คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 943/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 7(4) ศาลที่คู่กรณีพึงตกลงกันให้ฟ้องคดีจะต้องเป็นศาลที่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล หรือมูลคดีเรื่องนั้นได้เกิดขึ้น หรือทรัพย์สินที่พิพาทกันนั้นตั้งอยู่ในเขตศาลอย่างใดอย่างหนึ่ง คดีนี้โจทก์กับจำเลยทั้งสองทำสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันและตกลงกันว่าหากมีข้อพิพาทเกิดขึ้นระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสอง ให้เสนอคดีต่อศาลในกรุงเทพมหานคร เมื่อปรากฏว่าโจทก์มีภูมิลำเนาอยู่ที่เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร และขณะที่ทำสัญญาดังกล่าวโจทก์ยังคงมีภูมิลำเนาอยู่ที่เดิม ภูมิลำเนาของโจทก์ขณะทำสัญญาจึงอยู่ในเขตอำนาจของศาลแพ่ง กรณีพึงเห็นเจตนาของโจทก์จำเลยที่ระบุในสัญญาว่าให้เสนอคดีต่อศาลในกรุงเทพมหานครก็คือศาลแพ่งนั่นเอง โจทก์จึงมีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลแพ่งได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ของโจทก์ไป1 คัน โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่ชำระค่าเช่าซื้อ โจทก์ต้องยึดรถยนต์คืนแล้วนำออกขาย แต่ราคาที่ขายได้ยังขาดอยู่ จึงขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ราคารถยนต์ที่ยังขาดอยู่เป็นเงิน 63,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19ต่อปีตามสัญญา นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
ศาลชั้นต้น(ศาลแพ่ง) มีคำสั่งว่า สัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันเอกสารท้ายฟ้องระบุว่าให้เสนอคดีต่อศาลในกรุงเทพมหานครแต่เนื่องจากศาลชั้นต้นในกรุงเทพมหานครมีมากกว่าหนึ่งศาล จึงไม่แจ้งชัดว่าตกลงให้ฟ้องคดีที่ศาลใด และจำเลยทั้งสองมีภูมิลำเนาอยู่จังหวัดนครปฐม จึงไม่รับฟ้องของโจทก์ คืนค่าขึ้นศาลให้โจทก์ทั้งหมด
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…โจทก์กับจำเลยทั้งสองได้ทำสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันต่อกันและได้ตกลงกันไว้ด้วยว่า หากมีข้อพิพาทเกิดขึ้นระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองแล้ว ให้เสนอคดีต่อศาลในกรุงเทพมหานคร ส่วนข้อพิพาทที่เกี่ยวกับทางอาญา ให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามข้อฎีกาของโจทก์ว่า ข้อตกลงดังกล่าวทำให้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ศาลแพ่งได้หรือไม่ พิเคราะห์แล้ว ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 7(4) บัญญัติว่า “ถ้าได้มีการตกลงกันไว้เป็นหนังสือว่าคู่สัญญาได้ยินยอมกันว่า บรรดาข้อพิพาทที่ได้เกิดขึ้นแล้วก็ดี หรือข้อพิพาทที่อาจจะเกิดขึ้นจากข้อสัญญาก็ดี ให้เสนอต่อศาลชั้นต้นศาลใดศาลหนึ่งตามที่ระบุไว้ซึ่งไม่มีหรืออาจไม่มีเขตศาลเหนือคดีนั้นตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยศาลที่จะรับคำฟ้อง ข้อตกลงเช่นว่านี้ให้เป็นอันผูกพันกันได้ แต่ศาลที่ได้ตกลงกันไว้นั้นจะต้องเป็นศาลที่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลนั้น หรือมูลคดีของเรื่องนั้นได้เกิดขึ้นหรือทรัพย์สินที่พิพาทกันนั้นตั้งอยู่ภายในเขตศาลแห่งศาลนั้น ๆ ” ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่าตามบทกฎหมายดังกล่าวศาลที่คู่กรณีพึงตกลงกันให้ฟ้องคดีจะต้องเป็นศาลที่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล หรือมูลคดีเรื่องนั้นได้เกิดขึ้นหรือทรัพย์สินที่พิพาทกันนั้นตั้งอยู่ในเขตศาลอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งปรากฎตามสำเนาหนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 ว่าโจทก์มีภูมิลำเนาอยู่ที่เลจที่ 865 ถนนพระราม 1 แขวงวังใหม่เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร และขณะที่โจทก์ทำสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันกับจำเลยทั้งสองนั้น โจทก์ยังคงมีภูมิลำเนาอยู่ที่เดิมภูมิลำเนาของโจทก์ขณะทำสัญญาจึงอยู่ในเขตอำนาจของศาลแพ่ง กรณีพึงเห็นเจตนาของโจทก์จำเลยคดีนี้ที่ระบุในสัญญาว่าให้เสนอคดีต่อศาลในกรุงเทพมหานครก็คือศาลแพ่งนั่นเอง เมื่อเป็นเช่นนี้โจทก์จึงมีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลแพ่งได้ ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งไม่รับฟ้องโจทก์โดยเห็นว่าเป็นข้อตกลงที่ระบุไม่แจ้งชัดว่าให้ฟ้องคดีต่อศาลใด เพราะศาลชั้นต้นในกรุงเทพมหานครมีมากกว่าหนึ่งศาลนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ศาลชั้นต้นรับคำฟ้องโจทก์ไว้พิจารณาและดำเนินการต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำสั่งหรือคำพิพากษา”.

Share