรือไม่ ในการวินิจฉัยข้อกฎหมายดังกล่าวศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 238 ประกอบด้วยมาตรา 247 ซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของโจทก์ในตำแหน่งพนักงานขาย จำเลยที่ 2เป็นผู้ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ ตามสำเนาหนังสือค้ำประกันเอกสารหมาย จ.4 จำเลยที่ 1 ขายรถยนต์ของโจทก์ให้แก่นางสาวยุพิน วิชญาโนทัย ผู้ซื้อ 1 คัน ราคา 260,000 บาทผู้ซื้อนำรถยนต์เก่ามาขายคืนให้แก่โจทก์ โดยตีราคาเป็นเงิน163,000 บาท ตกลงให้หักกลบลบหนี้กันเหลือเงินที่ผู้ซื้อต้องชำระให้แก่โจทก์ 97,000 บาท ซึ่งผู้ซื้อชำระให้แก่โจทก์เป็นเช็ค6 ฉบับ จำนวนเงินรวม 97,000 บาท จำเลยที่ 1 ส่งมอบให้แก่โจทก์แล้ว แต่จำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบรถยนต์ที่ผู้ซื้อนำมาขายคืนให้แก่โจทก์ กลับนำไปใช้ประโยชน์ส่วนตนโดยทุจริตและแจ้งข้อความต่อโจทก์เป็นเท็จว่า ผู้ซื้อชำระค่ารถยนต์เป็นเช็ค 2 ฉบับฉบับแรกเป็นเช็คธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด สาขาสุทธิสาร ลงวันที่25 กุมภาพันธ์ 2526 ฉบับที่สองเป็นเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัดสาขาบางพลัด ลงวันที่ 20 กันยายน 2526 จำนวนเงิน 70,000 บาทเช็คฉบับแรกโจทก์เรียกเก็บเงินได้ เดือนมีนาคม 2526 โจทก์ทราบข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 กระทำทุจริตดังกล่าว จำเลยที่ 1ตกลงทำหนังสือรับสภาพหนี้ยอมใช้เงินตามเช็คฉบับที่สองจำนวนเงิน70,000 บาท ภายในวันที่ 20 เมษายน 2526 ตามสำเนาบันทึกและหนังสือรับสภาพหนี้เอกสารหมาย จ.9 และ จ.10 แต่แล้วก็ไม่ชำระและหลบหนีไป ทั้งเช็คฉบับที่สองโจทก์ก็เรียกเก็บเงินไม่ได้
ปัญหาว่า โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามหนังสือค้ำประกันชอบหรือไม่ จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 มีอำนาจบอกเลิกสัญญาค้ำประกันได้ เพราะมิฉะนั้นผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดชอบตลอดไปขัดกับเจตนาในการทำนิติกรรม เมื่อได้โจทก์ได้รับหนังสือบอกเลิกการค้ำประกันแล้ว โจทก์น่าจะดำเนินการให้จำเลยที่ 1 หาผู้ค้ำประกันใหม่จนเป็นที่พอใจ แล้วยกเลิกการค้ำประกันของจำเลยที่ 2 ได้โจทก์ไม่ดำเนินการ ถือได้ว่าหนังสือค้ำประกันถูกบอกเลิกนับแต่วันรับหนังสือบอกเลิกของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดเห็นว่า แม้การค้ำประกันในคดีนี้จะเป็นการค้ำประกันเพื่อกิจการเนื่องกันไปหลายคราวไม่มีจำกัดเวลาเป็นคุณแก่เจ้าหนี้นั้นผู้ค้ำประกันอาจเลิกเสียเพื่อคราวอันเป็นอนาคตได้ โดยบอกกล่าวความประสงค์นั้นแก่เจ้าหนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 699 วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่ตามสำเนาหนังสือค้ำประกันเอกสารหมายจ.4 ข้อ 3 มีเงื่อนไขข้อตกลงว่าผู้ค้ำประกันจะไม่บอกเลิกสัญญานี้จนกว่าจะมีบุคคลหรือทรัพย์สินมาประกันให้เป็นที่พอใจของ”บริษัท” จำเลยที่ 2 ทำหนังสือบอกเลิกการค้ำประกันไปยังโจทก์โดยไม่ปรากฏว่ามีบุคคลหรือทรัพย์สินมาประกันให้เป็นที่พอใจของโจทก์ เงื่อนไขข้อตกลงยังไม่สำเร็จ หนังสือค้ำประกันที่จำเลยที่ 2ทำไว้ต่อโจทก์จึงไม่ระงับสิ้นไป ยิ่งกว่านั้นกิจการของจำเลยที่ 1กระทำคือไม่ส่งมอบรถยนต์ที่ผู้ซื้อนำมาขายคืนให้แก่โจทก์ กลับนำไปใช้ประโยชน์ส่วนตนโดยทุจริต แล้วตกลงทำหนังสือรับสภาพหนี้ยอมใช้เงินแก่โจทก์เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2526 ตามสำเนาบันทึกและหนังสือรับสภาพหนี้เอกสารหมาย จ.9 และ จ.10 เกิดขึ้นก่อนวันที่ 5 พฤษภาคม 2526 ที่จำเลยที่ 2 ทำหนังสือบอกเลิกสัญญาค้ำประกันไปยังโจทก์ ตามสำเนาหนังสือบอกเลิกการค้ำประกันเอกสารหมาย ล.1 โจทก์จึงชอบที่จะฟ้องให้จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันรับผิดในกิจการที่จำเลยที่ 1 กระทำลงก่อนหนังสือบอกเลิกไปถึงโจทก์ได้”
พิพากษายืน

Share