แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้ข้อตกลงในใบตราส่งจะระบุให้นำข้อพิพาทที่เกิดขึ้นฟ้องต่อศาลเมืองฮ่องกง แต่ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 5 และมาตรา 7 (5) ให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งเกี่ยวกับการขนส่งระหว่างประเทศ คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 ผู้ขนส่งซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศให้รับผิดชดใช้ค่าเสียหายจากการที่สินค้าได้เสียหายหรือสูญหายในระหว่างการขนส่งตามสัญญารับขนของทางทะเลระหว่างประเทศไทยกับประเทศสเปนอันเป็นการขนส่งระหว่างประเทศ และให้จำเลยที่ 1 ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่กรุงเทพมหานครในฐานะตัวแทนผู้ทำสัญญารับขนดังกล่าวแทนจำเลยที่ 2 ซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศให้ร่วมรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 824 มูลคดีจึงเกิดจากสัญญารับขนของทางทะเลที่ทำในราชอาณาจักรไทย กฎหมายที่ใช้บังคับคือกฎหมายไทย พยานหลักฐานต่าง ๆ ก็อยู่ในเขตอำนาจศาลไทยเป็นส่วนใหญ่ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางซึ่งเป็นศาลที่มีเขตอำนาจย่อมพิจารณาพิพากษาข้อพิพาทที่เกิดขึ้นได้ด้วย หาจำต้องนำคดีไปฟ้องยังศาลเมืองฮ่องกงแต่เพียงแห่งเดียวเท่านั้นไม่
กรณีพิพาทเป็นการขนส่งทางทะเลอันเป็นการขนส่งระหว่างประเทศ และปรากฏว่าคู่กรณีฝ่ายหนึ่งคือบริษัท อ. เป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย กฎหมายที่ใช้บังคับกับสัญญารับขนของทางทะเลดังกล่าวจึงต้องเป็น พ.ร.บ. การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 469,326.38 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถึงฟ้อง ซึ่งโจทก์ขอคิดเพียง 3 เดือน เป็นเงิน 8,780 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 469,326.38 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันและแทนกันชำระเงิน 469,326.38 บาท ดอกเบี้ยนับถึงวันฟ้อง 8,780 บาท และชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 469,326.38 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันและแทนกันชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 9,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า บริษัทเอส ที ยูไนเต็ด เทรดเดอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ขายในประเทศไทยขายเสื้อผ้าสำเร็จรูปให้แก่ผู้ซื้อในประเทศสเปน รวม 5 ครั้ง ผู้ขายส่งสินค้าพิพาทจากประเทศไทยให้แก่ผู้ซื้อที่เมืองเทเนรีฟ ประเทศสเปน และติดต่อเกี่ยวกับการขนส่งกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนในประเทศไทยของจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 เป็นตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศ มอบหมายให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนผู้ติดต่อกับผู้ขายติดต่อกับสายการเดินเรือเมอร์สค สาขากรุงเทพมหานคร และเป็นผู้ลงนามออกใบตราส่งแก่ผู้ขาย ซึ่งตามใบตราส่งดังกล่าวจำเลยที่ 1 ลงชื่อในช่องผู้ขนส่งโดยระบุไว้ว่าลงนามแทนผู้ขนส่ง กับจำเลยที่ 1 ยังได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 2 ให้รับเงินต่างๆ แทน สินค้าพิพาทถูกบรรจุในตู้สินค้าและมีเงื่อนไขในการขนส่งแบบ CFS/CFS เมื่อสินค้าไปถึงปลายทางปรากฏว่ามีกล่องสินค้าฉีกขาดและสินค้าภายในกล่องสูญหายไปบางส่วน ผู้ซื้อซึ่งเป็นผู้รับสลักหลังกรมธรรม์ประกันภัยและใบตราส่งได้เรียกร้องค่าเสียหายไปยังผู้ขนส่ง แต่ผู้ขนส่งไม่ยอมชดใช้ให้ ผู้ซื้อจึงเรียกร้องมายังโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัย โจทก์ชำระค่าเสียหายไปเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2545
ปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองที่เห็นสมควรวินิจฉัยมีว่า โจทก์มีอำนาจเลือกฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง โดยไม่ฟ้องที่ศาลเมืองฮ่องกงตามที่ใบตราส่งระบุไว้ให้เป็นศาลระงับข้อพิพาทได้หรือไม่ เห็นว่า ตามมาตรา 5 และมาตรา 7 (5) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและกาค้าระหว่างประเทศกลางมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งเกี่ยวกับการขนส่งระหว่างประเทศ คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 ผู้ขนส่งซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศรับผิดชดใช้ค่าเสียหายจากการที่สินค้าได้เสียหายและสูญหายไปในระหว่างการขนส่ง ตามสัญญารับขนของทางทะเลระหว่างประเทศไทยไปยังประเทศสเปนอันเป็นการขนส่งระหว่างประเทศและให้จำเลยที่ 1 ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่กรุงเทพมหานครในฐานะตัวแทนผู้ทำสัญญารับขนดังกล่าวแทนจำเลยที่ 2 ซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศร่วมรับผิดโดยผลของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 824 จึงเป็นการฟ้องคดีแพ่งเกี่ยวกับการขนส่งระหว่างประเทศ โจทก์จึงมีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางตามบทมาตราดังกล่าวได้ด้วย หาจำต้องนำไปฟ้องยังศาลแห่งเมืองฮ่องกงแต่เพียงแห่งเดียวเท่านั้นไม่ ทั้งนี้ เนื่องจากมูลคดีพิพาทคือ สัญญารับขนของทางทะเลเกิดในราชอาณาจักรไทย กฎหมายที่ใช้บังคับคือ กฎหมายไทย พยานหลักฐานต่างๆ ก็อยู่ในเขตอำนาจศาลไทยเป็นส่วนใหญ่ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางซึ่งเป็นศาลที่มีแต่อำนาจย่อมพิจารณาพิพากษาข้อพิพาทที่เกิดขึ้นได้ ส่วนที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์มาด้วยว่า ตามใบตราส่งระบุว่าต้องใช้กฎหมายของเมืองฮ่องกง จึงต้องใช้กฎหมายของเมืองฮ่องกงกับประเด็นข้อพิพาทในคดีนี้ด้วยนั้น เห็นว่า กรณีพิพาทเป็นการขนส่งทางทะเลจากที่แห่งหนึ่งในราชอาณาจักรไปยังที่อีกแห่งหนึ่งนอกราชอาณาจักร และปรากฏว่าคู่กรณีฝ่ายหนึ่งคือบริษัทเอส ทียูไนเต็ด เทรดเดอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ส่งของ เป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย กฎหมายที่ใช้บังคับกับสัญญารับขนของทางทะเลจึงต้องเป็นพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น…
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 272,181.66 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าว นับถึงฟ้องเป็นเวลา 3 เดือน และดอกเบี้ยอัตราเดียวกันนับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ.