คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1064/2493

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หนังสือระบุว่าเป็นพินัยกรรมและมีพยานกับผู้เขียนอย่างแบบพินัยกรรม แต่เมื่ออ่านข้อความตลอดแล้ว เห็นได้ว่าผู้ยกทรัพย์ให้ไม่ได้แสดงเจตนาจะยกทรัพย์ให้เมื่อตาย แต่กลับยกให้ทันทีตั้งแต่วันทำหนังสือนั้น จึงไม่ใช่เป็นพินัยกรรม แต่เป็นลักษณะสัญญาให้
ทำหนังสือยกที่นามือเปล่าให้กันเอง ผู้รับได้เข้ายึดถือครอบครองนานั้นด้วยเจตนาเป็นเจ้าของมาแล้ว 1 ปีย่อมได้สิทธิครอบครองตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1367,1369 แล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อ พ.ศ. 2473 โจทก์กับนายเกตุสามีได้ทำหนังสือพินัยกรรมยกที่นาพิพาทให้จำเลยซึ่งเป็นบุตร 1 ส่วน ราคา 2,000 บาท ต่อมานายเกตุตาย โจทก์ได้ปกครองทำกินเสมอมา จำเลยหาได้ปกครองไม่ บัดนี้โจทก์ไม่พอใจให้นาพิพาทแก่จำเลย ได้ทำหนังสือเพิกถอนพินัยกรรมแล้ว จำเลยบังอาจบุกรุกเข้ามาไถหว่านกล้าในนาที่พิพาทจึงให้ขับไล่

จำเลยต่อสู้ว่า นายเกตุบิดาได้ทำหนังสือยกที่นานี้แก่จำเลย จำเลยได้ถือสิทธิครอบครองมาตั้งแต่ พ.ศ. 2473 ตลอดมาจน พ.ศ. 2484 โจทก์จึงขออาศัยทำนานี้ต่อจำเลย ภายหลังจำเลยไม่มีนาทำ จึงเข้าทำนานี้เอง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง โดยมีผู้พิพากษาผู้นั่งพิจารณาในศาลชั้นต้นนั้นรับรองให้ฎีกาข้อเท็จจริง

หนังสือที่โต้เถียงกันว่า เป็นพินัยกรรมหรือหนังสือยกให้นั้นมีข้อความ ดังนี้

“เขียนที่เรือนนายเกษบ้านผักกาดญ่า

วันเสาร์ แรม 12 ค่ำ เดือน 10 วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2473 ข้าพเจ้านายเกษ พลคะชา นางบุญ ตั้งบ้านเรือนอยู่หมู่ที่ 18 ตำบลกลาง อำเภอเสลภูมิ ได้ทำหนังสือพินัยกรรม ยกที่นาท่าศาลาให้นายพิมพ์บุตร นางมีบุตรสะใภ้แบ่งเป็น 3 ส่วนให้นายพิมพ์ นางมีผัวเมีย 1 ส่วน เป็นกรรมสิทธิ์ตั้งแต่วันทำหนังสือนี้เป็นต้นไป

อีกต่อเมื่อนายพิมพ์นางมีบุตรสะใภ้อยู่กินเลี้ยงต่อไปจนกว่านางจันทร์ผู้น้องได้สามีแล้ว ผู้เป็นบิดามารดายอมยกนาทุ่งศาลานี้แบ่งครึ่งให้นายพิมพ์บุตร นางมีบุตรสะใภ้ แต่เมื่อวันนางจันทร์ได้สามีแต่วันนั้นเป็นต้นไป ได้ลงชื่อแตะโป้งให้ไว้เป็นสำคัญส่วนสินสมส่างยอมยกให้ตามผู้ใหญ่น้อย

ลงชื่อ ลายพิมพ์มือ นายเกษ พลคะชา บิดา

ลงชื่อ ลายพิมพ์มือ นางบุญ พลคะชา มารดา

ลงชื่อ ชาเนตร ผู้ใหญ่บ้าน พยาน

ลงชื่อ สุรินทร์ พยาน ฯลฯ

ลงชื่อ นายสิทธิ ผู้เขียน

หนังสือนี้ แม้จะระบุว่าเป็นพินัยกรรม และมีพยานกับผู้เขียนอย่างแบบพินัยกรรม ก็ดี แต่เมื่อได้อ่านข้อความตลอดทั้งฉบับแล้วศาลฎีกาเห็นว่า หาใช่เป็นพินัยกรรมไม่ เพราะผู้ยกทรัพย์ให้ไม่ได้แสดงเจตนาจะยกทรัพย์ให้เมื่อตาย แต่กลับยกให้ทันทีตั้งแต่วันทำหนังสือนั้น เป็นลักษณะสัญญาให้ทั้งยังกำหนดเงื่อนไขต่อไปว่าเมื่อนางจันทร์ผู้น้องได้สามี ผู้ยกให้ยกนานั้นให้ครึ่งหนึ่งดังนี้ จึงไม่ใช่พินัยกรรม ดังฎีกาที่ 636/2492

ส่วนข้อเท็จจริง คงฟังได้ว่า จำเลยได้ครอบครองมาในชั้นแรกจริง จึงเห็นว่า แม้ว่าการที่บิดามารดาจำเลยทำหนังสือยกที่นาพิพาทให้จำเลย 1 ใน 3 จะไม่สมบูรณ์ตามกฎหมายก็ดี แต่จำเลยก็ได้เข้ายึดถือครอบครองนานี้ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของมาแล้วหนึ่งปี จำเลยจึงได้สิทธิครอบครองตามมาตรา 1367 1369 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพราะนาพิพาทเป็นที่นามือเปล่าแม้ต่อมาภายหลังจำเลยมิได้ครอบครอง บิดามารดาครอบครองต่อมาก็ครอบครองในฐานะแทนจำเลย จำเลยยังไม่ได้สละสิทธิครอบครอง จึงยังคงมีสิทธิครอบครองอยู่โจทก์จะฟ้องขับไล่จำเลยไม่ได้

พิพากษายืน

Share