แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สัญญาแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายสินค้ามีข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการที่คู่สัญญาตกลงกันให้ระงับข้อพิพาทโดยใช้วิธีอนุญาโตตุลาการ เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยโดยมิได้นำข้อพิพาทเสนอต่ออนุญาโตตุลาการ จำเลยย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลภายในระยะเวลาที่มีสิทธิยื่นคำให้การ ให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีได้
การที่จำเลยมิได้ทำคำร้องยื่นต่อศาลให้มีคำสั่งจำหน่ายคดี แต่ได้ยื่นคำให้การโต้แย้งว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เนื่องจากสัญญาแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายระบุถึงการระงับข้อพิพาทว่าให้ใช้วิธีอนุญาโตตุลาการ ถือได้ว่าจำเลยประสงค์ให้ศาลไต่สวนและมีคำสั่งจำหน่ายคดีแล้ว แม้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาจะมิได้ไต่สวนปัญหาเรื่องข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการไว้โดยตรง แต่ก็ได้ทำการวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวก่อนชี้สองสถาน และในชั้นพิจารณาจำเลยก็ได้นำสืบพยานหลักฐานเพียงพอให้ศาลรับฟังได้ว่ามีข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการอยู่ ย่อมถือว่าข้อเท็จจริงปรากฏในทางพิจารณาเพียงพอที่ศาลจะไม่ต้องทำการไต่สวนต่อไป ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจึงชอบที่จะจำหน่ายคดีเพื่อให้คู่ความไปดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการ การที่ศาลมิได้มีคำสั่งดังกล่าว แต่กลับพิจารณาพิพากษาคดีต่อไปจึงไม่ชอบ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าสินค้าจำนวน 5,283,664.90 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินจำนวน 4,762,526.55 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 4,762,526.55 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 16 กันยายน 2545) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท ค่าขึ้นศาลให้จำเลยใช้แทนเฉพาะส่วนที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า การที่โจทก์ฟ้องคดีโดยไม่ได้เสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดก่อนเป็นการชอบหรือไม่ เห็นว่า โจทก์จำเลยมีนิติสัมพันธ์กันตามสัญญาตั้งตัวแทนจำหน่ายสินค้า ซึ่งตามสัญญาดังกล่าวนอกจากจะกำหนดสิทธิและหน้าที่ของคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายในการปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาในฐานะของผู้แต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายและตัวแทนจำหน่ายแล้ว คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายยังได้กำหนดราคาสินค้า วิธีการ และระยะเวลาในการชำระสินค้าไว้ในข้อ 7 ของสัญญา ดังนั้น สัญญาดังกล่าวจึงมีข้อสัญญาเกี่ยวกับการซื้อขายสินค้าระหว่างโจทก์กับจำเลยรวมอยู่ด้วย เมื่อข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยเกี่ยวกับการซื้อขายสินค้าตามสัญญาดังกล่าว จึงต้องนำสัญญานั้นมาใช้บังคับ เมื่อสัญญาดังกล่าวมีข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการระบุไว้ในข้อ 17 ของสัญญาซึ่งแปลความแล้วได้ความหมายว่า “สัญญาฉบับนี้ให้ตีความตามกฎหมายมาเลเซีย ปัญหาและข้อขัดแย้งใดๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างคู่สัญญาไม่ว่าในเวลาใด ให้นำเสนอต่ออนุญาโตตุลาการภายใต้บทบัญญัติของพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ ค.ศ.1950 หรือบทบัญญัติที่แก้ไขเพิ่มเติม” จึงเป็นกรณีที่คู่สัญญาตกลงกันในสัญญาให้ระงับข้อพิพาทของคู่ความตามสัญญาดังกล่าวโดยใช้วิธีอนุญาโตตุลาการ ดังนั้น หากคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฟ้องคดีเกี่ยวกับข้อพิพาทตามสัญญาอนุญาโตตุลาการโดยมิได้เสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการตามสัญญา คู่สัญญาฝ่ายที่ถูกฟ้องอาจยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจไม่ช้ากว่าวันยื่นคำให้การตามกฎหมาย ให้มีคำสั่งจำหน่ายคดีเพื่อให้คู่สัญญาไปดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการ และเมื่อศาลทำการไต่สวนแล้วเห็นว่าไม่มีเหตุที่ทำสัญญาอนุญาโตตุลาการนั้นเป็นโมฆะหรือใช้บังคับไม่ได้ หรือมีเหตุที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญานั้นได้ก็ให้มีคำสั่งจำหน่ายคดีนั้นเสีย ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 14 วรรคแรก คดีนี้ปรากฏว่าโจทก์ฟ้องจำเลยโดยมิได้นำข้อพิพาทเสนอต่ออนุญาโตตุลการให้วินิจฉัยชี้ขาดเสียก่อนตามสัญญา อันเป็นการฝ่าฝืนเงื่อนไขของข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการดังกล่าว จำเลยย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลภายในระยะเวลาที่มีสิทธิยื่นคำให้การตามกฎหมาย ให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีเพื่อให้คู่สัญญาไปดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการ คดีนี้จำเลยมิได้ทำคำร้องยื่นต่อศาลให้มีคำสั่งจำหน่ายคดีแต่ได้ยื่นคำให้การโต้แย้งว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เนื่องจากตามสัญญาแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายข้อ 17 ได้ระบุถึงการระงับข้อพิพาทว่าให้ใช้กฎหมายมาเลเซียและให้ใช้วิธีอนุญาโตตุลาการในการขี้ขาดข้อพิพาท จึงถือได้ว่าจำเลยประสงค์จะขอให้ศาลไต่สวนและมีคำสั่งจำหน่ายคดีเพราะเหตุที่โจทก์ไม่ได้เสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาดตามสัญญา แม้ในคำให้การจำเลยจะได้ปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ในเรื่องอื่นๆ มาด้วยและขอให้ยกฟ้องก็ตาม กรณีไม่ถือว่าจำเลยได้สละข้อตกลงเกี่ยวกับการระงับข้อพิพาทโดยวิธีอนุญาโตตุลาการตามที่ระบุไว้ในสัญญาแม้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจะไม่ได้ทำการไต่สวนในปัญหาเรื่องข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการโดยตรงตามมาตรา 14 ดังกล่าวก็ตาม แต่ศาลก็ได้ทำการวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวก่อนการชี้สองสถาน และในชั้นพิจารณาคู่ความก็นำสืบพยานหลักฐานเพียงพอที่จะให้ศาลรับฟังว่าโจทก์และจำเลยทำสัญญาแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายสินค้า และในสัญญาดังกล่าวมีข้อสัญญาให้ระงับข้อพิพาทโดยใช้วิธีอนุญาโตตุลาการ ดังนี้ย่อมถือได้ว่าข้อเท็จจริงปรากฏในทางพิจารณาเพียงพอที่ศาลจะไม่ต้องทำการไต่สวนตามมาตรา 14 ต่อไปแล้ว และกรณีไม่ปรากฏว่ามีเหตุที่ทำให้สัญญาอนุญาตโตตุลาการนั้นเป็นโมฆะ หรือใช้บังคับไม่ได้ หรือมีเหตุที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญานั้นได้ คู่ความจึงต้องผูกพันตามเงื่อนไขในข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการในกรณีที่มีข้อพิพาทเกิดขึ้น เมื่อโจทก์ไม่ได้ปฏิบัติตามข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการโดยนำคดีมาฟ้องต่อศาล และจำเลยได้โต้แย้งไว้แล้ว จึงชอบที่ศาลจะต้องมีคำสั่งจำหน่ายคดีเพื่อให้คู่ความไปดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการเกี่ยวกับข้อพิพาทตามสัญญาดังกล่าว ซึ่งย่อมมีผลให้มีคดีตามคำฟ้องของโจทก์ที่จะต้องพิจารณาต่อไป ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่ได้มีคำสั่งจำหน่ายคดี แต่กลับพิจารณาและพิพากษาคดีนี้ไปจึงไม่ชอบ อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้น กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของจำเลยอีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป
พิพากษายกคำพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ให้จำหน่ายคดีเพื่อให้โจทก์และจำเลยไปดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการคืนค่าขึ้นศาลในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางให้แก่โจทก์ และคืนค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์ให้แก่จำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมอื่นทั้งสองศาลให้เป็นพับ.