คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5307/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมแต่เพียงว่า”เสนอวันนี้ศาลอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้ จึงรับอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมสำเนาให้โจทก์และจำเลย การส่งไม่มีผู้รับโดยชอบให้ปิดหมาย” และข้อความในหมายนัดที่ส่งถึงจำเลยมีเพียงว่า “โจทก์ร่วมอุทธรณ์ได้ส่งสำเนาอุทธรณ์มาพร้อมหมายนัดนี้แล้ว เพราะฉะนั้นจึงแจ้งมาเพื่อทราบ” ซึ่งข้อความในหมายนัดนั้นไม่ชอบเพราะศาลชั้นต้นมิได้ดำเนินการตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 200 แต่เมื่อหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ส่งให้ไม่ได้เพราะไม่ได้ระบุเลขที่บ้านจำเลย และศาลชั้นต้นมีคำสั่งใหม่ว่า ให้ส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์โจทก์ร่วมให้แก่ทนายจำเลยการส่งถ้าไม่มีผู้รับโดยชอบให้ปิดหมาย และในหมายนัดที่ศาลชั้นต้นส่งถึงทนายจำเลยใหม่นี้มีข้อความว่า”โจทก์ร่วมยื่นอุทธรณ์ให้จำเลยแก้อุทธรณ์ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับหมายนี้ ได้ส่งสำเนาอุทธรณ์มาพร้อมหมายนี้จึงแจ้งมาเพื่อทราบ” แล้วมีการส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์โจทก์ร่วมให้แก่ทนายจำเลยโดยวิธีปิดหมายดังนั้นไม่ว่าบ้านที่ถูกระบุในรายงานการเดินหมายว่าเป็นบ้านใกล้เคียงกับบ้านที่ปิดหมายนั้นจะอยู่ห่างไกลจากบ้านของทนายจำเลยดังที่อ้างหรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อการดำเนินการของศาลชั้นต้นในการส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ตลอดจนข้อความที่ปรากฏในหมายนัดที่ส่งให้แก่ทนายจำเลยเป็นไปโดยถูกต้องตามกฎหมายและเมื่อตรวจดูรายงานการเดินหมายแล้วเชื่อว่ามีการปิดหมายไว้ที่บ้านของทนายจำเลยตามที่อยู่ที่แจ้งไว้จริงถือได้ว่าศาลชั้นต้นดำเนินการส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์โจทก์ร่วมให้อีกฝ่ายหนึ่งแก้ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 198,200 และ 201 โดยชอบแล้ว
จำเลยไม่เคยกระทำความผิดถึงต้องโทษจำคุกมาก่อนจำนวนเงินตามเช็คไม่สูงมากนัก จำเลยประกอบอาชีพธุรกิจรับเหมาก่อสร้างเคยร่วมงานกับโจทก์ร่วมรับเหมาก่อสร้างให้แก่รัฐภายใต้ภาวะทางเศรษฐกิจของบ้านเมืองกำลังตกต่ำเช่นปัจจุบันหากจำเลยจะต้องถูกลงโทษถึงจำคุกและอยู่ในเรือนจำภายในระยะเวลาอันสั้นแล้วน่าจะไม่เป็นผลดีต่อการแก้ไขให้จำเลยเป็นคนดีของสังคมได้ โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้โดยให้ลงโทษปรับอีกสถานหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณปลายเดือนพฤษภาคม 2539 วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยกับห้างหุ้นส่วนจำกัดสุรพรการโยธาร่วมกันออกเช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาย่อยตลาดพงษ์เพชร จำนวนเงิน 139,500 บาท มอบให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดบางกอกเซิฟเวอร์ ผู้เสียหายเพื่อชำระหนี้ค่ายางมะตอย (แอสฟัลต์)อันเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย ต่อมาเมื่อถึงกำหนดเวลาใช้เงินตามเช็ค ผู้เสียหายได้นำเช็คไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารตามเช็คตามวิธีการของธนาคารปรากฏว่าธนาคารตามเช็คได้ปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2539 เวลากลางวัน โดยให้เหตุผลว่า “โปรดติดต่อผู้สั่งจ่าย” ทั้งนี้ จำเลยกับห้างหุ้นส่วนจำกัดสุรพรการโยธาร่วมกันออกเช็คฉบับดังกล่าวโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้นและออกเช็คให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ในขณะที่ออกเช็คนั้น ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4(1)(3) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83

จำเลยให้การปฏิเสธ

ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น ห้างหุ้นส่วนจำกัดบางกอกเซิฟเวอร์ ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์ร่วมอุทธรณ์โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534มาตรา 4(1)(3) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ให้จำคุกจำเลยมีกำหนด 2 เดือน

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อประมาณปลายเดือนพฤษภาคม 2539 จำเลยซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดสุรพรการโยธา ได้ออกเช็คพิพาทสั่งจ่ายเงินจำนวน 139,500 บาท ลงวันที่ 10 มิถุนายน 2539 ให้โจทก์ร่วม เมื่อเช็คดังกล่าวถึงกำหนดโจทก์ร่วมนำเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินให้เหตุผลว่า “โปรดติดต่อผู้สั่งจ่าย” มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยได้กระทำผิดตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ สมควรวินิจฉัยตามฎีกาข้อ 5 ของจำเลยเป็นประการแรกว่า ในการพิจารณาคดีของศาลอุทธรณ์นั้นได้มีการส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์โจทก์ร่วมเพื่อให้จำเลยแก้ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้โดยชอบหรือไม่ เห็นว่า ปรากฏในสำนวนเกี่ยวกับคำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งรับอุทธรณ์โจทก์ร่วมตลอดจนรายงานการเดินหมาย ผลการส่งหมายและคำสั่งศาลชั้นต้นเกี่ยวกับการสั่งให้ส่งหมายว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์โจทก์ร่วมแต่เพียงว่า “เสนอวันนี้ศาลอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้ จึงรับอุทธรณ์ของโจทก์ร่วม สำเนาให้โจทก์และจำเลย การส่งไม่มีผู้รับโดยชอบให้ปิดหมาย” และมีข้อความในหมายนัดที่ส่งถึงจำเลยว่า “โจทก์ร่วมอุทธรณ์ได้ส่งสำเนาอุทธรณ์มาพร้อมหมายนัดนี้แล้ว เพราะฉะนั้นจึงแจ้งมาเพื่อทราบ” ซึ่งข้อความในหมายนัดนั้นไม่ชอบ เพราะศาลชั้นต้นมิได้ดำเนินการตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 200 แต่ก็ได้มีการส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมให้แก่จำเลยตามที่อยู่ที่ปรากฏในคำฟ้องซึ่งปรากฏว่าส่งให้ไม่ได้เพราะไม่ได้ระบุในหมายนัดว่าบ้านจำเลยอยู่หมู่ที่เท่าใด แต่อย่างใดก็ตาม เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งใหม่ว่า ให้ส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์โจทก์ร่วมให้แก่ทนายจำเลย การส่งถ้าไม่มีผู้รับโดยชอบให้ปิดหมายและในหมายนัดที่ศาลชั้นต้นส่งถึงทนายจำเลยใหม่นี้มีข้อความว่า “โจทก์ร่วมยื่นอุทธรณ์ให้จำเลยแก้อุทธรณ์ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหมายนี้ ได้ส่งสำเนาอุทธรณ์มาพร้อมหมายนี้จึงแจ้งมาเพื่อทราบ” แล้วได้มีการส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์โจทก์ร่วมให้แก่ทนายจำเลยตามที่อยู่ที่ปรากฏในใบแต่งทนายความของจำเลย การส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ครั้งนี้ส่งได้โดยการปิดหมาย ดังนั้น ไม่ว่าบ้านที่ถูกระบุในรายงานการเดินหมายว่าเป็นบ้านใกล้เคียงกับบ้านที่ปิดหมายนั้นจะอยู่ห่างไกลจากบ้านของทนายจำเลยตามที่จำเลยอ้างในฎีกาหรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อการดำเนินการของศาลชั้นต้นในการส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ตลอดจนข้อความที่ปรากฏในหมายนัดที่ส่งให้แก่ทนายจำเลยเป็นไปโดยถูกต้องตามกฎหมายและรายงานการส่งหมายซึ่งผู้ส่งหมายได้วางแผนที่ตำแหน่งที่ตั้งบ้านที่ปิดหมายประกอบไว้ เมื่อตรวจดูทั้งหมดแล้วน่าเชื่อว่ามีการปิดหมายไว้ที่บ้านของทนายจำเลยตามที่อยู่ที่แจ้งไว้จริงถือได้ว่าศาลชั้นต้นดำเนินการส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์โจทก์ร่วมเพื่อให้อีกฝ่ายหนึ่งแก้ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 198, 200 และ 201 โดยชอบแล้วเมื่อครบกำหนดแก้อุทธรณ์ปรากฏว่า จำเลยไม่แก้อุทธรณ์ศาลชั้นต้นจึงส่งสำนวนขึ้นมาให้ศาลอุทธรณ์เพื่อพิจารณาพิพากษานั้น จึงเป็นการที่ศาลชั้นต้นได้ปฏิบัติโดยชอบในการสั่งรับอุทธรณ์โจทก์ร่วมและส่งให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งโดยชอบแล้ว ศาลอุทธรณ์จึงมีอำนาจที่จะพิจารณาและพิพากษาอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมต่อไปได้ โดยไม่เป็นการขัดต่อวิธีการตามที่บัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาว่าด้วยการอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยปัญหาดังกล่าวนี้ไว้ในคำร้องขอคัดค้านการพิจารณาอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นของศาลอุทธรณ์ฉบับลงวันที่ 20 พฤษภาคม 2542 ไว้ชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นแต่ตามพฤติการณ์แห่งคดีไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยกระทำความผิดถึงต้องโทษจำคุกมาก่อนจำนวนเงินตามเช็คพิพาทก็ไม่สูงมากนัก จำเลยประกอบอาชีพธุรกิจรับเหมาก่อสร้างเคยร่วมงานกับโจทก์ร่วมทำงานรับเหมาก่อสร้างให้แก่รัฐ ภายใต้ภาวะทางเศรษฐกิจของบ้านเมืองกำลังตกต่ำเช่นปัจจุบันนี้ หากจำเลยจะต้องถูกต้องโทษถึงจำคุกและอยู่ในเรือนจำของกรมราชทัณฑ์ภายในระยะเวลาอันสั้นแล้ว น่าจะไม่เป็นผลดีต่อการที่จะแก้ไขอบรมให้จำเลยเป็นคนดีของสังคมได้ จึงสมควรให้โอกาสจำเลยได้ประพฤติตนเป็นพลเมืองดีต่อไปแต่เพื่อให้จำเลยหลาบจำ สมควรลงโทษปรับอีกสถานหนึ่งด้วย”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษปรับจำเลย 3,000 บาท อีกสถานหนึ่ง โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ถ้าไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share