คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1738/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาค้ำประกันระบุชื่อ ผู้ค้ำประกันไว้โดย ชัดแจ้ง และผู้ค้ำประกันได้ ลง ลายมือชื่อไว้แล้วในฐานะ ผู้ค้ำประกัน รวมทั้งมีพยานอีก 2 คน ลงชื่อไว้ด้วย เช่นนี้ แม้จะไม่ได้เขียนหรือพิมพ์ชื่อ พยานหรือทำวงเล็บ ไว้ใต้ ลายมือชื่อของพยานให้ชัดเจนว่าเป็นใครก็ตาม ย่อมนำสัญญาค้ำประกันดังกล่าวเป็นหลักฐานฟ้องร้องให้ผู้ค้ำประกันรับผิดได้ ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา680 วรรคสอง
การที่จำเลยทั้งหกซึ่ง มีหน้าที่จัดทำสัญญาค้ำประกัน มิได้เขียนหรือพิมพ์ชื่อบุคคลที่เป็นพยานในสัญญาให้ชัดเจนไว้ใต้ ลายมือชื่อของบุคคลดังกล่าว หรือมิได้จัดให้มีการทำวงเล็บ ใต้ ลายมือชื่อพยานเช่นว่านั้น ยังถือ ไม่ได้ว่าเป็นการกระทำละเมิดต่อ โจทก์เพราะโจทก์อาจฟ้องผู้ค้ำประกันให้รับผิด โดย อาศัยสัญญาค้ำประกันดังกล่าวและอ้างจำเลยทั้งหกเป็นพยานได้ อยู่แล้ว เมื่อฟ้องโจทก์มิได้กล่าวอ้างว่าการกระทำของจำเลยทั้งหกดังกล่าวเป็นการประพฤติฝ่าฝืนต่อ ระเบียบหรือกฏข้อบังคับของโจทก์อย่างไรแล้ว ศาลชอบที่พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ภายหลังที่สั่งรับฟ้องโจทก์แล้วไปเสียทีเดียวได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งหกเป็นข้าราชการในสังกัดของโจทก์ มีหน้าที่เกี่ยวกับการจัดทำ ควบคุม ตรวจสอบสัญญาการลาไปศึกษาวิชาเพิ่มเติมภายในประเทศรวมทั้งมีหน้าที่จัดทำและตรวจสอบหนังสือค้ำประกันเพื่อเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดอนุมัติด้วย จำเลยทั้งหกร่วมกันประมาทเลินเล่อมิได้ตรวจสอบให้ดีว่าสัญญาค้ำประกันที่จำเลยจัดทำไม่ได้มีการเขียนหรือพิมพ์หรือทำวงเล็บชื่อบุคคลที่เป็นพยานให้ชัดเจนไว้ใต้ลายมือชื่อของบุคคลผู้เป็นพยาน ทำให้ขาดพยานบุคคลที่จะยืนยันว่าผู้ใดเป็นผู้ค้ำประกันโจทก์จึงฟ้องผู้ค้ำประกันไม่ได้ ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้ชดใช้ค่าเสียหาย
ศาลชั้นต้นสั่งคำฟ้องว่า รับคำฟ้องโจทก์ พิเคราะห์แล้วเห็นว่าตามคำฟ้องโจทก์ไม่มีข้อโต้แย้งสิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๕ เพราะโจทก์ยังไม่ได้ฟ้องผู้ค้ำประกัน ให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์กล่าวใน+เพียงว่าจำเลยทั้งหกประมาทเลินเล่อไม่ได้เขียนหรือพิมพ์หรือจัดให้มีการทำวงเล็บชื่อของบุคคลที่เป็นพยานใต้ลายมือชื่อของบุคคลที่เป็นพยาน ทำให้ขาดพยานที่จะยืนยันว่า น.เป็นผู้ค้ำประกันจริงและทำให้โจทก์ฟ้องผู้ค้ำประกันไม่ได้ แต่โจทก์มิได้กล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งหกประพฤติฝ่าฝืนระเบียบหรือกฎข้อบังคับของโจทก์ประการใดบ้าง ตามสำเนาหนังสือค้ำประกันท้ายฟ้องมีข้อความระบุชัดว่า น.เป็นผู้ค้ำประกัน อ. ทั้งมีลายมือชื่อของ น. ลงไว้ในฐานะผู้ค้ำประกัน กับมีลายมือชื่อพยาน ๒ คน เช่นนี้โจทก์ย่อมฟ้อง น. ให้รับผิดตามสัญญาค้ำประกันได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๘๐ วรรคสอง ไม่มีเหตุผลใดที่โจทก์จะฟ้องให้ น.รับผิดตามสัญญาค้ำประกันไม่ได้ โจทก์ยังมิได้ฟ้องให้ น.รับผิดตามสัญญาค้ำประกัน โจทก์จึงไม่อาจกล่าวได้ว่าจำเลยทั้งหกทำละเมิด ทั้งนี้เพราะหากโจทก์ฟ้อง น. แล้วก็อาจชนะคดีได้ในเมื่อมีพยานเอกสารหรือหนังสือค้ำประกันเป็นหลักฐานอยู่แล้ว หาก น.ปฏิเสธว่ามิได้ลงชื่อในฐานะผู้ค้ำประกัน โจทก์ก็สามารถพิสูจน์โดยอ้างจำเลยทั้งหกมาเป็นพยานได้ไม่ยาก ตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ยังไม่อาจถือได้ว่าจำเลยทั้งหกกระทำโดยประมาทเลินเล่อถึงขนาดที่เป็นการกระทำละเมิด ทำให้โจทก์เสียหาย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share