แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สัญญาบัญชีเดินสะพัดนั้น เมื่อลูกหนี้ถูกฟ้องล้มละลายในระหว่างที่สัญญามีผลใช้บังคับอยู่ ย่อมถือได้ว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดเป็นอันต้องยกเลิกกันไปโดยปริยายนับตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาด เจ้าหนี้จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นเอากับลูกหนี้ได้จนถึงวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาดเท่านั้น
การที่ลูกหนี้เป็นหนี้เจ้าหนี้อยู่เป็นจำนวนมากและไม่ได้ติดต่อกับธนาคารเจ้าหนี้ทางบัญชีมาประมาณ 2 ปีทั้งไม่เคยชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้จนกระทั่งวันที่มาทำสัญญากู้ ซึ่งลักษณะการติดต่อทางบัญชีเช่นนี้ ผู้ประกอบธุรกิจเยี่ยงธนาคารย่อมรู้อยู่แก่ใจดีว่าลูกหนี้ขณะนั้นมีสภาพเช่นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวไม่อาจชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ได้เป็นเวลาถึง 2 ปีเมื่อลูกหนี้มาขอกู้เงินจากธนาคารเพิ่มอีก ธนาคารเจ้าหนี้ยังให้กู้ไป เช่นนี้ ถือได้ว่าธนาคารเจ้าหนี้รู้ถึงความเป็นหนี้สินล้นพ้นตัวของลูกหนี้ในขณะที่ยินยอมให้ลูกหนี้ก่อหนี้ตามสัญญากู้ขึ้นอีก หนี้ดังกล่าวจึงต้องห้ามมิให้นำมาขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483มาตรา 94(2)
ย่อยาว
คดีนี้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ (จำเลย) เด็ดขาดเมื่อวันที่๓๐ กรกฎาคม ๒๕๒๓ ธนาคารมหานคร จำกัด เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี ๒ รายการ และหนี้ตามสัญญากู้เงินอีก ๑ รายการ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๖,๘๕๒,๗๒๕.๘๒ บาท
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ให้บรรดาเจ้าหนี้ตรวจคำขอรับชำระหนี้แล้ว เจ้าหนี้รายที่ ๔ โต้แย้งว่า เป็นหนี้ที่เกิดขึ้นโดยสมยอมกัน และเจ้าหนี้ทราบถึงฐานะหนี้สินล้นพ้นตัวของลูกหนี้ ส่วนลูกหนี้หลบหนี
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วเสนอความเห็นต่อศาลชั้นต้นว่าเห็นควรให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเป็นจำนวนเงิน ๕,๐๑๗,๖๒๗.๔๒ บาท ส่วนหนี้ตามสัญญากู้น่าเชื่อว่าเจ้าหนี้รู้ถึงความเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวของลูกหนี้ในขณะที่ยินยอมให้ลูกหนี้ก่อหนี้ จึงเห็นควรให้ยก
ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
เจ้าหนี้อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
เจ้าหนี้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเป็นข้อตกลงของคู่สัญญาที่จะให้มีสัญญาบัญชีเดินสะพัด เมื่อมีการปฏิบัติตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดกันแล้ว การเรียกร้องให้ชำระหนี้ย่อมจะต้องปฏิบัติตามวิธีการของสัญญาบัญชีเดินสะพัด คือให้กระทำได้เมื่อมีการหักทอนบัญชีและเรียกร้องให้ชำระเงินคงเหลือแล้ว ดังนั้นเมื่อครบกำหนดระยะเวลาที่ระบุไว้ยังไม่มีฝ่ายใดบอกเลิกสัญญา คู่สัญญายังให้บัญชีเดินสะพัดเดินอยู่ต่อไป ก็ต้องถือว่าคู่สัญญายังไม่ถือว่ามีการผิดนัด สำหรับกรณีคดีนี้ เจ้าหนี้(ธนาคาร) ยังไม่เคยบอกเลิกสัญญาหรือมีหนังสือทวงถามให้ลูกหนี้ชำระหนี้เมื่อสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีครบกำหนดอายุสัญญา หลังจากนั้นไม่มีการต่ออายุสัญญากันอีก และไม่มีฝ่ายใดบอกเลิกสัญญา ต่อมาลูกหนี้ได้นำเงินเข้าบัญชีเพื่อหักหนี้ เช่นนี้ ย่อมเป็นการแสดงเจตนาว่าลูกหนี้ประสงค์ที่จะเดินบัญชีเดินสะพัดกับเจ้าหนี้ต่อไปอีก แต่เนื่องจากลูกหนี้ถูกโจทก์ฟ้องล้มละลายเสียก่อนเจ้าหนี้จึงมีความจำเป็นต้องมายื่นคำขอรับชำระหนี้ ถือได้ว่านับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาด สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเป็นอันต้องยกเลิกกันโดยปริยายเจ้าหนี้จึงมีสิทธิที่จะคิดดอกเบี้ยทบต้นเอากับลูกหนี้ได้จนถึงวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเท่านั้น
การที่ลูกหนี้เป็นหนี้เจ้าหนี้อยู่เป็นจำนวนมากและไม่ได้ติดต่อกับธนาคารเจ้าหนี้ทางบัญชีมาประมาณ ๒ ปี ทั้งไม่เคยชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้จนกระทั่งวันที่มาทำสัญญากู้ซึ่งลักษณะการติดต่อทางบัญชีเช่นนี้ ผู้ประกอบธุรกิจเยี่ยงธนาคารย่อมรู้อยู่แก่ใจดีว่าลูกหนี้ขณะนั้นมีสภาพเช่นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวไม่อาจชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ได้เป็นเวลาถึง๒ ปี ฉะนั้น เมื่อลูกหนี้มาขอกู้เงินจากธนาคารเพิ่มอีก จึงไม่เป็นการสมควรที่จะให้ลูกหนี้กู้ยืมเงินไปอีก แม้ลูกหนี้จะนำเงินมาชำระให้เท่าจำนวนที่ขอกู้ยืมก็ตาม พฤติการณ์ดังกล่าวมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า ธนาคารเจ้าหนี้รู้ถึงความเป็นหนี้สินล้นพ้นตัวของลูกหนี้ในขณะที่ยินยอมให้ลูกหนี้ก่อหนี้ตามสัญญากู้รายนี้ขึ้น ธนาคารเจ้าหนี้จะปฏิเสธว่าไม่รู้หาได้ไม่หนี้ส่วนนี้จึงต้องห้ามมิให้นำมาขอรับชำระหนี้ตาม มาตรา ๙๔(๒) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เจ้าหนี้มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีได้จนถึงวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์