คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6458-6461/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยเคยจ่ายค่าเชื่อมมิกซ์ในอัตราวันละ 30 บาท โจทก์แต่ละคนได้รับเฉลี่ยเดือนละ 780 บาท ต่อมาจำเลยไม่จ่ายซึ่งคำนวณแล้วเป็นเงินเดือนละไม่ต่ำกว่า 500 บาท ตั้งแต่เดือนมกราคม2543 อันเป็นการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับการทำงาน และมีคำขอท้ายฟ้องให้จำเลยจ่ายเงินดังกล่าวแก่โจทก์ด้วย แม้คำขอท้ายฟ้องจะขอให้จำเลยจ่ายเพียงอัตราเดือนละ 500 บาท ทั้งที่กล่าวอ้างในคำฟ้องว่าโจทก์มีสิทธิได้รับเดือนละ 780 บาท แต่ต้องถือได้แน่นอนว่าโจทก์เรียกร้องเงินจำนวนนี้ตามคำขอท้ายฟ้อง จึงเป็นคำฟ้องที่แจ้งชัดไม่เคลือบคลุม
แม้พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 39 จะใช้คำว่า “ให้ศาลแรงงานจดประเด็นข้อพิพาท”ก็ไม่ใช่บทบังคับเด็ดขาดให้ต้องจดประเด็นข้อพิพาททุกคดี คงให้อยู่ในดุลพินิจของศาลที่จะจดประเด็นข้อพิพาทหรือไม่ก็ได้
การที่ศาลแรงงานกลางพิจารณาเห็นว่าข้อเท็จจริงที่คู่ความแถลงรับมาพอให้วินิจฉัยคดีได้แล้ว จึงสั่งงดสืบพยาน เป็นการใช้ดุลพินิจในการพิจารณาพิพากษาคดี อุทธรณ์จำเลยที่โต้แย้งดุลพินิจดังกล่าวจึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
การแถลงรับข้อเท็จจริงต่อศาลเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างหนึ่งที่คู่ความทำได้ เมื่อจำเลยตั้ง ภ. เป็นทนายความของจำเลยภ. จึงมีฐานะเป็นคู่ความ มีสิทธิกระทำการแทนจำเลยเพื่อประโยชน์แห่งการดำเนินกระบวนพิจารณาอันรวมถึงการแถลงรับข้อเท็จจริงด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1(1) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 31 คำแถลงรับของ ภ. จึงผูกพันจำเลยด้วย
โจทก์เคยฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลางและชักชวนให้ลูกจ้างอื่นร้องเรียนต่อพนักงานตรวจแรงงานและฟ้องต่อศาลแรงงานกลางเนื่องจากจำเลยปรับลดค่าจ้างโดยไม่มีอำนาจ การกระทำของโจทก์เป็นการใช้สิทธิฟ้องเรียกค่าจ้างส่วนที่จำเลยปรับลดอันเป็นค่าจ้างค้างจ่ายตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง และมาตรา 54 และใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานตามมาตรา 123 วรรคหนึ่ง อันเป็นการใช้สิทธิที่กฎหมายให้อำนาจไว้ ทั้งการชักชวนให้ลูกจ้างอื่นของจำเลยกระทำตามก็เป็นการชักชวนให้ลูกจ้างอื่นใช้สิทธิตามกฎหมายเช่นกัน การกระทำดังกล่าวย่อมไม่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
ค่าชดเชยและค่าจ้างค้างจ่ายเป็นหนี้เงิน ซึ่งจำเลยต้องชำระดอกเบี้ยนับแต่วันผิดนัดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง ส่วนสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมไม่ใช่หนี้เงินที่กฎหมายบังคับให้นายจ้างต้องจ่ายเมื่อเลิกจ้าง นายจ้างจะตกเป็นผู้ผิดนัดและรับผิดชำระดอกเบี้ยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ต่อเมื่อลูกจ้างทวงถามเมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้เมื่อใดจำเลยจึงต้องชำระดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป
โจทก์มีสิทธิได้ดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ในเงินค่าจ้างค้างจ่ายและค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541มาตรา 9 วรรคหนึ่ง แม้ในคำฟ้องของโจทก์จะขอดอกเบี้ยมาในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี แต่เพื่อความเป็นธรรมศาลฎีกาให้โจทก์ได้รับดอกเบี้ยตามอัตราที่กำหนดไว้ในกฎหมาย โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 52

ย่อยาว

คดีทั้งสี่สำนวนนี้ศาลแรงงานกลางให้รวมพิจารณาพิพากษาโดยเรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่าจำเลย

โจทก์ทั้งสี่สำนวนฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์ทั้งสี่เข้าทำงานเมื่อวันที่ 20มีนาคม 2537 วันที่ 26 พฤศจิกายน 2541 วันที่ 11 มกราคม 2537 และวันที่ 24 มิถุนายน 2541 ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 10,200 บาท8,500 บาท 10,200 บาท และ 8,500 บาท ตามลำดับ กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 8 ของเดือน ต่อมาวันที่ 24 กรกฎาคม 2543 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสี่โดยโจทก์ทั้งสี่มิได้กระทำผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า อันเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม จำเลยยังค้างจ่ายค่าจ้าง ค่าเชื่อมมิกซ์แก่โจทก์ทั้งสี่เป็นเงิน 3,690 บาท 6,060 บาท 3,690 บาท และ 10,890 บาท ตามลำดับขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม และค่าจ้างค้างจ่าย แก่โจทก์ทั้งสี่ตามฟ้องพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวนนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์แต่ละคน

จำเลยทั้งสี่สำนวนให้การว่า ฟ้องโจทก์ทั้งสี่เคลือบคลุม ค่าเชื่อมมิกซ์เป็นเบี้ยขยัน ลูกจ้างได้รับเฉพาะวันที่ต้องทำงานด้วยเครื่องเชื่อมมิกซ์เท่านั้นจำเลยยกเลิกค่าเชื่อมมิกซ์ได้ตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการปฏิบัติงานและข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างของจำเลยโดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง โจทก์ทั้งสี่ยุยงปลุกปั่นให้เกิดความแตกแยกระหว่างจำเลยและลูกจ้างจงใจทำให้จำเลยเสื่อมเสียชื่อเสียงโดยโจทก์ทั้งสี่ยุยงให้ลูกจ้างของจำเลยร้องเรียนต่อพนักงานตรวจแรงงาน และโจทก์ทั้งสี่กับลูกจ้างของจำเลยฟ้องต่อศาลแรงงานกลาง (ธัญบุรี) รวม 2 ครั้ง เกี่ยวกับที่จำเลยปรับลดค่าจ้างอันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน กรณีที่ร้ายแรง จงใจทำให้จำเลยเสียหาย ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า โจทก์ทั้งสี่และจำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงคดีพอวินิจฉัยได้แล้ว ให้งดสืบพยานแล้ววินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม ค่าเชื่อมมิกซ์เป็นเงินที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์ทั้งสี่ซึ่งเป็นช่างเชื่อมในอัตราวันละ 30 บาท ทุกวันที่โจทก์ทั้งสี่มาทำงานจึงเป็นค่าจ้าง จำเลยไม่มีอำนาจเปลี่ยนแปลงค่าจ้างอันเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างในทางที่ไม่เป็นคุณแก่โจทก์ทั้งสี่โดยโจทก์ทั้งสี่ไม่ยินยอม จำเลยต้องจ่ายค่าเชื่อมมิกซ์ที่ค้างซึ่งโจทก์ทั้งสี่และจำเลยรับว่าเป็นเงินคนละ 3,200 บาท การที่โจทก์ทั้งสี่ฟ้องคดีต่อศาลแรงงานกลางและชักชวนให้ลูกจ้างอื่นร้องเรียนต่อพนักงานตรวจแรงงานและฟ้องต่อศาลแรงงานกลางเนื่องจากจำเลยปรับลดค่าจ้างโดยไม่มีอำนาจเป็นการใช้สิทธิทางศาลและทางเจ้าพนักงานของรัฐตามปกตินิยมซึ่งกระทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ทั้งการชักชวนให้ลูกจ้างอื่นใช้สิทธิตามกฎหมายโดยไม่ได้ยุยงส่งเสริมให้กระทำผิดกฎหมายย่อมกระทำได้โดยชอบ เช่นกันจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสี่ด้วยเหตุดังกล่าวจึงเป็นการเลิกจ้างโดยโจทก์ทั้งสี่ไม่ได้กระทำผิดและไม่มีเหตุเพียงพอที่จะเลิกจ้าง เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม และจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสี่โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าจึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ส่วนประเด็นข้อพิพาทอื่นโจทก์ที่ 2 และที่ 4สละไม่ติดใจเรียกร้องจึงไม่ต้องวินิจฉัยพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม แก่โจทก์ทั้งสี่และจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายแก่โจทก์ทั้งสี่คนละ 3,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวนนับแต่วันฟ้อง (โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3ฟ้องวันที่ 26 กรกฎาคม 2543 โจทก์ที่ 4 ฟ้องวันที่ 27 กรกฎาคม 2543)จนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์แต่ละคน คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยทั้งสี่สำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ทั้งสี่บรรยายฟ้องว่าจำเลยเคยจ่ายค่าเชื่อมมิกซ์ในอัตราวันละ 30 บาท โจทก์แต่ละคนได้รับเฉลี่ยเดือนละ 780บาท ต่อมาจำเลยไม่จ่ายค่าเชื่อมมิกซ์ซึ่งคำนวณแล้วโจทก์แต่ละคนได้รับเป็นเงินเดือนละไม่ต่ำกว่า 500 บาท ตั้งแต่เดือนมกราคม 2543 อันเป็นการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับการทำงาน และมีคำขอท้ายฟ้องให้จำเลยจ่ายเงินดังกล่าวแก่โจทก์ด้วย แม้คำขอท้ายฟ้องจะขอให้จำเลยจ่ายค่าเชื่อมมิกซ์เพียงอัตราเดือนละ 500 บาท ทั้งที่กล่าวอ้างในคำฟ้องว่าโจทก์แต่ละคนมีสิทธิได้รับเดือนละ 780 บาท ดังจำเลยอุทธรณ์ก็ตามแต่ต้องถือได้แน่นอนว่าโจทก์เรียกร้องเงินจำนวนนี้ตามคำขอท้ายฟ้อง จึงเป็นคำฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์ทั้งสี่ และคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น ฟ้องของโจทก์ทั้งสี่ไม่เคลือบคลุม

จำเลยอุทธรณ์ประการที่สองว่า ศาลแรงงานกลางไม่กำหนดประเด็นข้อพิพาทเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบนั้น เห็นว่า แม้พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 39 จะใช้คำว่า “ให้ศาลแรงงานจดประเด็นข้อพิพาท” ก็ไม่ใช่บทบังคับศาลเด็ดขาดให้ต้องจดประเด็นข้อพิพาททุกคดี คงให้อยู่ในดุลพินิจของศาลที่จะจดประเด็นข้อพิพาทหรือไม่ก็ได้ เพราะการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีแรงงานต้องเป็นไปโดยสะดวกรวดเร็ว และเที่ยงธรรมดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 29 หากศาลแรงงานพิจารณาวินิจฉัยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายตามข้อต่อสู้ของคู่ความครบถ้วนแล้วก็ถือว่าศาลแรงงานได้ดำเนินกระบวนพิจารณาชอบด้วยกฎหมาย อุทธรณ์จำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

จำเลยอุทธรณ์ประการที่สามว่า ศาลแรงงานกลางสั่งให้งดสืบพยานเนื่องจากเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้โดยคู่ความมิได้ยินยอมด้วย เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบและไม่เป็นธรรมเนื่องจากยังมีข้อมูลรายละเอียดแห่งข้อเท็จจริงอีกมากมาย เช่น พฤติกรรมในอดีตของโจทก์ ฐานะแห่งกิจการของจำเลยตลอดจนสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมทั่วไปนั้น เห็นว่า การที่ศาลแรงงานกลางพิจารณาเห็นว่าข้อเท็จจริงที่คู่ความแถลงรับมานั้นพอให้วินิจฉัยคดีได้แล้วเป็นการใช้ดุลพินิจในการพิจารณาพิพากษาคดี อุทธรณ์จำเลยดังกล่าวโต้แย้งดุลพินิจของศาลแรงงานกลาง จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

จำเลยอุทธรณ์ประการที่สี่ว่า ทนายจำเลยเป็นเพียงทนายความมีหน้าที่ดำเนินกระบวนพิจารณาแทนจำเลย ไม่มีหน้าที่แถลงรับข้อเท็จจริงแทนจำเลยข้อเท็จจริงที่ทนายจำเลยแถลงรับจึงไม่ผูกพันจำเลยนั้น เห็นว่า การแถลงรับข้อเท็จจริงต่อศาลเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างหนึ่งที่คู่ความทำได้เมื่อจำเลยตั้งนายภาสกร เทวา เป็นทนายความของจำเลย นายภาสกรจึงมีฐานะเป็นคู่ความ มีสิทธิกระทำการแทนจำเลยเพื่อประโยชน์แห่งการดำเนินกระบวนพิจารณาอันรวมถึงการแถลงรับข้อเท็จจริงด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1(1) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 คำแถลงรับของนายภาสกรทนายจำเลย จึงต้องผูกพันจำเลยด้วย อุทธรณ์จำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

จำเลยอุทธรณ์ประการที่ห้าว่า ก่อนโจทก์ทั้งสี่ฟ้องคดีนี้โจทก์ทั้งสี่ได้ร้องเรียนต่อพนักงานตรวจแรงงานหลายครั้ง แต่พนักงานตรวจแรงงานยกคำร้องทุกครั้ง ต่อมาโจทก์ทั้งสี่ยื่นฟ้องต่อศาลแรงงานกลางถึง 2 ครั้งซึ่งศาลแรงงานกลางยกฟ้อง โจทก์ทั้งสี่กลั่นแกล้งฟ้องจำเลยตลอดมา ทั้งพยายามยุยงให้ลูกจ้างอื่นไปร้องเรียนต่อสำนักงานแรงงานจังหวัดและฟ้องต่อศาลแรงงานกลางอันเป็นการก่อให้เกิดความแตกแยกภายในบริษัทจำเลย กรณีจึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต จงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายนั้น เห็นว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ทั้งสี่เคยฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลางและชักชวนให้ลูกจ้างอื่นร้องเรียนต่อพนักงานตรวจแรงงานและฟ้องต่อศาลแรงงานกลางเนื่องจากจำเลยปรับลดค่าจ้างโดยไม่มีอำนาจ การกระทำของโจทก์ทั้งสี่เป็นการใช้สิทธิฟ้องเรียกค่าจ้างส่วนที่จำเลยปรับลดอันเป็นค่าจ้างค้างจ่ายตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ. 2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง และมาตรา 54 และใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานตามมาตรา 123 วรรคหนึ่ง อันเป็นการใช้สิทธิที่กฎหมายให้อำนาจไว้ ทั้งการชักชวนให้ลูกจ้างอื่นของจำเลยกระทำตามก็เป็นการชักชวนให้ลูกจ้างอื่นใช้สิทธิตามกฎหมายเช่นกัน การกระทำดังกล่าวย่อมไม่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตอุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นส่วนที่จำเลยอ้างว่าศาลแรงงานกลางยกฟ้องโจทก์นั้นก็ไม่เป็นความจริงข้อเท็จจริงปรากฏในรายงานกระบวนพิจารณาคดีหมายเลขแดงที่ ธบ.152-155/2543 ลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2543 ของศาลแรงงานกลาง(ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา) ระบุว่าโจทก์ทั้งสี่ขอถอนฟ้องเพื่อดำเนินการให้ถูกต้อง (ฟ้องใหม่) โดยจำเลยไม่ค้าน ศาลแรงงานกลาง (ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา) อนุญาตและสั่งจำหน่ายคดี มิได้พิพากษายกฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยในส่วนนี้จึงเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงถือว่าเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

จำเลยอุทธรณ์ประการสุดท้ายว่า จำนวนเงินตามคำพิพากษาเป็นสิทธิที่ศาลกำหนดให้และสิทธิดังกล่าวย่อมเกิดขึ้นนับแต่วันที่คดีถึงที่สุดอีกทั้งมิใช่หนี้เงินโจทก์ทั้งสี่จึงไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยนั้น เห็นว่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชยค่าจ้างค้างจ่ายและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมตามที่โจทก์ฟ้องเรียกมาศาลแรงงานกลางได้พิพากษากำหนดเป็นจำนวนเงินไว้แล้ว ทั้งหนี้ดังกล่าวล้วนต้องชำระเป็นเงินทั้งสิ้น จึงเป็นหนี้เงินที่จำเลยต้องชำระดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดซึ่งจำเลยต้องชำระดอกเบี้ยในค่าชดเชยและค่าจ้างค้างจ่ายนับแต่วันผิดนัดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่งส่วนสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมไม่ใช่หนี้เงินที่กฎหมายบังคับให้นายจ้างต้องจ่ายเมื่อเลิกจ้างนายจ้างจะตกเป็นผู้ผิดนัดและรับผิดชำระดอกเบี้ยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ต่อเมื่อลูกจ้างทวงถามเมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งสี่ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้เมื่อใดจำเลยจึงต้องชำระดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ทั้งสี่จึงชอบแล้วอุทธรณ์จำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

อนึ่ง โจทก์ทั้งสี่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ในเงินค่าจ้างค้างจ่ายและค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง แม้ในคำฟ้องของโจทก์ทั้งสี่จะขอดอกเบี้ยมาในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี แต่เพื่อความเป็นธรรมศาลฎีกาเห็นสมควรให้โจทก์ทั้งสี่ได้รับดอกเบี้ยตามอัตราที่กำหนดไว้ในกฎหมายทั้งนี้โดยอาศัยอำนาจตามความในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 52″

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายดอกเบี้ยในส่วนของค่าจ้างค้างจ่ายและค่าชดเชยร้อยละ 15 ต่อปี แก่โจทก์ทั้งสี่ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share