คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1237/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ผู้ร้องยื่นคำขอรับชำระหนี้แล้วจะยื่นคำขอแก้ไขเพิ่มเติมจำนวนหนี้ เมื่อล่วงเลยกำหนดระยะเวลา 2 เดือน ตามบทบัญญัติมาตรา 91 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 หาได้ไม่ เพราะบทบัญญัติดังกล่าวได้กำหนดระยะเวลายื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้โดยเฉพาะแล้ว จึงไม่อาจนำบทบัญญัติเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องตามมาตรา 179,180 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาอนุโลมใช้ได้อีก.

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งห้าเด็ดขาด และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้โฆษณาคำสั่งดังกล่าวในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2528 ครบกำหนดยื่นคำขอรับชำระหนี้วันที่ 9 กันยายน 2528 ผู้ร้องได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้เป็นเจ้าหนี้รายที่ 10 เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2528 เป็นเงิน13,302,341.33 บาท ต่อมาวันที่ 20 พฤศจิกายน 2528 ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่า จำนวนเงินในคำขอรับชำระหนี้13,302,341.33 บาทนั้นเป็นยอดหนี้ผิดพลาด ขอแก้ไขเป็น17,602,341.43 บาท เจ้าพนักงานงานพิทักษ์ทรัพย์พิจารณาคำร้องของผู้ร้องแล้วมีคำสั่งว่า สิ้นกำหนดเวลายื่นคำขอรับชำระหนี้และได้ตรวจคำขอรับชำระหนี้ไปแล้ว ทั้งจากการตรวจสอบหลักฐานการขอรับชำระหนี้ไม่ได้ขอแก้เนื่องจากพิมพ์ผิดหรือผิดพลาดเล็กน้อยหากอนุญาตอาจทำให้เจ้าหนี้อื่นเสียเปรียบให้ยกคำร้อง ผู้ร้องยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่า เนื่องจากผู้ร้องได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้แล้วภายในกำหนดระยะเวลาตามกฎหมายผู้ร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมจำนวนเงินที่ขอรับชำระหนี้ เป็นการขอแก้ไขจำนวนเงินให้ถูกต้องตามความเป็นจริงเท่านั้น ไม่ได้ขอแก้ไขในรายละเอียดหรือเพิ่มเติมหนี้ เป็นการแก้ไขข้อผิดหลงเล็กน้อยเนื่องจากการตรวจสอบรวบรวมยอดหนี้สินผิดพลาด ขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รับคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมของผู้ร้อง เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์คัดค้านว่า ผู้ร้องขอแก้ไขจำนวนเงินเมื่อสิ้นกำหนดเวลายื่นคำขอรับชำระหนี้แล้ว อีกทั้งได้มีการตรวจคำขอรับชำระหนี้ไปแล้ว หากอนุญาตให้แก้ไขได้จะทำให้เจ้าหนี้อื่นเสียเปรียบการขอแก้ไขจำนวนเงินของผู้ร้องเป็นการขอแก้ไขทำให้จำนวนเงินสูงขึ้นถึง 4 ล้านบาทเศษ เท่ากับเป็นการยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายหลังเมื่อพ้นกำหนด 2 เดือนแล้ว เป็นการขยายเวลายื่นคำขอรับชำระหนี้และมิใช่เป็นข้อผิดหลงเล็กน้อย หรือเกิดจากการพิมพ์ผิดพลาด ผู้ร้องจึงขอแก้ไขคำขอรับชำระหนี้ไม่ได้ ขอให้ยกคำร้องของผู้ร้องศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้อง ผู้ร้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าผู้ร้อง ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ 13,302,341.33 บาท ต่อมาผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอเพิ่มเติมจำนวนหนี้เป็น 17,602,341.43 บาท เมื่อล่วงเลยระยะเวลา2 เดือน ตามที่ได้กำหนดไว้ในมาตรา 91 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 ผู้ร้องฎีกาว่า ผู้ร้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในกำหนดระยะเวลา 2 เดือน ที่กฎหมายกำหนดไว้ การขอเพิ่มเติมภายหลังจากที่ครบกำหนดยื่นคำขอรับชำระหนี้แล้วก็เพื่อให้ครบถ้วนถูกต้องเนื่องจากผิดพลาดในการคำนวณดอกเบี้ย ซึ่งเป็นการผิดพลาดเล็กน้อยและเป็นมูลหนี้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ซึ่งเป็นกรณีที่ต้องนำบทบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 179, 180 มาใช้โดยอนุโลมนั้น เห็นว่า การขอรับชำระหนี้ของบรรดาเจ้าหนี้ในคดีล้มละลายนั้น พระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 ได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ นอกจากนี้เมื่อพ้นกำหนดเวลา2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว มาตรา 104ยังกำหนดเงื่อนไขให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นัดหมายลูกหนี้และเจ้าหนี้ทั้งหลายมาพร้อมกันเพื่อตรวจคำขอรับชำระหนี้ ทั้งนี้เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่ประสงค์จะคัดค้านหนี้รายใดว่าไม่สมบูรณ์ไม่มีสิทธิ หรือไม่ถูกต้องประการใด ได้กระทำเสียแต่ในชั้นแรกก่อนที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะเริ่มทำการสอบสวนคำขอรับชำระหนี้ในแต่ละราย ดังนั้นหากจะถือว่า การขอรับชำระหนี้เป็นกรณีเดียวกันกับการยื่นฟ้องคดีแพ่งทั่ว ๆ ไป และเจ้าหนี้มีสิทธิที่จะแก้ไขเพิ่มเติมได้ภายในเงื่อนไขตามมาตรา 179, 180 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งแล้ว การดำเนินการของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามมาตรา 104 ดังกล่าวข้างต้น ก็จะเป็นไปด้วยความยุ่งยาก ดังนั้นเมื่อพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ได้กำหนดเรื่องนี้ไว้โดยเฉพาะแล้ว จึงไม่อาจนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาอนุโลมใช้ได้”
พิพากษายืน

Share