คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1742/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นรูปตัวการ์ตูนทรงกระบอกรูปขวดมีหมวก ตา ปาก มือ เท้าและลำตัว ซึ่งดัดแปลงมาจากขวดของน้ำมันพืชกุ๊ก ส่วนเครื่องหมายค้าของจำเลยเป็นรูปตุ๊กตาประดิษฐ์มีหมวก ตา ปาก มือ เท้าและลำตัวมือขวาถือตะหลิวหงายขึ้น ทรงลำตัวเป็นรูปทรงกระบอก โดยจำเลยลอกเลียนเอาจุดเด่นของรูปตัวการ์ตูนที่ประดิษฐ์ขึ้นของโจทก์ไปดัดแปลงบางส่วน เมื่อพิจารณารวมทั้งเครื่องหมายจะเห็นความเหมือนหรือคล้ายกันของเครื่องหมายทั้งสองอย่างเห็นได้ชัด ถือได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนแล้ว
โจทก์บรรยายฟ้องว่า การที่จำเลยนำเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไปใช้ ทำให้สาธารณชนเสื่อมความเชื่อถือในสินค้าของโจทก์ แม้โจทก์จะมิได้นำสืบให้เห็นว่าได้รับความเสียหาย ศาลย่อมวินิจฉัยค่าเสียหายให้ตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ผลิตน้ำมันพืชออกจำหน่าย ชื่อ “น้ำมันพืชกุ๊ก”โดยโจทก์คิดประดิษฐ์รูปการ์ตูนคนทำอาหารลำตัวคล้ายขวดบรรจุน้ำมันพืชกุ๊กมีเท้าและใส่หมวก ลำตัวมีคำว่า กุ๊ก ทั้งภาษาไทยและภาษาโรมัน ใช้ควบคู่กับสินค้าน้ำมันพืชของโจทก์ ต่อมาโจทก์นำเครื่องหมายการค้าตัวการ์ตูนกุ๊กไปยื่นจดทะเบียนต่อกรมทะเบียนการค้าตามรูปแบบคำขอเลขที่ ๑๐๘๙๒๒ และโจทก์ได้ยื่นคำคัดค้านการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลย ซึ่งยื่นคำขอจดทะเบียนไว้ก่อนแล้วตามคำขอที่ ๑๐๔๑๔๑ อันเป็นตัวการ์ตูนมีลักษณะเกือบเหมือนกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์โดยจำเลยคัดลอกในส่วนที่เป็นสาระสำคัญและดัดแปลงบางส่วนเพื่อนำไปใช้ลวงประชาชนให้หลงผิดในแหล่งกำเนิดของสินค้า โจทก์ขอให้จำเลยถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยเสีย แต่จำเลยไม่ยอม การกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดและโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ๓๐๐,๐๐๐ บาท ขอให้พิพากษาว่า โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ ๑๐๘๙๒๒ ดีกว่าจำเลย ให้จำเลยถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ ๑๐๔๑๔๑ เสียหากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย และห้ามจำเลยขัดขวางการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์และให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย ๓๐,๐๐๐ บาท
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าเลขที่ ๑๐๔๑๔๑ ดีกว่าโจทก์ จำเลยผลิตขนมคุกกี้และใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวมาก่อนโจทก์ และนำไปยื่นขอจดทะเบียนก่อนโจทก์ เครื่องหมายการค้าของจำเลยกับของโจทก์มีความแตกต่างกันมาก ไม่ทำให้สาธารณชนเข้าใจผิด ขอให้ศาลยกฟ้องและพิพากษาว่าจำเลยมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าซึ่งปรากฏตามรูปแบบตามคำขอเลขที่ ๑๐๔๑๔๑ ดีกว่าโจทก์ ขอให้โจทก์ถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ ๑๐๘๙๒๒ เสีย หากโจทก์ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแสดงเจตนาของโจทก์ และห้ามโจทก์ขัดขวาง การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอของจำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์แล้วรีบไปขอจดทะเบียนตัดหน้าโจทก์ไว้ เป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าซึ่งปรากฏตามรูปแบบตามคำขอเลขที่ ๑๐๘๙๒๒ ดีกว่าจำเลย ให้จำเลยถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ ๑๐๔๑๔๑ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย และห้ามจำเลยขัดขวางการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ ๑๐๘๙๒๒ ของโจทก์ ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท และให้ยกฟ้องแย้ง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ให้ยกฟ้องโจทก์ด้วย
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยโดยฟังข้อเท็จจริงว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นรูปตัวการ์ตูนทรงกระบอกรูปขวด มีหมวก ตา ปาก มือ เท้า และลำตัวซึ่งดัดแปลงมาจากขวดของน้ำมันพืชกุ๊ก ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยนั้นเป็นรูปตุ๊กตาประดิษฐ์ มีหมวก ตา ปาก มือ เท้า และลำตัว มือขวาถือตะหลิวหงายขึ้น ทรงลำตัวเป็นรูปทรงกระบอก ซึ่งนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้ความเห็นว่า หลักการพิจารณาความคล้ายคลึงกันของรูปเครื่องหมายการค้านั้น พิจารณาได้จากภาพทั้งภาพ ตัวหนังสือคำว่ากุ๊กของโจทก์และลายตุ๊กตาในเครื่องหมายการค้าของจำเลยไม่มีความหมายในการวินิจฉัยว่าเหมือนหรือเกือบเหมือน สีหรือขนาดของรูปภาพก็ไม่สำคัญ ความเหมือนหรือคล้ายกันต้องพิจารณาจากภาพพร้อมกัน และความคล้ายกันนี้อาจทำให้ประชาชนหรือสาธารณชนหลงผิดได้ ประกอบกับโจทก์มีหลักฐานแสดงได้ว่าได้เริ่มใช้เครื่องหมายการค้านี้มาตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๕๒๑โดยโฆษณาทั้งทางโทรทัศน์ วิทยุกระจายเสียง หนังสือพิมพ์ ใบปลิว และติดโปสเตอร์ตามสถานที่ต่าง ๆ ที่จำเลยอ้างว่าได้คิดประดิษฐ์เครื่องหมายการค้าโดยทำเป็นรูปตุ๊กตาประดิษฐ์ขึ้นมาเองนั้นเป็นคำกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่มีพยานหลักฐานสนับสนุน ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยลอกเลียนเอาจุดเด่นของรูปตัวการ์ตูนที่ประดิษฐ์ขึ้นของโจทก์ไปดัดแปลงบางส่วน เมื่อพิจารณารวม ๆ ทั้งเครื่องหมายจะเห็นความเหมือนหรือคล้ายกันของเครื่องหมายทั้งสองอย่างเห็นได้ชัด ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยลักษณะเครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยไม่เหมือนหรือเกือบเหมือนกันจนนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
ส่วนที่โจทก์ฎีกาขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์จำนวน ๑๐๐,๐๐๐บาท ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นั้น ได้พิเคราะห์แล้ว เห็นว่าค่าเสียหายดังกล่าว โจทก์บรรยายมาในคำฟ้องว่า การที่จำเลยนำเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไปใช้ ทำให้สาธารณชนเสื่อมความเชื่อถือในสินค้าของโจทก์ แม้โจทก์จะมิได้นำสืบให้เห็นว่า โจทก์ได้รับความเสียหายอย่างไร เพียงใด ศาลย่อมวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๔๓๘ ศาลฎีกาพิเคราะห์พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งการกระทำละเมิดของจำเลยแล้ว เห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์ ๓,๐๐๐ บาท
พิพากษาแก้ ให้โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้า ซึ่งปรากฏตามรูปแบบตามคำขอเลขที่ ๑๐๘๙๒๒ ดีกว่าจำเลย ให้จำเลยถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ ๑๐๔๑๔๑ จากกองสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าเสีย หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการเจตนาของจำเลย และห้ามจำเลยขัดขวางการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ ๑๐๘๙๒๒ของโจทก์ ไม่ว่ากรณีใด ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ ๓,๐๐๐ บาท

Share