คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3333-3337/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยที่ 1 ขับรถของจำเลยที่ 2 เพื่อนำไปซ่อม แม้โจทก์จะไม่มีพยานนำสืบว่าจำเลยที่ 1 ขับรถเพื่อนำไปซ่อมตามคำสั่งของผู้ใด แต่รถนั้นก็เป็นรถที่ใช้งานของจำเลยที่ 2 มีจำเลยที่ 1 เป็นคนขับประจำ และจำเลยที่ 1 เก็บรักษากุญแจรถไว้เอง จึงเป็นกิจการที่กระทำไปเพื่อประโยชน์แก่จำเลยที่ 2 โดยตรง เมื่อเกิดเหตุขึ้นย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย
ปัญหาเรื่องค่าสินไหมทดแทนศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยตามคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นแต่ที่ศาลชั้นต้นให้จำเลยเสียค่าดอกเบี้ยในจำนวนเงินค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ 7(โจทก์สำนวนที่ 5) ด้วยนั้นคลาดเคลื่อนไปเพราะโจทก์ที่ 7 มิได้เรียกร้องเอาดอกเบี้ย เป็นการเกินคำขอและกรณีดังกล่าวเป็นเรื่องเกี่ยวกับหนี้ร่วมอันไม่อาจแบ่งแยกได้แม้จำเลยที่ 1 จะมิได้อุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจแก้ไขให้มีผลถึงจำเลยที่ 1 ด้วยได้

ย่อยาว

คดีทั้งห้าสำนวนนี้ศาลล่างทั้งสองพิจารณาพิพากษารวมกันมา

โจทก์ห้าสำนวนต่างฟ้องจำเลยสรุปความว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างประจำของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนิติบุคคลโดยเป็นกรมสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2521 จำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์หมายเลข 1 ล – 0244 มีเครื่องพ่วงท้ายของจำเลยที่ 2 ตามถนนสายปัตตานี – นราธิวาส ด้วยความประมาทโดยขับรถด้วยความเร็วสูงเมื่อถึงบริเวณใกล้สี่แยกปาลัส ซึ่งเป็นย่านชุมนุมชนมีตลาดนัดและคนพลุกพล่าน จำเลยที่ 1 มิได้ลดความเร็วกลับขับรถหลบคนไปทางขวามือ เป็นเหตุให้พุ่งเข้าชนรถยนต์หมายเลขทะเบียน ป.น. 03793 ของโจทก์สำนวนที่ 5 ซึ่งจอดอยู่ และรถที่จำเลยที่ 1 ขับได้ชนนางสะริเปาะ ปูเต๊ะ ภริยาโจทก์ที่ 1และเป็นมารดาของโจทก์ที่ 2 ที่ 3 สำนวนแรกถึงแก่ความตาย ชนโจทก์สำนวนที่ 2โจทก์สำนวนที่ 3 และโจทก์สำนวนที่ 4 ได้รับบาดเจ็บ

จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ของจำเลยที่ 2 ตามหน้าที่ราชการ และตามคำสั่งการควบคุมของจำเลยที่ 2 ภายใต้การบังคับบัญชาหรือในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2เป็นการละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดด้วย

โจทก์ที่ 1 สำนวนแรกเสียค่าใช้จ่ายในการทำศพนางสะริเปาะ ผู้ตายเป็นเงิน 15,600 บาท โจทก์ที่ 2 ที่ 3 ขาดการอุปการะเลี้ยงดู และให้การศึกษาส่วนของโจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 10,800 บาท ของโจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 16,000 บาทรวมค่าเสียหายโจทก์สำนวนแรกเป็นเงิน 42,400 บาท

โจทก์สำนวนที่ 2 เสียค่ารักษาพยาบาลกับค่าขาดรายได้ที่ไม่สามารถประกอบอาชีพ รวมเป็นเงิน 34,750 บาท

โจทก์สำนวนที่ 3 เสียค่ารักษาพยาบาลกับค่าขาดรายได้ที่ไม่สามารถประกอบอาชีพ รวมเป็นเงิน 12,000 บาท

โจทก์สำนวนที่ 4 เสียค่ารักษาพยาบาลกับค่าขาดรายได้ที่ไม่สามารถประกอบอาชีพ รวมเป็นเงิน 10,200 บาท

โจทก์สำนวนที่ 5 เสียค่าซ่อมรถยนต์ที่ถูกชนและค่าขาดรายได้ระหว่างซ่อมรถ เป็นเงิน 37,450 บาท

โจทก์แต่ละสำนวนขอให้ศาลบังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวนดังกล่าว และโจทก์ที่ 1 สำนวนแรกกับโจทก์สำนวนที่ 2 สำนวนที่ 3 และสำนวนที่ 4ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันเสียดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จด้วย

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาทั้งห้าสำนวน

จำเลยที่ 2 ให้การอย่างเดียวกันทุกสำนวนว่า เหตุเกิดขึ้นเพราะความประมาทของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 จริง แต่จำเลยที่ 1 เอารถยนต์ของจำเลยที่ 2 ไปขับขี่โดยพลการมิได้รับอนุญาตหรือมอบหมายหรือได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาแต่ประการใด จำเลยที่ 1 ปฏิบัติหรือกระทำการนอกเหนือและเกินอำนาจหน้าที่ เป็นการปฏิบัตินอกทางการที่จ้าง จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดค่าเสียหายสูงเกินกว่าความเป็นจริง ขอให้ยกฟ้อง

ในการสั่งรวมการพิจารณาคดี ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เรียกโจทก์ที่ 1ที่ 2 ที่ 3 สำนวนแรกเป็นโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ตามเดิมและเรียกโจทก์สำนวนที่ 2สำนวนที่ 3 สำนวนที่ 4 และสำนวนที่ 5 เป็นโจทก์ที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 ตามลำดับ

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ 1เป็นเงิน 15,600 บาท โจทก์ที่ 2 ที่ 3 รวม 25,200 บาท โจทก์ที่ 4 เป็นเงิน 17,800บาท โจทก์ที่ 5 เป็นเงิน 5,400 บาท โจทก์ที่ 6 เป็นเงิน 3,200 บาท และโจทก์ที่ 7เป็นเงิน 31,150 บาท กับให้เสียดอกเบี้ยในเงินที่ต้องชดใช้แก่โจทก์ที่ 1 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 อัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในยอดเงินที่ต้องรับผิดนับแต่วันฟ้องของแต่ละสำนวนจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ทุกสำนวน โดยคดีที่ต้องห้ามอุทธรณ์ปัญหาข้อเท็จจริงผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีหตุอันควรอุทธรณ์ได้

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ทั้งห้าสำนวนนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ทุกสำนวนฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 ขับรถของจำเลยที่ 2 เพื่อนำไปซ่อมแล้ววินิจฉัยข้อกฎหมายว่า แม้โจทก์จะไม่มีพยานนำสืบว่าจำเลยที่ 1 ขับรถเพื่อนำไปซ่อมตามคำสั่งของผู้ใด แต่รถนั้นก็เป็นรถที่ใช้งานของจำเลยที่ 2 มีจำเลยที่ 1เป็นคนขับประจำ และจำเลยที่ 1 เก็บรักษากุญแจรถไว้เอง การที่จำเลยที่ 1 ขับรถเพื่อนำไปซ่อม จึงเป็นกิจการที่กระทำไปเพื่อประโยชน์แก่จำเลยที่ 2 โดยตรง เมื่อเกิดเหตุขึ้นย่อมถือได้ว่า จำเลยที่ 1 กระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ดังนั้นจำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย

ส่วนปัญหาเรื่องค่าสินไหมทดแทนของโจทก์แต่ละสำนวนศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ในเรื่องนี้ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนและศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นพ้องด้วยตามคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น แต่ที่ศาลชั้นต้นให้จำเลยเสียค่าดอกเบี้ยในจำนวนเงินค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ 7 (โจทก์สำนวนที่ 5) ด้วยนั้นคลาดเคลื่อนไปเพราะโจทก์ที่ 7 มิได้เรียกร้องเอาดอกเบี้ย การให้จำเลยเสียค่าดอกเบี้ยจึงเกินคำขอและกรณีดังกล่าวนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับหนี้ร่วมอันไม่อาจแบ่งแยกได้ แม้จำเลยที่ 1 จะมิได้อุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจแก้ไขให้มีผลถึงจำเลยที่ 1 ด้วยได้

พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นว่า ให้บังคับคดีแก่จำเลยที่ 2ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เว้นแต่ข้อที่ศาลชั้นต้นให้จำเลยทั้งสองเสียดอกเบี้ยในเงินค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ 7 (โจทก์สำนวนที่ 5) ให้แก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองไม่ต้องเสียค่าดอกเบี้ยนั้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share