คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2321/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ฟ้องของโจทก์อ้างว่า ผู้ตายเป็นลูกจ้างได้ประสบอันตรายถึงแก่ความตายและเรียกเงินทดแทนแยกเป็นค่าทดแทนและค่าทำศพ เท่ากับโจทก์อ้างสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทนตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานแล้ว ส่วนจำนวนที่เรียกร้องจะถูกต้องหรือไม่เป็นเรื่องที่ศาลจะวินิจฉัยต่อไป ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
โรคหรือการเจ็บป่วยที่ทำให้ลูกจ้างถึงแก่ความตายอันเป็น ผลให้นายจ้างต้องจ่ายค่าทดแทน จะต้องเป็นโรคหรือการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นสืบเนื่องจากการทำงานของลูกจ้างโดยตรงดังนี้ เมื่อผู้ตายเดินตรวจสต๊อกในโชว์รูมแล้วลื่นล้มศีรษะฟาดพื้นถึงแก่ความตายโดยมีบาดแผลบริเวณแก้มขวาเพียงเล็กน้อย ประกอบทั้งการตรวจพิสูจน์ของแพทย์ว่าสาเหตุของการตายเกิดจากหัวใจวาย และปรากฏว่าผู้ตายเป็นโรคหัวใจโตและลิ้นหัวใจรั่วอยู่ก่อนแล้ว โอกาสที่จะประสบอันตรายเพราะเกิดภาวะหัวใจวายโดยฉับพลันมีขึ้นเมื่อใดก็ได้ จึงถือไม่ได้ว่าผู้ตายถึงแก่ความตายด้วยโรคหรือการเจ็บป่วยซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการทำงาน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นายชนะผู้ตายเป็นสามีของโจทก์ เป็นลูกจ้างประจำบริษัทอุตสาหกรรมไทยมอเตอร์ จำกัด ได้รับค่าจ้างเดือนละ ๑๓,๙๙๐ บาท เมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๒๖ ขณะที่นายชนะกำลังเดินตรวจและสั่งงานอยู่ที่หน้าบริษัทได้ประสบอุบัติเหตุลื่นล้มหน้าฟาดกับพื้นเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา ถือได้ว่าเป็นการตายในขณะปฏิบัติตามหน้าที่ คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนไม่จ่ายเงินทดแทนแก่โจทก์ โดยวินิจฉัยว่านายชนะมิได้ประสบอันตราย หรือเจ็บป่วยถึงแก่ความตายด้วยโรคซึ่งเกิดขึ้นเกี่ยวเนื่องจากการทำงาน โจทก์ไม่เห็นด้วยเพราะแพทย์มีใบรับรองว่านายชนะถึงแก่ความตายก่อนถึงโรงพยาบาลเกิดจากสาเหตุเป็นลม ศีรษะฟาดพื้นและหัวใจวาย มีบาดแผลบริเวณแก้มขวาเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ให้นายจ้าง จึงขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน โดยให้จำเลยจ่ายเงินทดแทนแก่โจทก์จำนวน๕๐๓,๖๔๐ บาท และเงินค่าทำศพอีก ๕,๐๐๐ บาท
จำเลยให้การว่า นายชนะถึงแก่ความตายเกิดจากหัวใจวาย โดยเป็นโรคหัวใจโตผิดปกติ ลิ้นหัวใจรั่วมาก่อน หาได้เกิดขึ้นตามลักษณะหรือสภาพของงานที่ผู้ตายทำไม่ นายชนะเพียงแต่เดินตรวจและสั่งงานในสำนักงานแล้วเกิดล้มหน้าฟาดกับพื้น ซึ่งตามลักษณะงานไม่อาจทำให้ผู้ที่มีสุขภาพปกติถึงล้มตายได้ จึงเชื่อว่าการตายด้วยโรคหัวใจวายซึ่งเป็นโรคประจำตัวมาก่อนแล้ว ไม่ใช่เนื่องจากการทำงานหรือประสบอันตรายตามบทนิยามข้อ ๒ ของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ฉะนั้น คำสั่งของกรมแรงงานที่วินิจฉัยโดยคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนจึงเป็นการชอบแล้ว สำหรับจำนวนเงินทดแทนที่โจทก์เรียกร้องนั้น โจทก์มิได้บรรยายข้อหาให้แจ้งชัดว่า อาศัยอะไรมาเป็นหลักฐานในการกำหนด จำเลยไม่อาจเข้าใจได้ จึงเป็นฟ้องที่เคลือบคลุม หากศาลวินิจฉัยว่าโจทก์มีสิทธิรับเงินทดแทนแล้ว ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดการจ่ายเงินทดแทนฯ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒)ลงวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๒๕ กำหนดจ่ายเงินทดแทนไว้สูงสุดเพียงเดือนละ ๖,๐๐๐บาท กำหนดเวลา ๕ ปีก็ได้รับ ๓๖๐,๐๐๐ บาทเท่านั้น ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ฟ้องของโจทก์ไม่เคลือบคลุม ผู้ตายมีโรคประจำตัวหัวใจโตผิดปกติ เนื่องจากลิ้นหัวใจซ้าย ๒ แห่งรั่ว โอกาสที่จะประสบภาวะหัวใจวายเป็นสมุฏฐานของโรคที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกขณะ การที่ผู้ตายเดินตรวจสต็อกในโชว์รูมอันเป็นเวลาระหว่างปฏิบัติหน้าที่ เกิดลื่นล้มศีรษะฟาดพื้น เนื่องจากบริเวณนั้นเป็นพื้นหินขัดมีน้ำแฉะเนื่องจากน้ำฝนรั่วจากหลังคาและลื่นเป็นเหตุส่งเสริมให้เกิดภาวะหัวใจวายได้ง่ายขึ้นหากไม่มีเหตุมาส่งเสริมผู้ตายอาจไม่ถึงหัวใจวายโดยฉับพลัน ถือได้ว่าเป็นการตายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง เป็นการประสบอันตรายตามบทนิยาม ข้อ ๒แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินทดแทนโดยคำนวณจากร้อยละหกสิบของค่าจ้างรายเดือน แต่ไม่เกินเดือนละ ๖,๐๐๐ บาท เป็นเวลาห้าปีเป็นเงิน ๓๖๐,๐๐๐ บาท นอกจากนี้ให้จำเลยจ่ายค่าทำศพอีก ๕,๐๐๐ บาท พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนโดยให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนแก่โจทก์ ๓๖๐,๐๐๐ บาท และเงินทำศพอีก ๕,๐๐๐ บาท
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ในชั้นต้นเห็นสมควรพิเคราะห์ก่อนว่าคำฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า คำฟ้องของโจทก์ได้แสดงโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห้งข้อหาแล้ว โดยอ้างว่าผู้ตายเป็นลูกจ้างได้ประสบอันตรายถึงแก่ความตายและเรียกเงินทดแทนจากจำเลยแยกเป็นค่าทดแทน ๕๐๓,๖๔๐ บาท และค่าทำศพ ๕,๐๐๐ บาท เท่ากับว่าโจทก์ได้อ้างสิทธิตามกฎหมายในหมวด ๖ ว่าด้วยเงินทดแทนตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน นั้นเอง ส่วนจำนวนที่เรียกร้องนั้นจะถูกต้องตามจำนวนที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ เป็นเรื่องที่ศาลจะได้พิจารณาวินิจฉัยต่อไปไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม
ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๐๓ ลงวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๑๕ข้อ ๒(๖) ได้กำหนดให้กระทรวงมหาดไทยมีอำนาจกำหนดการคุ้มครองแรงงานโดยกำหนดความรับผิดของนายจ้างที่จะต้องจ่ายเงินทดแทนในกรณีลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยหรือถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงาน หรือจากโรคซึ่งเกิดขึ้นตามลักษณะหรือสภาพของงานหรือโรคซึ่งเกิดขึ้นจากการทำงาน ซึ่งกระทรวงมหาดไทยจะได้กำหนดชนิดของโรคนั้น และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้อาศัยอำนาจดังกล่าวออกประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง โรคซึ่งเกิดขึ้นเกี่ยวเนื่องกับการทำงาน ลงวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๑๕ กำหนดให้โรคต่อไปนี้เป็นโรคที่เกิดขึ้นตามลักษณะหรือสภาพของงาน หรือโรคซึ่งเกิดขึ้นจากการทำงาน คือ
๒๒. โรคหรือการเจ็บป่วยอย่างอื่น ซึ่งเป็นผลเนื่องจากการทำงาน
โรคหรือการป่วยอย่างอื่นที่ทำให้ลูกจ้างถึงแก่ความตายอันเป็นผลให้นายจ้างต้องจ่ายค่าทดแทนตามความในข้อนี้จะต้องเป็นโรคหรือการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นสืบเนื่องจากการทำงานของลูกจ้างโดยตรง หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ งานที่ลูกจ้างทำนั้นเป็นมูลให้เกิดโรคหรือการเจ็บป่วยขึ้น และเป็นเหตุให้ลูกจ้างถึงแก่ความตายด้วยโรคและอาการเจ็บป่วยดังกล่าว กรณีผู้ตายนี้ถึงแก่ความตายสืบเนื่องมาจากการลื่นล้มศีรษะฟาดกับพื้น ตามรายงานของแพทย์ว่าสาเหตุของการตายเกิดจากหัวใจวาย ซึ่งตามลักษณะของงานการเดินตรวจสต็อกในโชว์รูมไม่ใช่งานที่ต้องใช้กำลังแรง ไม่อาจทำให้เกิดโรคหรือการเจ็บป่วยถึงตายได้ โดยลำพังการลื่นล้มศีรษะฟาดกับพื้นก็มีบาดแผลบริเวณแก้มขวาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ประกอบทั้งจากการตรวจพิสูจน์ของแพทย์ว่า สาเหตุของการตายเกิดจากหัวใจวาย ตามข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ตายมีโรคประจำตัวอยู่ก่อนแล้วคือหัวใจโตและลิ้นหัวใจรั่วอันเป็นสมุฏฐานของโรคหัวใจ โอกาสที่จะประสบอันตรายเพราะหัวใจสูบฉีดโลหิตไปเลี้ยงไม่ทันเกิดภาวะหัวใจวายโดยฉับพลันมีขึ้นเมื่อใดก็ได้ การตายของผู้ตายจึงถือไม่ได้ว่าถึงแก่ความตายด้วยโรคหรือการเจ็บป่วยซึ่งเป็นผลเนื่องมาจากการทำงาน โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะได้รับเงินทดแทน
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share