คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14860/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 114 ถ้านิติกรรมที่ขอเพิกถอนการฉ้อฉลตามมาตรา 113 นั้น เกิดขึ้นภายในระยะเวลาหนึ่งปีก่อนมีการขอให้ล้มละลายและภายหลังนั้น หรือเป็นการทำให้โดยเสน่หาหรือเป็นการที่ลูกหนี้ได้รับค่าตอบแทนน้อยเกินสมควร ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นการกระทำที่ลูกหนี้และผู้ที่ได้ลาภงอกแต่การนั้นรู้อยู่ว่าเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบ จำเลยเป็นหนี้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ตามคำพิพากษา ของศาลแพ่ง โดยก่อนสิ้นกำหนดระยะเวลาบังคับคดีแพ่งและก่อนโจทก์นำมูลหนี้ดังกล่าวมาฟ้องจำเลยให้ล้มละลาย จำเลยได้จดทะเบียนการให้โอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทให้แก่ผู้คัดค้านบุตรของจำเลย การโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทดังกล่าวเป็นนิติกรรมที่กระทำภายในระยะเวลา 1 ปี ก่อนมีการขอให้จำเลยล้มละลายและเป็นการทำให้โดยเสน่หา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นการกระทำที่ลูกหนี้จำเลยและผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นรู้อยู่ว่าเป็นทางให้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ต้องเสียเปรียบ จำเลยและผู้คัดค้านมีหน้าที่นำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าวตามมาตรา 114
การที่ผู้คัดค้านเป็นบุตรซึ่งเป็นญาติใกล้ชิดกับจำเลยกล่าวอ้างว่า ก่อนรับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทได้นำเงินมาชำระหนี้เจ้าหนี้อื่นแทนจำเลยมารดาของตนเพื่อปลดภาระจำนอง แสดงว่าผู้คัดค้านย่อมทราบดีอยู่แล้วว่าจำเลยไม่สามารถชำระหนี้เจ้าหนี้ได้และจำเลยเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว การที่บุตรชำระหนี้แทนมารดาเป็นหน้าที่ทางศีลธรรมประการหนึ่ง ไม่มีสิทธิได้รับคืนทรัพย์แต่ประการใด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 408 (3) นิติกรรมการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทระหว่างจำเลยกับผู้คัดค้านจึงเป็นการยกให้โดยเสน่หาตามที่ระบุไว้ในสารบัญจดทะเบียน มิอาจรับฟังเป็นอื่นได้ ทั้งในชั้นพิจารณาทนายผู้คัดค้านแถลงไม่ติดใจนำพยานเข้าไต่สวน จึงไม่มีข้อเท็จจริงใดนำมาหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายได้ การที่จำเลยทำนิติกรรมยกกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทให้แก่ผู้คัดค้านบุตรของจำเลยโดยเสน่หาในขณะที่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยไม่เพียงพอชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ได้ พฤติการณ์ฟังได้ว่า จำเลยและผู้คัดค้านรู้อยู่ว่าการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทดังกล่าวเป็นทางให้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์เสียเปรียบอันเป็นการกระทำโดยการฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา 237

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2553 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2553 และพิพากษาให้จำเลยล้มละลายเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2554
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งเพิกถอนการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทระหว่างจำเลยกับผู้คัดค้านกลับคืนสู่กองทรัพย์สินของจำเลย หากไม่ยอมปฏิบัติตามให้ถือเอาคำสั่งหรือคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ในกรณีไม่สามารถกลับคืนสู่ฐานะเดิมได้ขอให้ผู้คัดค้านชดใช้ราคาห้องชุดพิพาทเป็นเงิน 744,120 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้เพิกถอนการโอนเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนห้องชุดพิพาทเลขที่ 614/20 อาคารชุดพิศวิทย์ ทาวเวอร์ แขวงลาดยาว เขต (บางซื่อ) จตุจักร กรุงเทพมหานคร ระหว่างจำเลยกับผู้คัดค้านและให้กลับคืนสู่ฐานะเดิม หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำสั่งศาลแทนการแสดงเจตนา หากไม่สามารถกลับคืนสู่ฐานะเดิมได้ ให้ผู้คัดค้านชดใช้ราคาห้องชุดพิพาทเป็นเงิน 744,120 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้คัดค้านว่า คำสั่งของศาลล้มละลายกลางที่ให้เพิกถอนการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทระหว่างจำเลยกับผู้คัดค้านชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 114 ถ้านิติกรรมที่ขอเพิกถอนการฉ้อฉลตามมาตรา 113 นั้น เกิดขึ้นภายในระยะเวลาหนึ่งปีก่อนมีการขอให้ล้มละลายและภายหลังนั้น หรือเป็นการทำให้โดยเสน่หาหรือเป็นการที่ลูกหนี้ได้รับค่าตอบแทนน้อยเกินสมควร ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นการกระทำที่ลูกหนี้และผู้ที่ได้ลาภงอกแต่การนั้นรู้อยู่ว่าเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบ คดีนี้ข้อเท็จจริงฟังยุติในเบื้องต้นแล้วว่า จำเลยเป็นหนี้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ตามคำพิพากษาฉบับลงวันที่ 27 ธันวาคม 2543 ของศาลแพ่งคดีหมายเลขแดงที่ ธ.18364/2543 โดยก่อนสิ้นกำหนดระยะเวลาบังคับคดีแพ่งและก่อนโจทก์นำมูลหนี้ดังกล่าวมาฟ้องจำเลยให้ล้มละลายเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2553 จำเลยได้จดทะเบียนการให้โอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทให้แก่ผู้คัดค้านบุตรของจำเลยเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2552 ตามสารบัญจดทะเบียนหนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุด การโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทดังกล่าวจึงเป็นนิติกรรมที่กระทำภายในระยะเวลา 1 ปี ก่อนมีการขอให้จำเลยล้มละลายและเป็นการทำให้โดยเสน่หา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นการกระทำที่ลูกหนี้จำเลยและผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นรู้อยู่ว่าเป็นทางให้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ต้องเสียเปรียบ จำเลยและผู้คัดค้านมีหน้าที่นำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าวตามมาตรา 114 คดีนี้ปรากฏว่าจำเลยไม่ยื่นคำคัดค้าน ส่วนผู้คัดค้านแม้ยื่นคำคัดค้านและอุทธรณ์กล่าวอ้างว่ารับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทจากจำเลยโดยมีค่าตอบแทนจากการที่ผู้คัดค้านเข้าชำระหนี้แทนจำเลยโดยการไถ่ถอนจำนองห้องชุดพิพาทจากเจ้าหนี้อื่นและมิได้ทำให้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์เสียเปรียบนั้น การที่ผู้คัดค้านเป็นบุตรซึ่งเป็นญาติใกล้ชิดกับจำเลยกล่าวอ้างว่า ก่อนรับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทได้นำเงินมาชำระหนี้เจ้าหนี้อื่นแทนจำเลยมารดาของตนเพื่อปลดภาระจำนองแสดงว่า ผู้คัดค้านย่อมทราบดีอยู่แล้วว่าจำเลยไม่สามารถชำระหนี้เจ้าหนี้ได้และจำเลยเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว การที่บุตรชำระหนี้แทนมารดาเป็นหน้าที่ทางศีลธรรมประการหนึ่ง ไม่มีสิทธิได้รับคืนทรัพย์แต่ประการใด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 408 (3) นิติกรรมการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทระหว่างจำเลยกับผู้คัดค้านจึงเป็นการยกให้โดยเสน่หาตามที่ระบุไว้ในสารบัญจดทะเบียน มิอาจรับฟังเป็นอื่นได้ ทั้งในชั้นพิจารณาทนายผู้คัดค้านแถลงไม่ติดใจนำพยานเข้าไต่สวน จึงไม่มีข้อเท็จจริงใดนำมาหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายได้ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า การที่จำเลยทำนิติกรรมยกกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทให้แก่ผู้คัดค้านบุตรของจำเลยโดยเสน่หาในขณะที่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยไม่เพียงพอชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ได้ พฤติการณ์ฟังได้ว่า จำเลยและผู้คัดค้านรู้อยู่ว่าการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทดังกล่าวเป็นทางให้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์เสียเปรียบอันเป็นการกระทำโดยการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 คำสั่งของศาลล้มละลายกลางที่ให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวระหว่างจำเลยกับผู้คัดค้านชอบด้วยกฎหมายแล้ว อุทธรณ์ของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share