คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14882/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกเพียงอย่างเดียวของเจ้ามรดกมาเป็นของจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดก จำเลยจึงเป็นผู้ครอบครองทรัพย์มรดกนั้นในฐานะผู้จัดการมรดกแทนทายาทอื่นทุกคนรวมถึงโจทก์ทั้งสองและผู้ร้องสอดทั้งสองด้วย แม้หลังจากนั้นจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกได้จดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทมาเป็นของจำเลยในฐานะส่วนตัว ก็จะถือว่าจำเลยในฐานะส่วนตัวได้เปลี่ยนเจตนาการครอบครองที่ดินพิพาทจากการครอบครองแทนทายาททุกคนมาเป็นการครอบครองในฐานะส่วนตัวเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียวหาได้ไม่ เพราะจำเลยยังมิได้บอกกล่าวไปยังทายาททุกคนว่าไม่มีเจตนายึดถือทรัพย์มรดกแทนทายาททุกคนต่อไป ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 ดังนั้น เมื่อจำเลยยังมิได้ดำเนินการจัดแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาททุกคนตามสิทธิของทายาทที่กฎหมายกำหนดไว้หรือตามที่ทายาทตกลงกัน ก็ต้องถือว่าการจัดการทรัพย์มรดกยังไม่เสร็จสิ้น จึงจะนำอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง มาใช้บังคับไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยรังวัดแบ่งแยกที่ดินและจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 2158 ตำบล (หมูม้น) บ้านเขือง อำเภอธวัชบุรี (ปัจจุบันอำเภอเชียงขวัญ) จังหวัดร้อยเอ็ด ให้แก่โจทก์ทั้งสองคนละ 1 งาน หากจำเลยไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา นายสมหมาย ผู้ร้องสอดที่ 1 นายประเสริฐ ผู้ร้องสอดที่ 2 ยื่นคำร้องสอดและขอแก้ไขคำร้องสอดขอให้จำเลยแบ่งปันทรัพย์มรดกของนายแสงอันเป็นที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 2158 ตำบล (หมูม้น) บ้านเขือง อำเภอธวัชบุรี (ปัจจุบันอำเภอเชียงขวัญ) จังหวัดร้อยเอ็ด เนื้อที่ 3 งาน 20 ตารางวา ให้ผู้ร้องสอดทั้งสองคนละ 1 ใน 8 ส่วน ของเนื้อที่ทั้งหมด
โจทก์ทั้งสองและจำเลยให้การแก้คำร้องสอดขอให้ยกคำร้องสอด
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 2158 ตำบล (หมูม้น) บ้านเขือง อำเภอธวัชบุรี (ปัจจุบันอำเภอเชียงขวัญ) จังหวัดร้อยเอ็ด เนื้อที่ 3 งาน 20 ตารางวา ให้แก่โจทก์ทั้งสองและผู้ร้องสอดทั้งสองคนละ 1 ใน 8 ส่วน ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันในชั้นนี้ฟังได้ว่า นางน้อย นายเบ้า นายบุญมี นางดีและจำเลยเป็นบุตรของนายแสงเจ้ามรดกกับนางสี โดยโจทก์ที่ 1 เป็นบุตรของนางน้อย โจทก์ที่ 2 เป็นบุตรนายเบ้า ผู้ร้องสอดที่ 1 เป็นบุตรนายบุญมี และผู้ร้องสอดที่ 2 เป็นบุตรนางดี ที่ดินพิพาทเดิมมีชื่อนายแสงเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง นายแสงถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2528 เมื่อปี 2546 จำเลยได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดกของนายแสง เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2546 จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนายแสงจดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทจากนายแสงให้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดก แล้วจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทให้จำเลยเพียงผู้เดียว
คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า สิทธิเรียกร้องของโจทก์ทั้งสองและผู้ร้องสอดทั้งสองขาดอายุความแล้วหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกเพียงอย่างเดียวของเจ้ามรดกมาเป็นของจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดก จำเลยจึงเป็นผู้ครอบครองทรัพย์มรดกนั้นในฐานะผู้จัดการมรดกแทนทายาทอื่นทุกคนรวมถึงโจทก์ทั้งสองและผู้ร้องสอดทั้งสองด้วย แม้หลังจากนั้นจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกได้จดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทมาเป็นของจำเลยในฐานะส่วนตัว ก็จะถือว่าจำเลยในฐานะส่วนตัวได้เปลี่ยนเจตนาการครอบครองที่ดินพิพาทจากการครอบครองแทนทายาททุกคนมาเป็นการครอบครองในฐานะส่วนตัวเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียวหาได้ไม่ เพราะจำเลยยังมิได้บอกกล่าวไปยังทายาททุกคนว่าไม่มีเจตนายึดถือทรัพย์มรดกแทนทายาททุกคนต่อไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1381 ดังนั้น เมื่อจำเลยยังมิได้ดำเนินการจัดแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาททุกคนตามสิทธิของทายาทที่กฎหมายกำหนดไว้หรือตามที่ทายาทตกลงกัน ก็ต้องถือว่าการจัดการทรัพย์มรดกยังไม่เสร็จสิ้น จึงจะนำอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1733 วรรคสอง มาใช้บังคับไม่ได้ ฟ้องของโจทก์ทั้งสองและผู้ร้องสอดทั้งสองจึงยังไม่ขาดอายุความ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้นชอบแล้วอุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share