คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1701/2520

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้จัดการมรดกมีอำนาจขายฝากทรัพย์มรดก (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 1236/2491) เมื่อขายแล้วไม่แบ่งเงินให้ทายาทก็เป็นเรื่องระหว่างผู้จัดการมรดกกับทายาทที่จะว่ากล่าวกันต่างหาก หาทำให้นิติกรรมซื้อขายที่ผู้จัดการมรดกทำไปเป็นโมฆะไม่
การที่เจ้าพนักงานที่ดินรับจดทะเบียนขายฝากให้แก่ผู้จัดการมรดกโดยมิได้สอบสวนว่าทายาทได้ยินยอมและผู้จัดการมรดกมีเหตุผลในการขายสมควรอย่างไรหรือไม่นั้น ไม่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อ เพราะไม่มีหน้าที่ต้องปฏิบัติเช่นนั้น

ย่อยาว

คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ นายปกครอง นายประวัติ และนายประจักษ์วงศ์กาฬสินธุ์ เป็นบุตรของนายสิงห์ นางเทพ วงศ์กาฬสินธุ์ นางเทพถึงแก่กรรมนานแล้ว ส่วนนายสิงห์ถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. 2511 มีที่ดินมรดกเป็นที่นา 2 แปลงที่ดินปลูกบ้าน 3 แปลง นายปกครอง วงศ์กาฬสินธุ์ ได้เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามคำสั่งศาล แล้วได้สมคบกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงานที่ดินทำนิติกรรมขายฝากที่ดินปลูกบ้านมรดกแปลงหนึ่งไว้กับจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 1มิได้สอบสวนว่าทายาทอื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยหรือไม่ ผู้ขายมีเหตุผลและความจำเป็นอย่างไรที่จะต้องขาย เป็นการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง นายปกครองไม่ได้ไถ่ถอนภายในกำหนดที่พิพาทจึงตกเป็นสิทธิแก่จำเลยที่ 2นิติกรรมขายฝากดังกล่าวจึงเป็นโมฆะ จำเลยที่ 3 ได้ซื้อที่พิพาทจากจำเลยที่ 2และจำเลยที่ 4 ได้ซื้อที่พิพาทต่อจากจำเลยที่ 3 เป็นการซื้อขายโดยไม่สุจริตจึงขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนนิติกรรมทั้งหมด

จำเลยที่ 1 ให้การว่าไม่ประมาทเลินเล่อ และไม่มีหน้าที่สอบสวนหาข้อเท็จจริงตามที่โจทก์ฟ้อง จำเลยที่ 2, 3 และ 4 ให้การว่าได้ซื้อที่พิพาทโดยสุจริต

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า นายปกครองในฐานะผู้จัดการมรดกมีอำนาจขายฝากที่พิพาท โดยไม่ต้องรับมอบหมายจากทายาทอีก จำเลยที่ 2 ทำการโดยสุจริต ไม่จำต้องวินิจฉัยถึงจำเลยที่ 3 และที่ 4

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1724 ประกอบด้วยมาตรา 1736 และมาตรา 1740 นายปกครองมีอำนาจขายฝากทรัพย์ที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ได้ ทั้งนี้ ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 1236/2491 ระหว่างนายบุญเลิศ สุภากร โจทก์ นางสาย แสวงแววกับพวกจำเลย ที่โจทก์ฎีกาว่านายปกครองไม่มีความจำเป็นจะต้องขายทรัพย์เมื่อขายแล้วไม่แบ่งเงินให้ทายาท เป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่ของผู้จัดการมรดกตามกฎหมายนั้น เป็นเรื่องระหว่างผู้จัดการมรดกกับทายาทที่จะว่ากล่าวกันต่างหาก หาทำให้การซื้อขายที่นายปกครองทำไปเป็นโมฆะตามที่โจทก์ฎีกาไม่

จำเลยที่ 1 ทำการประมาทหรือไม่นั้น ปรากฏว่านายปกครองกับจำเลยที่ 2 นำโฉนดพิพาทไปหาจำเลยที่ 1 ที่สำนักงานที่ดิน แล้วนายปกครองขอขายฝากที่พิพาทให้จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ตรวจโฉนดแล้วมีชื่อนายปกครองเป็นผู้รับโอนที่พิพาทจากนายสิงห์ในฐานะผู้จัดการมรดก จำเลยที่ 1 จึงทำนิติกรรมขายฝากให้ ดังนี้ แม้จำเลยที่ 1 จะมิได้สอบสวนว่าทายาทของนายสิงห์ได้ยินยอมและนายปกครองมีเหตุผลในการขายสมควรอย่างไรหรือไม่ก็ไม่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อ เพราะจำเลยที่ 1 ไม่มีหน้าที่ต้องปฏิบัติเช่นนั้น

สำหรับจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 นั้น ศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่ารับซื้อที่พิพาทไว้โดยสุจริต

จึงพิพากษายืน

Share