คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 747/2512

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 7 บัญญัติห้ามมิให้ทำหรือมีไว้ซึ่งอาวุธปืนหรือเครื่องกระสุนปืน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ ผู้ฝ่าฝืนให้ลงโทษตามมาตรา 72 พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2501 มาตรา 3 วิเคราะห์ศัพท์คำว่า “อาวุธปืน” หมายความรวมตลอดถึงอาวุธปืนทุกชนิด ฯลฯ และส่วนหนึ่งส่วนใดของอาวุธปืนนั้น ๆ ซึ่งรัฐมนตรีเห็นว่าสำคัญ และได้ระบุไว้ในกฎกระทรวง วิเคราะห์ศัพท์คำว่า “เครื่องกระสุนปืน” หมายความรวมตลอดถึงหัวกระสุนโดด กระสุนปลาย กระสุนแตก ฯลฯ หรือเครื่อง หรือสิ่งสำหรับอัด หรือทำ หรือใช้ประกอบเครื่องกระสุนปืน กฎกระทรวงฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2491) กำหนดว่า ส่วนของอาวุธปืนที่จะกล่าวต่อไปนี้ให้ถือว่าเป็นอาวุธปืน คือลำกล้อง เครื่องลั่นไก หรือส่วนประกอบสำคัญของเครื่องลั่นไก พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2510 มาตรา 3 บัญญัติให้ใช้ความต่อไปนี้แทน มาตรา 72 (วรรคหนึ่ง) ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 3 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 5 ปี และปรับตั้งแต่ 1,000 บาท ถึง 10,000 บาท (วรรค 2) ถ้าการฝ่าฝืนตามวรรคหนึ่งเป็นเพียงกรณีเกี่ยวกับส่วนหนึ่งส่วนใดของอาวุธปืน ตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ดังนี้ ข้อกฎหมายที่จะลงโทษจำเลยจึงมี 2 ประการ ประการแรกเกี่ยวกับอาวุธปืน ประการหลัง เกี่ยวกับเครื่องกระสุนปืน ซึ่งจะต้องวางโทษตามมาตรา 72 วรรคสอง วรรคหนึ่งตามลำดับ และลงโทษตามบทที่มีโทษหนักที่สุดตามมาตรา 72 วรรคหนึ่งประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและจำเลยให้การรับสารภาพว่า จำเลยได้บังอาจทำและมีไว้ในความครอบครองซึ่งลำกล้องปืนยาว กล้องโกร่งไกปืน ๑ อัน ซึ่งเป็นส่วนของอาวุธปืนอันถือว่าเป็นอาวุธปืนตามกฎหมาย กับแก๊ปกระดาษ ๑ ขวด ดินปืน ๑ ขวด ตะกั่ว ๑ แท่ง สำหรับใช้อัดทำประกอบเครื่องกระสุนปืน อันถือว่าเป็นเครื่องกระสุนปืนตามกฎหมาย
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๗, ๗๒ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๐๑ มาตรา ๓ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๑๐ มาตรา ๓ กฎกระทรวงฉบับที่ ๓ (พ.ศ. ๒๔๙๑) ออกตามความในพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐ ข้อ ๑ จำคุก ๒ ปี คำรับสารภาพเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษลงกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงเหลือโทษจำคุก ๑ ปี กับให้ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยอายุยังน้อย เพิ่งกระทำผิครั้งแรกเพื่อใช้ป้องกันทรัพย์สิน ขอให้ลงโทษในสถานเบา คือ รอการลงโทษหรือปรับ
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ความผิดของจำเลยต้องด้วยบทบัญญัติดังที่ศาลชั้นต้นพิพากษา แต่เมื่อพิเคราะห์มาตรา ๗๒ ซึ่งได้แก้ไขตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๑๐ มาตรา ๓ แล้ว เห็นว่า จำเลยควรได้รับโทษตามมาตรา ๗๒ วรรค ๒ เพราะจำเลยฝ่าฝืนเพียงกรณีเกี่ยวกับส่วนหนึ่งส่วนใดของอาวุธปืนดังที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงเท่านั้น ศาลชั้นต้นวางโทษจำเลยสูงเกินไป พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุก ๔ เดือน ลดโทษลงกึ่งหนึ่งเพราะรับสารภาพตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุกเพียง ๒ เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า โจทก์บรรยายฟ้องแยกออกเป็น ๒ ประการคือ ฐานทำกับมีอาวุธปืนประการหนึ่ง ฐานทำกับมีเครื่องกระสุนปืนประการหนึ่ง ความผิดฐานทำกับมีลำกล้องปืนยาว ๑ ลำกล้อง โกร่งไกปืน ๑ อัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอาวุธปืน ศาลอุทธรณ์ยกบทมาตรามาลงโทษนั้นชอบแล้ว ส่วนความผิดฐานทำกับมีเครื่องกระสุนปืนเกี่ยวกับของกลางตามฟ้องนั้น หาได้มีกฎกระทรวงบัญญัติไว้ต่างหากไม่ จึงมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๗ จะต้องรับโทษตามมาตรา ๗๒ แห่งพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน วรรค ๑ หาเข้าวรรค ๒ อย่างเดียวไม่ ทั้งตามมาตรา ๗๒ วรรค ๑ กำหนดโทษขั้นต่ำไว้ตั้งแต่ ๖ เดือน ถึง ๕ ปี ที่ศาลอุทธรณ์ลงโทษนั้นต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด หาชอบไม่ ขอให้ลงโทษจำเลยดังที่ศาลชั้นต้นพิพากษา
ศาลฎีกาเห็นว่า พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา ๗ บัญญัติห้ามมิให้ทำหรือมีไว้ซึ่งอาวุธปืน หรือเครื่องกระสุนปืน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ ผู้ฝ่าฝืนให้ลงโทษตามมาตรา ๗๒ พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๐๑ มาตรา ๓ วิเคราะห์ศัพท์คำว่า “อาวุธปืน” หมายความรวมตลอดถึงอาวุธปืนทุกชนิด ฯลฯ และส่วนหนึ่งส่วนใดของอาวุธปืนนั้น ๆ ซึ่งรัฐมนตรีเห็นว่าสำคัญ และได้ระบุไว้ในกฎกระทรวง วิเคราะห์ศัพท์คำว่า “เครื่องกระสุนปืน” หมายความรวมตลอดถึงหัวกระสุนโดด กระสุนปราย กระสุนแตก ฯลฯ หรือเครื่องหรือสิ่งสำหรับอัด หรือทำ หรือใช้ประกอบเครื่องกระสุนปืน กฎกระทรวงฉบับที่ ๓ (พ.ศ. ๒๔๙๑) กำหนดว่าส่วนของอาวุธปืนที่จะกล่าวต่อไปนี้ให้ถือว่าเป็นอาวุธปืน คือ ลำกล้อง เครื่องลั่นไก หรือส่วนประกอบสำคัญของเครื่องลั่นไก พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๑๐ มาตรา ๓ บัญญัติให้ใช้ความต่อไปนี้แทนมาตรา ๗๒ (วรรคหนึ่ง) ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๓ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ ๔ เดือน ถึง ๕ ปี และปรับตั้งแต่ ๑,๐๐๐ บาท ถึง ๑๐,๐๐๐ บาท (วรรค ๒) ถ้าการฝ่าฝืนตามวรรคหนึ่งเป็นเพียงกรณีเกี่ยวกับส่วนหนึ่งส่วนใดของอาวุธปืน ตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๕ ปี หรือปรับไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ดังนี้ ข้อกฎหมายที่จะลงโทษจำเลยจึงมี ๒ ประการ ประการแรกเกี่ยวกับอาวุธปืน ประการหลังเกี่ยวกับเครื่องกระสุนปืน ซึ่งจะต้องวางโทษตามมาตรา ๗๒ วรรคสอง วรรคหนึ่งตามลำดับ และลงโทษตามบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม มาตรา ๗๒ วรรคหนึ่งประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ ได้
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามบทกฎหมายที่อ้างถึง มาตรา ๗๒ วรรคหนึ่งและวรรคสอง ลงโทษตามบทที่มีโทษหนักที่สุดตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่งประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ ให้จำคุกกับลดโทษลงกึ่งหนึ่ง เพราะให้การรับสารภาพตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงเหลือโทษจำคุก ๑ ปี แต่ให้รอลงโทษไว้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ ภายในระยะเวลา ๓ ปี เพราะของกลางมีเพียงจำนวนน้อย และจำเลยต้องขังมา ๒ เดือนเศษแล้ว นอกจากที่แก้นี้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share