คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 896/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143 เป็นแต่ให้อำนาจศาลอาจแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อยในคำพิพากษาหรือคำสั่งเท่านั้นไม่ได้ให้อำนาจสำหรับในกรณีอื่นดังเช่นที่ผิดพลาดหรือผิดหลงในสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งมิใช่เป็นส่วนหนึ่งของคำพิพากษาตามยอมศาลจึงไม่จำต้องชี้ว่าข้อที่ขอแก้ไขเพิ่มเติมในสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นเป็นข้อผิดพลาดหรือผิดหลง

ย่อยาว

กรณีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองขอให้ร่วมกันหรือแทนกันชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองแก่โจทก์ โจทก์และจำเลยทั้งสองได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันต่อหน้าศาลว่า จำเลยทั้งสองยอมร่วมกันหรือแทนกันชำระหนี้จำนองให้โจทก์ ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น

ต่อมาจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องว่า จำเลยที่ 2 เข้าใจผิดพลาดไปว่าจำเลยที่ 1 เท่านั้น เป็นผู้รับผิด ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันจะต้องรับใช้หนี้หลังจากที่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระแล้ว การที่จำเลยที่ 2 ได้ลงชื่อในสัญญาประนีประนอมยอมความว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันในสัญญาประนีประนอมยอมความจึงเป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อย ขอให้ศาลแก้ไขสัญญาประนีประนอมยอมความโดยตัดคำว่า “ร่วมกันหรือแทนกัน” เพื่อให้ได้ความว่า “ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดโดยบังคับเอาจากจำเลยที่ 1 ก่อน”

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ไม่ใช่กรณีข้อผิดพลาดหรือข้อผิดหลงเล็กน้อยสัญญาประนีประนอมยอมความชัดแจ้งอยู่แล้ว ให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 2

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า สัญญาประนีประนอมยอมความไม่ใช่ส่วนหนึ่งของคำพิพากษาตามยอม ศาลไม่มีอำนาจแก้ไขได้ ที่ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้อง ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วยในผล พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามคำร้องของจำเลยที่ 2 ที่ขอให้ศาลชั้นต้นแก้ไขเพิ่มเติมโดยตัดถ้อยคำที่ว่า “ร่วมกันหรือแทนกัน” ในสัญญาประนีประนอมยอมความแล้วเติมข้อความเป็นว่า “ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดโดยบังคับเอาจากจำเลยที่ 1 ก่อน”นั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143 เป็นแต่ให้อำนาจศาลอาจทำได้สำหรับในคำพิพากษาหรือคำสั่งเท่านั้น ไม่ได้ให้อำนาจทำได้สำหรับในกรณีอื่นดังเช่นที่ผิดพลาดหรือผิดหลงในสัญญาประนีประนอมยอมความนี้ด้วย และสัญญาประนีประนอมยอมความตามที่จำเลยที่ 2 ขอให้แก้ไขเพิ่มเติมนั้น ก็ไม่ใช่เป็นส่วนหนึ่งของตัวคำพิพากษาตามยอม กรณีจึงไม่มีปัญหาที่จะชี้ว่าข้อที่ขอแก้ไขเพิ่มเติมนั้นเป็นข้อที่ผิดพลาดหรือผิดหลง

พิพากษายืน

Share