แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสอง และริบรถยนต์ของกลาง จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ ส่วนจำเลยที่ 2 ไม่อุทธรณ์เพราะพอใจในโทษของตนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คดีเฉพาะตัวของจำเลยที่ 2 ย่อมถึงที่สุด แต่จะถือว่าประเด็นในเรื่องการริบรถยนต์ของกลางถึงที่สุดตามโทษของจำเลยที่ 2 ทำนองเดียวกับคดีแพ่งที่มีการถึงที่สุดเป็นประเด็น ๆ ไปหาได้ไม่ เพราะปัญหาในคดีอาญาไม่ว่าจะเป็นเรื่องการลงโทษจำเลยตลอดจนริบทรัพย์สินล้วนเป็นปัญหาที่ศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นได้ทั้งสิ้น แม้คู่ความจะมิได้ยกขึ้นอ้างในอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 185 วรรคหนึ่ง,195 วรรคสอง และมาตรา 213 คำพิพากษาเกี่ยวกับรถยนต์ของกลางจึงยังไม่ถึงที่สุด
เมื่อคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ของกลางจึงยังเป็นของบริษัทเงินทุน ท. อยู่ยังไม่ได้ตกเป็นของแผ่นดิน การที่ผู้ร้องซื้อสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ของกลางและจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ขณะที่คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 และคำพิพากษายังไม่ถึงที่สุด ผู้ร้องย่อมเป็นเจ้าของแท้จริงในรถยนต์ของกลางได้โดยชอบ เมื่อศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2ให้โจทก์และจำเลยที่ 1 ฟังในวันที่ 25 มกราคม 2542 และไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา คำพิพากษาคดีนี้ย่อมถึงที่สุดในวันที่ 26กุมภาพันธ์ 2542 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอคืนรถยนต์ของกลางคืนเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2543 จึงเป็นการยื่นภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง,66 วรรคหนึ่ง และริบรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน ป – 3118 สุโขทัยของกลาง
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์กระบะของกลางและมิได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิด ขอให้สั่งคืนรถยนต์กระบะของกลางแก่ผู้ร้อง
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์กระบะของกลางที่ศาลสั่งริบ หรือแม้ผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถคันดังกล่าวผู้ร้องก็รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่าเดิมรถยนต์กระบะของกลางเป็นของบริษัทเงินทุนไทยธำรงจำกัด ซึ่งได้ให้จำเลยที่ 2 เช่าซื้อไปเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2540 ต่อมาวันที่ 8พฤษภาคม 2540 เวลาประมาณ 6 นาฬิกา เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยทั้งสองได้พร้อมรถยนต์กระบะของกลาง โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ขับส่วนจำเลยที่ 1 ยืนอยู่ที่กระบะท้ายและโยนเมทแอมเฟตามีน 1,400 เม็ดทิ้งลงข้างทางซึ่งเจ้าพนักงานตำรวจยึดไว้ได้ บริษัทเงินทุนไทยธำรง จำกัดบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแก่จำเลยที่ 2 แล้ว หลังจากนั้นศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกคนละ 10 ปี และริบรถยนต์กระบะของกลางโดยอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2540 จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ส่วนจำเลยที่ 2 ไม่อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืนโดยศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้โจทก์และจำเลยที่ 1 ฟัง เมื่อวันที่ 25มกราคม 2542 ซึ่งไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ส่วนบริษัทเงินทุนไทยธำรง จำกัดถูกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีคำสั่งระงับการดำเนินกิจการเมื่อวันที่ 5สิงหาคม 2540 และให้องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินดำเนินการแก้ไขฟื้นฟูฐานะ แต่บริษัทเงินทุนไทยธำรง จำกัด ไม่อาจดำเนินกิจการต่อไปได้จึงมีการชำระบัญชีและนำทรัพย์สินของบริษัทออกขายทอดตลาดผู้ร้องซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคลประเภทกองทุนรวมได้เข้าประมูลซื้อทรัพย์สินจากการขายทอดตลาดดังกล่าวได้ ซึ่งรวมทั้งสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์กระบะของกลางในวันที่ 30 กรกฎาคม 2541 มีการจดทะเบียนให้ผู้ร้องเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในรถยนต์กระบะของกลางเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2541ผู้ร้องยื่นคำร้องขอคืนรถยนต์กระบะของกลางเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2543คดีมีปัญหาตามฎีกาของผู้ร้องเป็นข้อแรกว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องขอรถยนต์กระบะของกลางคืนเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุดหรือไม่ในปัญหาข้อนี้เห็นว่า คำพิพากษาจะถึงที่สุดเมื่อใดย่อมเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 147 วรรคสอง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 กล่าวคือ เมื่อระยะเวลาที่อาจอุทธรณ์หรือฎีกาได้นั้นสิ้นสุดลง คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2540 แต่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ส่วนจำเลยที่ 2 ไม่อุทธรณ์ คดีเฉพาะตัวจำเลยที่ 2 ย่อมถึงที่สุดไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และศาลชั้นต้นต้องออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุด สำหรับจำเลยที่ 2 เมื่อระยะเวลาที่จำเลยที่ 2 อาจยื่นอุทธรณ์ได้นั้นสิ้นสุดลง ซึ่งเห็นได้ว่าเป็นเรื่องเฉพาะตัวของจำเลยที่ 2 เมื่อจำเลยที่ 2พอใจในโทษของตนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยที่ 2 ก็ไม่ใช้สิทธิอุทธรณ์ และจะให้จำเลยที่ 2 อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นเฉพาะในเรื่องการริบรถยนต์กระบะของกลางอย่างเดียว จำเลยที่ 2 คงไม่กระทำเพราะรถยนต์กระบะของกลางไม่ใช่ของตนจะถือว่าประเด็นในเรื่องการริบรถยนต์กระบะของกลางถึงที่สุดตามโทษของจำเลยที่ 2 ทำนองเดียวกันกับคดีแพ่งที่มีการถึงที่สุดเป็นประเด็น ๆ ไปหาได้ไม่ เพราะปัญหาในคดีอาญาไม่ว่าจะเป็นเรื่องการลงโทษจำเลยตลอดจนการริบทรัพย์สิน ล้วนเป็นปัญหาที่ศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นได้ทั้งสิ้นแม้คู่ความจะมิได้ยกขึ้นอ้างในอุทธรณ์ก็ตามทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง,195 วรรคสอง และมาตรา 213 ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 2 อาจยกปัญหาเรื่องการริบรถยนต์กระบะของกลางขึ้นวินิจฉัยและพิพากษาแก้เป็นว่าไม่ริบรถยนต์กระบะของกลางก็ชอบที่จะทำได้ เห็นได้ว่าคำพิพากษาเกี่ยวกับรถยนต์กระบะของกลางยังไม่ถึงที่สุดดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย เมื่อคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 กรรมสิทธิ์ในรถยนต์กระบะของกลางจึงยังเป็นของบริษัทเงินทุนไทยธำรง จำกัด อยู่ ยังไม่ตกเป็นของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 35 และอาจมีการโอนกรรมสิทธิ์กันได้อีกก่อนที่คำพิพากษาจะถึงที่สุด การที่ผู้ร้องซื้อสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์กระบะของกลางเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2541 และจดทะเบียนเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในวันที่ 17 สิงหาคม 2541 จึงเป็นการรับโอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์กระบะของกลางขณะที่คดียังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 และคำพิพากษายังไม่ถึงที่สุด ผู้ร้องย่อมเข้าเป็นเจ้าของแท้จริงในรถยนต์กระบะของกลางได้โดยชอบ เมื่อปรากฏว่าศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้โจทก์และจำเลยที่ 1 ฟังในวันที่ 25มกราคม 2542 กำหนดเวลาที่คู่ความอาจยื่นฎีกาได้คือภายในวันที่ 25กุมภาพันธ์ 2542 เมื่อไม่มีคู่ความฝ่ายใดยื่นฎีกาภายในกำหนดเวลาดังกล่าว คำพิพากษาในคดีนี้ย่อมถึงที่สุดในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2542ผู้ร้องยื่นคำร้องขอรถยนต์กระบะของกลางคืนเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์2543 จึงเป็นการยื่นภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วฎีกาข้อนี้ของผู้ร้องฟังขึ้น…”
พิพากษากลับ ให้คืนรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน ป – 3118สุโขทัย ของกลางแก่ผู้ร้อง