คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2457/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คณะกรรมการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ได้กำหนดเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์แล้ว เมื่อโจทก์ทราบและไม่พอใจในจำนวนเงินค่าทดแทนนั้น โจทก์ย่อมมีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีฯ ได้ทันที กำหนดเวลาในการยื่นอุทธรณ์ต่อ รัฐมนตรีฯ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 25 วรรคหนึ่ง เป็นกำหนดเวลาสิ้นสุดแห่งการใช้สิทธิอุทธรณ์ ไม่ใช่กำหนดเวลาเริ่มต้นให้ใช้สิทธิอุทธรณ์ ดังนั้น โจทก์จึงชอบที่จะยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีฯ ได้ก่อนได้รับหนังสือแจ้งให้มารับเงินค่าทดแทน ถือได้ว่าโจทก์อุทธรณ์เรื่องเงินค่าทดแทนภายในกำหนดเวลา ตามมาตรา 25 วรรคหนึ่งแล้ว ย่อมมีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลตามมาตรา 26 วรรคหนึ่ง
พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 16 วรรคท้าย บัญญัติว่าถ้าผู้มีสิทธิในทรัพย์สิน ที่ถูกเวนคืนได้โอนสิทธิให้แก่บุคคลภายนอก ผู้รับโอนนั้น มีสิทธิที่จะเรียกร้องได้ก็แต่เฉพาะเงินค่าทดแทนเท่านั้น ดังนั้นโจทก์ผู้รับโอนสิทธิในที่ดินภายหลังจากที่มีการเวนคืนที่ดินดังกล่าวก็ย่อมมีสิทธิเรียกร้องเงินค่าทดแทนได้
การพิจารณาว่าโจทก์สมควรได้รับเงินค่าทดแทนเท่าใดต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ใน มาตรา 21 แห่ง พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ที่บัญญัติให้กำหนดโดยคำนึงถึงราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ แต่การที่ฝ่ายจำเลยเพิ่งนำเงิน ค่าทดแทนที่ดินไปวางให้โจทก์ภายหลังจากวันที่พระราชกฤษฎีกาฯ มีผลใช้บังคับแล้วเกือบสามสิบปี เป็นกรณีที่ฝ่ายจำเลยไม่ดำเนินการให้มีการจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินภายในเวลาอันควร ไม่เป็นไปตามครรลองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของที่ดินพิพาท ดังนั้นการที่ฝ่ายจำเลยกำหนดเงินค่าทดแทนแก่โจทก์โดยใช้ฐานที่ตั้งแห่งการกำหนดราคาในวันที่พระราชกฤษฎีกาฯ มีผลใช้บังคับ ย่อมไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ ควรเปลี่ยนวันอันเป็นฐานที่ตั้งแห่งการกำหนดราคาของอสังหาริมทรัพย์จากวันที่ พระราชกฤษฎีกาฯ มีผลใช้บังคับในวันที่ 10 ก.ค. 2508 มาเป็นกลางปี 2533 อันเป็นช่วงเวลาก่อนที่ฝ่ายจำเลยจะมีหนังสือถึงโจทก์ให้ไปตกลงราคาค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนประมาณ 2 ปี โดยเทียบเคียงจากระยะเวลาที่ควรต้องใช้ในกรณีปกติที่มีการดำเนินการกำหนดเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ โดยต้องคำนึงถึงสภาพและที่ตั้งของ ที่ดินพิพาทก่อนการเวนคืนเพื่อสร้างทางหลวงแผ่นดินสายนี้ที่เปลี่ยนแปลงไปตามปกติจนถึงกลางปี 2533 ว่าหากไม่มีการสร้างทางหลวงแผ่นดินสายนี้แล้ว สภาพและที่ตั้งของที่ดินพิพาทเป็นเช่นไรประกอบการพิจารณาในการกำหนดเงินค่าทดแทนด้วย

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสามฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มขึ้นแก่โจทก์ และร่วมกันชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ทั้งสามในอัตราร้อยละ 9 ต่อปี จากต้นเงิน นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสี่ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์… กับให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ทั้งสาม โดยกำหนดค่าทนายความให้รวม 30,000 บาท
โจทก์ทั้งสามและจำเลยทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในกรณีที่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนยังไม่พอใจในคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีตามมาตรา 25 หรือในกรณีที่ รัฐมนตรีมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 25 วรรคสอง ให้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีหรือนับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลาดังกล่าว แล้วแต่กรณี” และตามหนังสือขอให้ไปตกลงราคาค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเขตทางหลวง ลงวันที่ 1 มิถุนายน 2535 และวันที่ 10 สิงหาคม 2535 ที่นายช่างแขวงการทางธนบุรีมีไปถึงโจทก์ทั้งสาม มีข้อความว่า “…แขวงการทางธนบุรีได้ทำการจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่เจ้าของทรัพย์สินส่วนใหญ่ไปหมดแล้ว แต่ปรากฏว่ายังมีเจ้าของทรัพย์สินบางรายไม่ไปติดต่อขอรับเงินค่าทดแทน… แขวงการทางธนบุรีจึงขอแจ้งให้ทราบว่า ที่ดินของท่านตามโฉนดเลขที่… ถูกเวนคืนเป็นทางหลวงสายธนบุรี – ปากท่อ เป็นเนื้อที่… ค่าทดแทนคณะกรรมการกำหนดให้ในอัตราตารางวาละ 10 บาท… จึงขอให้ท่านไปตกลงราคาเพื่อรับเงินค่าทดแทนดังกล่าว… หากมิได้ดำเนินการภายในกำหนดเวลาดังกล่าว… จะได้วางเงินค่าทดแทนของท่านตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป…” เมื่อพิจารณาข้อความในหนังสือทั้งสามฉบับดังกล่าวประกอบกับ พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 25 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า “ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทน… ผู้ใดไม่พอใจในราคาของอสังหาริมทรัพย์หรือจำนวนเงินค่าทดแทนที่คณะกรรมการตามมาตรา 9… กำหนดมีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรี… ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากเจ้าหน้าที่… ให้มารับเงินค่าทดแทนดังกล่าว” และความในมาตรา 9 วรรคสี่ ที่บัญญัติว่า “ในการกำหนดราคาเบื้องต้นของอสังหาริมทรัพย์และจำนวนเงินค่าทดแทน ให้คณะกรรมการกำหนด… และดำเนินการให้แล้วเสร็จ… ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง” แล้ว เห็นได้ว่า คณะกรรมการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ได้กำหนดจำนวนเงินค่าทดแทนตามมาตรา 9 วรรคสี่ให้แก่โจทก์ทั้งสามแล้ว เมื่อโจทก์ทั้งสามทราบและไม่พอใจในค่าทดแทนนั้น โจทก์ทั้งสามย่อมมีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้ทันที เพื่อให้พิจารณาทบทวนการกำหนดเงินค่าทดแทนเสียใหม่ให้ถูกต้องและเป็นธรรม โดยไม่จำต้องรอให้เจ้าหน้าที่มีหนังสือแจ้งให้มารับเงินค่าทดแทนก่อน กำหนดเวลายื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีฯ ตามมาตรา 25 วรรคหนึ่ง เป็นกำหนดเวลาสิ้นสุดแห่งการใช้สิทธิอุทธรณ์ ไม่ใช่กำหนดเวลาเริ่มต้นให้ใช้สิทธิอุทธรณ์ ดังนั้น โจทก์ทั้งสามจึงชอบที่จะยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้ก่อนได้รับหนังสือแจ้งให้มารับเงินค่าทดแทน ถือได้ว่าโจทก์ทั้งสามอุทธรณ์เรื่องเงินค่าทดแทนภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 25 วรรคหนึ่ง แล้ว โจทก์ทั้งสามย่อมมีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลตามมาตรา 26 วรรคหนึ่ง
พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 16 วรรคท้าย บัญญัติว่า “นับแต่วันที่พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา 15 ใช้บังคับ ถ้าผู้มีสิทธิในทรัพย์สินนั้นโอนสิทธิให้แก่บุคคลภายนอกผู้รับโอนนั้นมีสิทธิที่จะเรียกร้องได้ก็แต่เฉพาะเงินค่าทดแทนเท่านั้น” เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยจำเลยทั้งสี่มิได้ฎีกาโต้เถียงว่า หลังจากที่มีการเวนคืนที่ดินทั้งห้าแปลงดังกล่าวแล้วได้มีการโอนสิทธิในที่ดินไปยังโจทก์ทั้งสาม โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นผู้รับโอนย่อมมีสิทธิเรียกร้องเงินค่าทดแทนได้
ส่วนปัญหาเกี่ยวกับจำนวนเงินค่าทดแทนที่ดินทั้งห้าแปลงที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้โจทก์ทั้งสามในราคาตารางวาละ 30,000 บาท ซึ่งโจทก์ทั้งสามและจำเลยทั้งสี่ต่างฎีกาโต้แย้งว่าไม่ถูกต้องนั้น เห็นว่า แม้การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในคดีนี้จะดำเนินการโดยอาศัย พ.ร.ฎ. กำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงแผ่นดิน สายธนบุรี – สมุทรสาคร – สมุทรสงคราม – ปากท่อ พ.ศ. 2508 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคม 2508 และประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 225 ลงวันที่ 14 ตุลาคม 2515 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคม 2515 ก็ตาม แต่เมื่อการดำเนินการดังกล่าวยังไม่เสร็จสิ้นจนมี พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 และประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 ประกาศ ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2534 ออกมาใช้บังคับอีกทั้งไม่มี พ.ร.บ. เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฉบับใดบัญญัติถึงหลักเกณฑ์ในการกำหนดเงินค่าทดแทนไว้เป็นพิเศษโดยเฉพาะ ดังนั้น การพิจารณาว่าโจทก์ทั้งสามควรได้รับเงินค่าทดแทนเท่าใดจึงต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 21 แห่ง พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ที่บัญญัติให้กำหนดโดยคำนึงถึงราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 6 ราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่มีการตีราคาไว้เพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่ ราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม สภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์นั้นและเหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืน ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคม ที่โจทก์ทั้งสามฎีกาว่า ที่ดินทั้งห้าแปลงที่ถูกเวนคืนอยู่ในทำเลที่มีความเจริญมากควรมีราคาไม่น้อยกว่าตารางวาละ 80,000 บาท นั้น เห็นว่า การพิจารณากำหนดเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งสามตามปกติต้องถือตามราคาซื้อขายที่ดินในท้องตลาดตามที่เป็นอยู่ในวันที่พระราชกฤษฎีกาฯ ใช้บังคับ จะถือเอาราคาภายหลังจากที่มีการสร้างแล้วเสร็จมาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาไม่ได้ เพราะเมื่อมีการสร้างทางหลวงแผ่นดิน สายธนบุรี – ปากท่อ เสร็จสมบูรณ์แล้วย่อมทำให้สภาพของที่ดินในบริเวณนั้นเปลี่ยนแปลงจากในขณะเริ่มต้นดำเนินการเวนคืนและมีราคาสูงขึ้นกว่าเดิมมาก จึงไม่อาจนำราคาซื้อขายที่ดินที่โจทก์ทั้งสามกล่าวอ้างในฎีกาอันเป็นเวลาหลังจากที่มีการเวนคืนและสร้างทางเสร็จแล้วกว่า 10 ปี มาเป็นเกณฑ์ในการกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินพิพาทได้ อย่างไรก็ดี การที่ฝ่ายจำเลยเพิ่งนำเงินค่าทดแทนที่ดินไปฝากไว้ที่ธนาคารออมสินเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2536 ภายหลังจากวันที่พระราชกฤษฎีกาฯ มีผลใช้บังคับแล้วถึงเกือบสามสิบปีเป็นกรณีที่ฝ่ายจำเลยไม่ดำเนินการให้มีการจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินภายในเวลาอันควร เป็นการดำเนินการจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินที่ล่าช้าไม่เป็นไปตามครรลองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และเป็นที่เห็นได้อยู่ในตัวว่าการกระทำดังกล่าวย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของที่ดินพิพาท ดังนั้น การที่ฝ่ายจำเลยกำหนดเงินค่าทดแทนแก่โจทก์ทั้งสามในราคาตารางวาละ 10 บาท โดยใช้หลักเกณฑ์ตามมาตรา 21 (3) เพียงประการเดียวซึ่งใช้ฐานที่ตั้งแห่งการกำหนดราคาในวันที่พระราชกฤษฎีกาฯ มีผลใช้บังคับในวันที่ 10 กรกฎาคม 2508 ย่อมไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ทั้งสาม หลักเกณฑ์ที่จะควรนำมาคำนึงในการกำหนดเงินค่าทดแทนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่โจทก์ทั้งสาม และสังคมต้องเปลี่ยนวันอันเป็นฐานที่ตั้งแห่งการกำหนดราคาของอสังหาริมทรัพย์จากวันที่พระราชกฤษฎีกาฯ มีผลใช้บังคับในวันที่ 10 กรกฎาคม 2508 มาเป็นกลางปี 2533 อันเป็นช่วงเวลาก่อนที่ฝ่ายจำเลยจะมีหนังสือถึงโจทก์ทั้งสามให้ไปตกลงราคาค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเขตทางหลวงประมาณ 2 ปี ระยะเวลาดังกล่าวเทียบเคียงจากระยะเวลาที่ควรต้องใช้ในกรณีปกติที่มีการดำเนินการกำหนดเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ โดยอาศัยพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนตามมาตรา 6 และดำเนินการแจ้งให้มาตกลงซื้อขายตามมาตรา 10 แห่ง พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ส่วนสภาพและที่ตั้งของที่ดินพิพาทต้องคำนึงตามสภาพและที่ตั้งของที่ดินพิพาทก่อนการเวนคืนเพื่อสร้างทางหลวงแผ่นดินสายนี้ที่เปลี่ยนแปลงไปตามปกติจนถึงกลางปี 2533 ว่าหากไม่มีการก่อสร้างทางหลวงแผ่นดินสายนี้แล้วสภาพและที่ตั้งของที่ดินพิพาทในกลางปี 2533 เป็นเช่นไร ก็ต้องคำนึงตามสภาพที่เป็นเช่นนั้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 7,065,370 บาท โจทก์ที่ 2 และที่ 3 จำนวน 16,435,282.50 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน แต่ไม่เกินร้อยละ 9 ต่อปีของต้นเงินแต่ละจำนวนนับแต่วันที่ 22 เมษายน 2536 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์แทนโจทก์ทั้งสาม โดยกำหนดค่าทนายความรวม 30,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share