คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1694/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เงินค่าตรวจรักษาคนไข้ที่แพทย์ของโรงพยาบาลโจทก์รวมทั้งจำเลยร่วมได้รับ เป็นเงินที่โจทก์จ่ายให้แก่จำเลยร่วมตามข้อตกลงในสัญญาจ้าง มีลักษณะเป็นเงินที่คนไข้จ่ายให้แก่แพทย์ที่ตรวจรักษาโดยโจทก์รับไว้แทนแล้วจ่ายคืนให้แก่แพทย์ในภายหลังโดยหักเงินไว้ส่วนหนึ่ง จึงมิใช่เงินของนายจ้างที่จ่ายให้แก่ลูกจ้างเพื่อตอบแทน การทำงานหรือผลงานที่ลูกจ้างทำได้สำหรับระยะเวลาทำงานปกติของวันทำงาน จึงมิใช่ค่าจ้างไม่ต้องนำไปเป็นฐานเพื่อคำนวณค่าชดเชยให้แก่จำเลยร่วม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นพนักงานตรวจแรงงานตามกฎหมายเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2541 โจทก์ได้เลิกจ้างนายปรีชา อยู่ประเสริฐลูกจ้างโจทก์ ด้วยเหตุเกษียณอายุ ต่อมานายปรีชาได้ยื่นคำร้องทุกข์ต่อจำเลยว่าโจทก์จ่ายค่าชดเชยไม่ถูกต้องครบถ้วน วันที่ 12 มีนาคม2542 จำเลยมีคำสั่งที่ 36/2542 ว่าเงินค่าตรวจรักษาคนไข้ที่นายปรีชาได้รับจากโจทก์เป็นเงินที่นายจ้างเรียกเก็บจากคนไข้โดยออกใบเสร็จในนามนายจ้างแล้วจ่ายให้แก่ลูกจ้างตามสัดส่วนที่ได้ตกลงกันมูลเหตุที่จ่ายเงินดังกล่าวเนื่องจากการปฏิบัติงานตรวจรักษาคนไข้จึงเป็นการจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานของลูกจ้างอีกส่วนหนึ่งตามผลงานที่ลูกจ้างได้ทำนอกเหนือจากเงินเดือน เงินดังกล่าวจึงเป็นค่าจ้าง เมื่อโจทก์เลิกจ้างจึงต้องนำมาคิดคำนวณเป็นค่าชดเชยด้วย คำสั่งของจำเลยดังกล่าวไม่ชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเพราะเงินค่าตรวจรักษาคนไข้ ค่าผ่าตัด แพทย์เจ้าของไข้จะเป็นผู้กำหนดตามลักษณะอาการของโรคแต่ละราย มิใช่เงินที่โจทก์เรียกเก็บตามที่จำเลยวินิจฉัยซึ่งแต่ละครั้งมีจำนวนไม่เท่ากันและให้โรงพยาบาลเป็นผู้เรียกเก็บเงินจากคนไข้แทน แล้วโรงพยาบาลจึงจะจ่ายให้แก่แพทย์อันเป็นรายได้จากการประกอบวิชาชีพอิสระของแพทย์ การที่จำเลยสั่งให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยแก่นายปรีชาอีกจำนวน 1,430,482 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน2541 จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ ขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 36/2542 ลงวันที่ 12 มีนาคม 2542

จำเลยให้การว่า เงินค่าตรวจรักษาคนไข้ซึ่งนายปรีชาอยู่ประเสริฐ ได้รับเป็นเงินอันเกิดจากการทำงานที่นายปรีชาทำให้แก่โจทก์ การกำหนดค่ารักษาก็คิดตามบัญชีที่โจทก์กำหนดเงินค่าตรวจรักษาดังกล่าวจึงเป็นเงินที่นายจ้างให้แก่ลูกจ้างเป็นค่าตอบแทนการทำงาน ถือได้ว่าเป็นค่าจ้างด้วย ขอให้ยกฟ้อง

ระหว่างพิจารณา ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งเรียกนายปรีชาอยู่ประเสริฐ เข้าเป็นจำเลยร่วม

ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด ประกอบกิจการโรงพยาบาลจำเลยร่วมเข้าทำงานเป็นลูกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม2530 ครั้งสุดท้ายทำงานในตำแหน่งผู้อำนวยการบริหารฝ่ายแพทย์ ได้รับเงินเดือน เดือนละ 114,760 บาท กำหนดจ่ายทุกวันสิ้นเดือนนอกจากนี้จำเลยร่วมยังมีรายได้จากเงินค่าตรวจรักษาคนไข้ที่จำเลยร่วมปฏิบัติงานเป็นแพทย์ทำการตรวจรักษาคนไข้หลังจากที่โจทก์ได้หักค่าใช้จ่ายไว้ส่วนหนึ่งตามข้อตกลง โจทก์กำหนดจ่ายเงินค่าตรวจรักษาคนไข้แก่จำเลยร่วมรวมถึงแพทย์คนอื่นของโรงพยาบาลโจทก์ทุกวันที่ 10 และ 25 ของเดือนถัดไป เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม2541 โจทก์ได้เลิกจ้างจำเลยร่วมด้วยเหตุเกษียณอายุ(มีอายุครบ 55 ปี) และจ่ายค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างซึ่งเป็นเงินเดือนสุดท้ายสามร้อยวันเป็นเงินจำนวน 1,147,600 บาทแก่จำเลยร่วม หลังจากนั้นจำเลยร่วมไปร้องทุกข์ต่อจำเลยในฐานะพนักงานตรวจแรงงานว่าโจทก์จ่ายค่าชดเชยไม่ถูกต้องครบถ้วนโดยมิได้นำเงินค่าตรวจรักษาคนไข้ที่จำเลยร่วมได้รับอันเป็นค่าจ้างตามผลงานในระยะเวลาสามร้อยวันสุดท้ายก่อนเลิกจ้างมาคำนวณจ่ายค่าชดเชยด้วย จำเลยได้สอบสวนข้อเท็จจริงแล้วมีคำวินิจฉัยว่า เงินค่าตรวจรักษาคนไข้ที่จำเลยร่วมได้รับจากโจทก์เป็นเงินที่โจทก์จ่ายตอบแทนการทำงานอีกส่วนหนึ่งตามผลงานที่จำเลยร่วมทำได้นอกเหนือจากเงินเดือนจึงเป็นค่าจ้างต้องนำมาคำนวณเป็นค่าชดเชยด้วย จึงมีคำสั่งให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยอีกจำนวน 1,430,482 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่จำเลยร่วมแล้ววินิจฉัยว่า เงินค่าตรวจรักษาคนไข้ที่จำเลยร่วมได้รับจากโจทก์เป็นค่าจ้าง โจทก์ต้องนำไปเป็นฐานในการคำนวณค่าชดเชยให้แก่จำเลยร่วมอีกส่วนหนึ่งด้วย คำสั่งของจำเลยชอบด้วยกฎหมายแล้วไม่มีเหตุที่จะเพิกถอน พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า เงินค่าตรวจรักษาคนไข้ที่จำเลยร่วมได้รับจากโจทก์เป็นค่าจ้างซึ่งต้องนำไปเป็นฐานในการคำนวณค่าชดเชยให้แก่จำเลยร่วมหรือไม่ และคำสั่งของจำเลยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ. 2541 มาตรา 5 บัญญัติว่า “ค่าจ้าง” หมายความว่า เงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติเป็นรายชั่วโมง รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน หรือระยะเวลาอื่นหรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน และให้หมายความรวมถึงเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างในวันหยุด และวันลาที่ลูกจ้างมิได้ทำงานแต่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามพระราชบัญญัตินี้”ค่าจ้างตามบทบัญญัติดังกล่าวจึงมีสาระสำคัญ 3 ประการคือ ประการแรก ค่าจ้างต้องเป็นเงินที่นายจ้างกับลูกจ้างตกลงจ่ายกันตามสัญญาจ้าง ประการที่สอง เงินที่จ่ายดังกล่าวนายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเพื่อตอบแทนการทำงานหรือผลงานที่ลูกจ้างทำได้สำหรับระยะเวลาทำงานปกติของวันทำงานประการที่สาม เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างในวันหยุดและวันลาซึ่งลูกจ้างมิได้ทำงาน แต่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 คดีนี้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าเงินค่าตรวจรักษาคนไข้ที่แพทย์ของโรงพยาบาลโจทก์รวมทั้งจำเลยร่วมได้รับเป็นเงินจากการที่แพทย์แต่ละคนใช้ดุลพินิจกำหนดขึ้นในการตรวจรักษาคนไข้แต่ละราย ได้แก่ ค่าตรวจวินิจฉัยโรค ค่าผ่าตัดและค่าเยี่ยมไข้ เป็นต้น ทั้งนี้โจทก์ได้กำหนดอัตราค่าตรวจรักษาคนไข้ไว้เพื่อให้แพทย์ถือปฏิบัติเป็นแนวเดียวกัน เมื่อแพทย์กำหนดค่าตรวจรักษาคนไข้ไว้แล้ว เจ้าหน้าที่การเงินของโจทก์จะเป็นผู้เก็บเงินค่าตรวจรักษาคนไข้พร้อมกับค่ายา ค่าเวชภัณฑ์และอื่น ๆ จากคนไข้ในคราวเดียวกัน โดยออกใบเสร็จรับเงินในนามของโจทก์ให้แก่คนไข้ แล้วโจทก์จ่ายเงินค่าตรวจรักษาคนไข้ดังกล่าวให้แก่แพทย์ในภายหลัง ทุกวันที่ 10 และวันที่ 25ของแต่ละเดือน โดยโจทก์หักเงินไว้ส่วนหนึ่งคิดเป็นร้อยละจากจำนวนเงินค่าตรวจรักษาคนไข้ตามที่ตกลงกัน เห็นว่าแม้เงินค่าตรวจรักษาคนไข้จะเป็นเงินที่โจทก์จ่ายให้แก่จำเลยร่วมตามข้อตกลงในสัญญาจ้างตามหลักเกณฑ์ประการแรก แต่เงินดังกล่าวมีลักษณะเป็นเงินที่คนไข้จ่ายให้แก่แพทย์ที่ตรวจรักษาคนไข้โดยให้โจทก์รับไว้แทน แล้วจ่ายคืนให้แก่แพทย์ที่ตรวจรักษาคนไข้ในภายหลังโดยหักเงินไว้ส่วนหนึ่ง จึงมิใช่เงินของนายจ้างที่จ่ายให้แก่ลูกจ้างเพื่อตอบแทนการทำงานหรือผลงานที่ลูกจ้างทำได้สำหรับระยะเวลาทำงานปกติของวันทำงานตามหลักเกณฑ์ประการที่สอง และมิใช่เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างในวันหยุดและวันลาซึ่งลูกจ้างมิได้ทำงาน แต่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ตามหลักเกณฑ์ประการที่สาม จึงมิใช่ค่าจ้าง ไม่ต้องนำไปเป็นฐานเพื่อคำนวณค่าชดเชยให้แก่จำเลยร่วม ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าเงินดังกล่าวเป็นค่าจ้าง คำสั่งของจำเลยชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนและพิพากษายกฟ้องนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น”

พิพากษากลับ ให้เพิกถอนคำสั่งที่ 36/2542 ลงวันที่ 12มีนาคม 2542 ของจำเลย

Share