คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 338/2508

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินมิได้กล่าวถึงกรณีที่ผู้จะขายไม่สามารถขายได้เพราะที่ดินเป็นของบุคคลอื่น เช่นนี้ผู้จะซื้อย่อมเรียกค่าเสียหายแทนการไม่ชำระหนี้ได้ตามเรื่องผิดสัญญาทั่วไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ทำสัญญาจะขายสวนยางพาราให้โจทก์แล้วไม่โอนขายให้โจทก์ได้รับความเสียหาย คือ เสียเงินวางมัดจำ 7,000 บาท ลงทุนแผ้วถางปลูกสร้าง 16,000 บาท และตามสัญญาข้อ 4 จำเลยต้องใช้เงินให้โจทก์อีกโสดหนึ่ง 2,000 บาท
จำเลยขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยคืนเงินมัดจำ 7,000 บาท และใช้ค่าเสียหาย2,000 บาทแก่โจทก์
โจทก์อุทธรณ์ขอให้จำเลยใช้ค่าเสียหายที่โจทก์ได้ลงทุนก่อสร้างปลูกยางเป็นเงิน 16,000 บาทด้วย
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า จำเลยต้องรับผิดแต่เมื่อศาลชั้นต้นให้จำเลยต้องรับผิดตามสัญญาข้อ 4 เป็นเงิน 2,000 บาทแล้ว ก็ต้องลดจำนวนเงิน 16,000 บาท ลงเหลือเพียง 14,000 บาท พิพากษาแก้ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเป็นค่าลงทุนแผ้วถางปลูกสร้างในที่ดินเงิน 14,000 บาทให้โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกาว่า โจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหายได้เพียง 2,000 บาท ตามสัญญาข้อ 4 เท่านั้น
ศาลฎีกาตรวจสำนวนแล้ว หนังสือสัญญามัดจำลงวันที่ 10 ตุลาคม 2500 ข้อ 4 มีความว่า “ฯลฯ ถ้าผู้ให้สัญญา (ผู้จะขายคือ นางเกี้ยวจำเลย) ไม่ยอมขายที่ดินให้กับผู้ถือสัญญา (ผู้จะซื้อคือ โจทก์) ผู้ให้สัญญายอมให้ผู้ถือสัญญาฟ้องร้องต่อศาลขอให้ศาลบังคับผู้ให้สัญญาขายที่ดินให้กับผู้ถือสัญญาเรียกค่าเสียหายอีกโสดหนึ่งเป็นเงิน 2,000 บาท ฯลฯ” ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยศาลอุทธรณ์ที่วินิจฉัยว่าสัญญาข้อนี้ต้องแปลว่า ถ้าจำเลยสามารถขายที่ดินได้ แต่ไม่ยอมขาย โจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้ศาลบังคับให้ขายและเรียกค่าเสียหายได้อีกโสดหนึ่งเป็นเงิน 2,000 บาท กล่าวคือ เป็นสัญญาที่กำหนดให้ค่าเสียหายเพิ่มเติมการชำระหนี้ ซึ่งโจทก์มีสิทธิเรียกร้องทั้งสองประการควบคู่กัน แต่ข้อสัญญามิได้กล่าวถึงกรณีที่จำเลยไม่สามารถขายได้ เพราะที่ดินเป็นของบุคคลอื่น กรณีเช่นนี้จึงต้องบังคับตามเรื่องผิดสัญญาทั่วไป ซึ่งโจทก์เรียกค่าเสียหายแทนการที่จำเลยไม่ชำระหนี้ได้ ตามหลักกฎหมายเรื่องค่าเสียหายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 222 อันเป็นคนละเรื่องกับค่าเสียหายที่กำหนดไว้ตามข้อสัญญาดังกล่าวข้างต้น และจะถือว่าเป็นการเรียกร้องค่าเสียหายนอกเหนือข้อสัญญาหาได้ไม่ เพราะเป็นผลบังคับของกฎหมายตามลักษณะของสัญญาในตัวในคดีนี้โจทก์ก็ได้นำสืบค่าเสียหายจำนวน 16,000 บาทได้ ดังที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยไว้แล้ว จำเลยจึงต้องรับผิดชำระค่าเสียหายจำนวนนี้แก่โจทก์
พิพากษายืน

Share