คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1899/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ศาลล่างทั้งสองฟังข้อเท็จจริงว่า ส. ไม่ใช่ลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยนั้น ก็โดยใช้ดุลพินิจวินิจฉัยจากพยานหลักฐานที่คู่ความนำมาสืบ แล้วฟังข้อเท็จจริงไปตามนั้น เหตุที่นำคำเบิกความของร้อยตำรวจโทก.และนายช.พยานโจทก์ทั้งสองมาเป็นข้อวินิจฉัยโดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 104. กรณีเช่นนี้จึงมิใช่วินิจฉัยตรงข้ามกับพยานหลักฐานในสำนวนอันเป็นปัญหาข้อกฎหมายดังที่โจทก์ฎีกาแต่ประการใดฉะนั้นข้อที่โจทก์ฎีกาว่า ส. เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนที่ปฏิบัติงานไปในทางการที่จ้างหรือตามคำสั่งของจำเลย จึงเป็นการโต้เถียงในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้รับประกันวินาศภัยรถยนต์ 10 ล้อ หมายเลขทะเบียนส.พ. 07753 จากนายประพันธ์ วิบูลชาติ ในแบบชดใช้ค่าเสียหายสิ้นเชิง ขณะเกิดเหตุคดีนี้อยู่ในอายุประกันภัย จำเลยเป็นเจ้าของและผู้ปกครองรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน ช.ม. 20869 และเป็นนายจ้างหรือตัวการของนายสมนึกผู้ขับขี่รถยนต์กระบะคันดังกล่าวไปในทางที่จ้างหรือกิจการของจำเลยในขณะเกิดเหตุเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2522 นายสมนึก ได้ขับรถยนต์กระบะคันดังกล่าวด้วยความประมาทชนท่อซีเมนต์ที่วางอยู่บนถนนในช่องทางเดินรถของนายสมนึก ทำให้รถเสียหลักแฉลบเข้ามาในช่องทางเดินรถและชนรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ส.พ. 07753ได้รับความเสียหายเป็นเงิน 41,175 บาท โจทก์มีหน้าที่รับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวที่เกิดขึ้นแก่รถยนต์ ส.พ. 07753 และโจทก์ได้ชดใช้เงินค่าเสียหายดังกล่าวแก่เจ้าของรถไปแล้ว โจทก์จึงรับช่วงสิทธิมาฟ้องคดีนี้ จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างหรือตัวการของนายสมนึกจึงต้องรับผิดชดใช้เงินแก่โจทก์ ทวงถามแล้วจำเลยเพิกเฉยขอให้ศาลพิพากษาบังคับ

จำเลยให้การว่ามิได้เป็นนายจ้างหรือตัวการของนายสมนึกจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยกับนายประพันธ์จะเป็นเจ้าหนี้ได้เฉพาะตัวสวมสิทธิหรือช่วงสิทธิจากนายประพันธ์ แต่คดีนี้นายประพันธ์และจำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันว่าจะไม่เรียกร้องค่าเสียหายในทางแพ่งต่อไปอีก สิทธิของนายประพันธ์ที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจึงระงับไป โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องจำเลย เหตุที่เกิดขึ้นจากความประมาทของคนขับรถหมายเลขทะเบียนส.พ. 07753 ความเสียหายสูงเกินไป ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นฟังว่าจำเลยไม่ได้เป็นนายจ้างหรือตัวการของนายสมนึกพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า การวินิจฉัยข้อเท็จจริงของศาลล่างทั้งสองเป็นการวินิจฉัยตรงกันข้ามกับพยานหลักฐานที่โจทก์ได้นำเข้ามาแสดงและนำสืบ

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่ศาลล่างทั้งสองฟังข้อเท็จจริงว่า นายสมนึกมิใช่ตัวแทนหรือลูกจ้างของจำเลยนั้น ก็โดยใช้ดุจพินิจฉัยจากพยานหลักฐานที่คู่ความนำมาสืบแล้วฟังข้อเท็จจริงไปตามนั้น เหตุที่นำคำเบิกความของร้อยตำรวจโทกมลและนายชวลิตพยานโจทก์ทั้งสองมาเป็นข้อวินิจฉัยโดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 104ซึ่งบัญญัติว่า “ให้ศาลมีอำนาจเต็มที่ในอันที่จะวินิจฉัยว่าพยานหลักฐานที่คูความนำมาสืบนั้นจะเกี่ยวกับประเด็นและเป็นอันเพียงพอให้เชื่อฟังเป็นยุติได้หรือไม่ แล้วพิพากษาคดีไปตามนั้น” กรณีเช่นนี้จึงมิใช่วินิจฉัยตรงข้ามกับพยานหลักฐานในสำนวนอันเป็นปัญหาข้อกฎหมายดังที่โจทก์ฎีกาแต่ประการใด ฉะนั้น ข้อที่โจทก์ฎีกาว่านายสมนึกเป็นลูกจ้างหรือตัวแทน ที่ปฏิบัติงานไปในทางการที่จ้างหรือตามคำสั่งของจำเลย จึงเป็นการโต้เถียงในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

พิพากษายืน

Share