แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 6 เดือน ศาลอุทธรณ์แก้เป็นว่า ให้ปรับจำเลย 3,000 บาท อีกสถานหนึ่ง และรอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท แม้ศาลอุทธรณ์จะลงโทษปรับจำเลยด้วยแต่ให้รอการลงโทษจำคุกไว้ โทษที่จำเลยได้รับตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงต่ำกว่าโทษที่จำเลยจะต้องรับตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น มิใช่ศาลอุทธรณ์พิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 219 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานแจ้งความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานและแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 และมาตรา 267 แต่การกระทำของจำเลยที่โจทก์บรรยายไว้ครบถ้วนตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 นั้น ก็เฉพาะการกระทำในส่วนที่อ้างว่าจำเลยแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานตำรวจและที่ให้เจ้าพนักงานตำรวจจดข้อความอันเป็นเท็จลงในสมุดรายงานประจำวันอันเป็นเอกสารราชการเท่านั้น ส่วนการที่โจทก์กล่าวไว้ในคำฟ้องว่าต่อมาจำเลยนำสำเนารายงานประจำวันไปขอออกใบแทนโฉนดที่ดินแล้วนำไปจดทะเบียนให้แก่ผู้มีชื่อนั้น โจทก์มิได้บรรยายการกระทำและรายละเอียดเกี่ยวกับเวลาและสถานที่ตามที่ต้องกล่าวตามมาตรา158(5) จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยสำหรับการกระทำในส่วนนี้ด้วย ดังนั้นในการวินิจฉัยข้อกฎหมายว่าโจทก์จะเป็นผู้เสียหายหรือไม่จึงต้องพิจารณาเฉพาะการกระทำที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยคือการที่จำเลยนำข้อความอันเป็นเท็จไปแจ้งต่อเจ้าพนักงานตำรวจว่าโฉนดที่ดินของจำเลยหาย เพื่อให้เจ้าพนักงานตำรวจจดบันทึกไว้ในสมุดรายงานประจำวันอันเป็นเอกสารราชการ การกระทำตามฟ้องที่จำเลยนำข้อความอันเป็นเท็จไปแจ้งต่อเจ้าพนักงานตำรวจว่าโฉนดที่ดินของจำเลยหาย เป็นการกระทำต่อเจ้าพนักงานมิได้กระทำต่อโจทก์และข้อความเท็จที่จำเลยแจ้งให้ร้อยตำรวจโทพ.จดบันทึกลงในสมุดรายงานประจำวันที่เป็นเอกสารราชการนั้น แม้จะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137และมาตรา 267 ก็ตาม แต่ข้อความเท็จที่จำเลยแจ้งนั้น มิได้มีการกล่าวอ้างถึงการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดที่เป็นของโจทก์ ความที่ปรากฏว่าเป็นเท็จก็ดี สมุดรายงานที่เจ้าพนักงานจดบันทึกไว้มีข้อความเป็นเท็จก็ดีมิได้ทำให้สิทธิของโจทก์เกี่ยวกับการมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินในโฉนดต้องถูกเปลี่ยนแปลงหรือกระทบกระเทือนต่อการที่โจทก์มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินในทางที่ทำให้สิทธิที่มีอยู่ลดน้อยถอยลงในการกระทำความผิดของจำเลยในส่วนนี้โจทก์จึงมิใช่ผู้เสียหายแม้จะได้ความต่อมาว่า จำเลยได้นำหลักฐานการแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานตำรวจไปดำเนินการต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อขอใบแทนโฉนดแล้วนำไปขายให้บุคคลอื่นอันเป็นการกระทำที่เกิดความเสียหายให้แก่โจทก์ก็ตาม แต่การกระทำของจำเลยในส่วนนี้ที่กระทำต่อมาหลังจากการกระทำความผิดฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานตำรวจและให้เจ้าพนักงานตำรวจจดข้อความเท็จลงในเอกสารราชการสำเร็จแล้วนั้น เป็นการกระทำอีกส่วนหนึ่งต่างหากจากการกระทำที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษ จึงนำเอาการกระทำส่วนนี้มาเป็นข้อพิจารณาว่าโจทก์เสียหายในส่วนของการกระทำตามฟ้องไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 133388, 133389, 133390, 133391, 133392, 133393,133394, 133395, 133396 ตำบล(แขวง)วังทองหลาง อำเภอ(เขต)บางกะปิจังหวัดกรุงเทพมหานคร รวมเนื้อที่ 406 ตารางวา ที่ดินทั้ง 9 โฉนดผู้มีชื่อขายให้แก่โจทก์เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2529 แต่โจทก์ให้จำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทน จึงได้ใส่ชื่อจำเลยในโฉนดที่ดินทั้ง 9โฉนด แต่โจทก์เป็นผู้เก็บรักษาโฉนดที่ดินจำนวน 9 ฉบับเมื่อประมาณปลายเดือนกันยายน 2529 จำเลยยืมโฉนดที่ดินเลขที่ 133388 จากโจทก์แล้วไม่นำมาคืนให้โจทก์ ต่อมาเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2530 เวลา19 นาฬิกาเศษ จำเลยได้แจ้งความต่อร้อยตำรวจโทพิสิทธิ มีสุขนายร้อยเวรสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบุปผาราม ว่า โฉนดที่ดินเลขที่ 133388 ถึง 133396 รวม 9 โฉนด หายไปในบริเวณบ้านเลขที่ 1196 เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2530 ซึ่งข้อความดังกล่าวเป็นความเท็จ เป็นเหตุให้ร้อยตำรวจโทพิสิทธิหลงเชื่อว่าข้อความที่จำเลยแจ้งเป็นความจริง จึงได้จดข้อความอันเป็นเท็จลงในสมุดรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี ข้อ 12 วันที่ 18 มกราคม 2530 เวลา 19.45นาฬิกา ซึ่งเป็นเอกสารราชการ ต่อมาจำเลยได้นำสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีดังกล่าว ไปใช้เป็นพยานหลักฐานในการขอออกใบแทนโฉนดที่ดินทั้ง 9 ฉบับ ณ สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบางกะปิต่อมาเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2530 จำเลยได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินจำนวน 9 โฉนดดังกล่าวให้แก่ผู้มีชื่อ การกระทำของจำเลยเป็นเหตุให้โจทก์ ร้อยตำรวจโทพิสิทธิได้รับความเสียหาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 267 มาตรา 90
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 137, 267 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท จึงให้ลงโทษบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267 ให้ลงโทษจำคุก 6 เดือน จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้ปรับจำเลย 3,000 บาท อีกสถานหนึ่ง โทษจำคุกให้รอไว้มีกำหนด1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 6 เดือน ศาลอุทธรณ์แก้เป็นว่า ให้ปรับจำเลย 3,000 บาทอีกสถานหนึ่ง และรอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท แม้ศาลอุทธรณ์จะลงโทษปรับจำเลยด้วย แต่ให้รอการลงโทษจำคุกไว้โทษที่จำเลยได้รับตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงต่ำกว่าโทษที่จำเลยจะต้องรับตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น มิใช่กรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย คดีนี้จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219ที่จำเลยฎีกาว่าที่ดินทั้ง 9 โฉนด เป็นของจำเลยก็ดี หรือที่จำเลยไปแจ้งความว่าโฉนดหายมิใช่ความเท็จก็ดีนั้น เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีการับวินิจฉัยให้ไม่ได้ด้วยต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว ฎีกาของจำเลยคงมีปัญหาข้อกฎหมายว่า โจทก์เป็นผู้เสียหายในความผิดที่โจทก์ฟ้องมาหรือไม่ ในปัญหานี้มีข้อที่จะต้องพิจารณาในเบื้องต้นคือตามคำฟ้องของโจทก์ที่ได้บรรยายมานั้นเป็นการฟ้องขอให้ลงโทษการกระทำของจำเลยในส่วนใด ได้พิจารณาคำฟ้องของโจทก์แล้วการกระทำของจำเลยที่โจทก์บรรยายไว้ครบถ้วนตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 นั้น ก็เฉพาะการกระทำในส่วนที่อ้างว่าจำเลยแจ้งเท็จต่อเจ้าพนักงานตำรวจผู้รับแจ้งความ และที่ให้เจ้าพนักงานตำรวจจดข้อความอันเป็นเท็จลงในสมุดรายงานประจำวันอันเป็นเอกสารราชการเท่านั้น ส่วนการที่โจทก์กล่าวไว้ในคำฟ้องว่าต่อมาจำเลยนำสำเนารายงานประจำวันไปขอออกใบแทนโฉนดที่ดินทั้ง 9 โฉนด แล้วนำที่ดินไปจดทะเบียนขายให้ผู้มีชื่อนั้น ในการกระทำส่วนนี้โจทก์มิได้บรรยายการกระทำและรายละเอียดเกี่ยวกับเวลาและสถานที่ตามที่ต้องกล่าวตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 158(5) จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยสำหรับการกระทำในส่วนนี้ด้วย ดังนั้นในการพิจารณาว่าโจทก์จะเป็นผู้เสียหายหรือไม่จึงต้องพิจารณาเฉพาะการกระทำที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยคือการที่จำเลยนำข้อความอันเป็นเท็จไปแจ้งต่อเจ้าพนักงานตำรวจว่าโฉนดที่ดินของจำเลยหาย เพื่อให้เจ้าพนักงานตำรวจจดบันทึกไว้ในสมุดรายงานประจำวันอันเป็นเอกสารราชการเพื่อใช้เป็นพยานหลักฐานในการวินิจฉัยข้อกฎหมายที่ว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายหรือไม่นั้น ศาลฎีกาต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 222 ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า ที่ดินทั้ง 9 โฉนด ตามที่โจทก์ฟ้องนั้นเป็นของโจทก์โดยจำเลยมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ที่ดินแทนโจทก์ โฉนดที่ดินทั้ง 9 โฉนดโจทก์เป็นผู้เก็บรักษาไว้มิได้อยู่ในความครอบครองของจำเลยตามวันเวลาที่กล่าวในฟ้องจำเลยได้แจ้งความต่อร้อยตำรวจโทพิสิทธิ มีสุขนายร้อยเวรสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบุปผารามว่าโฉนดที่ดินตามที่โจทก์ฟ้องเป็นของจำเลยได้หายไปจากบ้านเลขที่ 1196ถนนเทศบาลสาย 1 แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานครร้อยตำรวจโทพิสิทธิจึงได้จดข้อความตามที่จำเลยแจ้งลงในสมุดรายงานประจำวันเป็นเอกสารราชการตามที่จำเลยแจ้งต่อร้อยตำรวจโทพิสิทธิให้จดบันทึกในสมุดรายงานประจำวันดังที่กล่าวนั้นเป็นความเท็จความจริงจำเลยรู้อยู่แล้วว่าที่ดินทั้ง 9 โฉนดเป็นของโจทก์ และโฉนดที่ดินทั้ง 9 ฉบับนั้นโจทก์เก็บรักษาไว้มิได้หายไป ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความดังกล่าวนั้นศาลฎีกาเห็นว่า การกระทำตามที่ฟ้องนั้นจำเลยกระทำต่อเจ้าพนักงานมิได้กระทำต่อโจทก์และข้อความเท็จที่จำเลยแจ้งให้ร้อยตำรวจโทพิสิทธิจดบันทึกลงในสมุดรายงานประจำวันที่เป็นเอกสารราชการนั้น แม้จะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 137 และมาตรา 267 ก็ตาม แต่ข้อความเท็จที่จำเลยแจ้งนั้นมิได้มีการกล่าวอ้างถึงการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดที่เป็นของโจทก์ความที่ปรากฏว่าเป็นเท็จก็ดี สมุดรายงานที่เจ้าพนักงานจดบันทึกไว้มีข้อความเป็นเท็จก็ดี มิได้ทำให้สิทธิของโจทก์เกี่ยวกับการมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินในโฉนดทั้ง 9 แปลงต้องถูกเปลี่ยนแปลงหรือกระทบกระเทือนต่อการที่โจทก์มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้ง 9 โฉนด ในทางที่ทำให้สิทธิที่มีอยู่ลดน้อยลงแต่ประการใดในการกระทำความผิดของจำเลยในส่วนนี้โจทก์จึงมิใช่ผู้เสียหาย แม้จะได้ความต่อมาว่า จำเลยได้นำหลักฐานการแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานตำรวจไปดำเนินการต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อขอใบแทนโฉนดแล้วนำไปขายให้บุคคลอื่น อันเป็นการกระทำที่เกิดความเสียหายให้แก่โจทก์ก็ตาม แต่การกระทำของจำเลยในส่วนนี้ที่กระทำต่อมาหลังจากการกระทำความผิดฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานตำรวจและให้เจ้าพนักงานตำรวจจดข้อความเท็จลงในเอกสารราชการสำเร็จแล้วนั้นเป็นการกระทำอีกส่วนหนึ่งต่างหากจากการกระทำที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลย จึงนำเอาการกระทำส่วนนี้มาเป็นข้อพิจารณาว่าโจทก์เสียหายในส่วนของการกระทำตามฟ้องไม่ได้ เมื่อโจทก์มิใช่ผู้เสียหายสำหรับการกระทำที่เป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ส่วนที่ว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายในการกระทำตามฟ้องของโจทก์นั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์