คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6182/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 6 บัญญัติให้ผู้สร้างสรรค์เป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในงานที่ตนได้สร้างสรรค์ ขึ้น และมาตรา 4ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า “ผู้สร้างสรรค์” ไว้ว่า หมายถึง ผู้ทำหรือก่อให้เกิดงานโดยความคิดริเริ่มของตนเอง จากคำจำกัดความดังกล่าวผู้ที่จะได้ชื่อ ว่าเป็นผู้สร้างสรรค์ นั้น จะต้องเป็นผู้ที่ทำหรือก่อให้เกิดงานขึ้นจากความคิดริเริ่มด้วยตนเอง มิใช่เป็นการลอกเลียนแบบจากของจริงจากธรรมชาติ หรือลอกเลียนแบบจากงานผู้อื่น ทั้งที่ปรากฏเป็นรูปร่างหรือภาพถ่าย งานที่โจทก์อ้างว่าโจทก์มีลิขสิทธิ์ตามฟ้องนั้น เป็นงานที่เกิดจากการถอด รูปแบบมาจากของจริงตามธรรมชาติบ้าง ลอกเลียนแบบจากความคิดริเริ่มของผู้อื่นที่ได้สร้างสรรค์ ไว้แล้วบ้าง และลอกเลียนแบบจากนิตยสารอื่น ๆ บ้าง งานของโจทก์ดังกล่าวจึงมิใช่เป็นงานที่โจทก์สร้างสรรค์ ขึ้นโดยความคิดริเริ่มของโจทก์เอง โจทก์จึงมิใช่ผู้สร้างสรรค์ ตามความหมายแห่งมาตรา 4ของ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 จึงไม่มีลิขสิทธิ์ในแบบรูปปั้นหล่อทองเหลืองตามฟ้อง.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นศิลปินผู้สร้างสรรค์ ทำหรือก่อให้เกิดงานศิลปกรรมประเภทประติมากรรม สร้างสรรค์รูปทรงที่เกี่ยวกับปริมาตรที่สัมผัสและจับต้องได้และโจทก์ได้ทำหนังสือแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ของรายชื่อผลงานประติมากรรมไปให้กรมศิลปากรทราบทั้งออกเอกสารเผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไปได้ทราบแล้ว จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันทำซ้ำและดัดแปลงผลงานประติมากรรมรูปปั้นหล่อทองเหลืองประเภทรูปนกและรูปคนรวม 5 รายการของโจทก์ เพื่อนำออกจำหน่ายทางการค้าโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ และเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 24, 27, 43 และ 44ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91
ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง โจทก์ขอถอนฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นอนุญาตศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูลให้ประทับฟ้อง
จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 24(1), 27(1), 43 วรรคสอง และ 44 วรรคสองการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดสองกรรม เรียงกระทงลงโทษ โดยให้จำคุกกระทงละ 6 เดือน และปรับกระทงละ 100,000 บาท รวมสองกระทงจำคุก 12 เดือน และปรับ 200,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทน 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่ไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นนี้ฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2527 โจทก์ได้ร้องทกข์ต่อพนักงานสอบสวน กองปราบปราม ว่า จำเลยที่ 1 ละเมิดลิขสิทธิ์รูปปั้นหล่อทองเหลืองของโจทก์ ต่อมาบุตรชายของโจทก์ได้พาตำรวจไปตรวจค้นร้านโอเรียนเต็ลแกลเลอรี่ของจำเลยที่ 1 ยึดรูปปั้นหล่อทองเหลือง 118 ชิ้น เป็นของกลาง ซึ่งมี 7 รูปแบบ ตามวัตถุพยานหมาย วจ. 1 ถึง วจ. 7 และจับกุมจำเลยที่ 1 ส่งให้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางรัก อันเป็นท้องที่เกิดเหตุดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ต่อมาพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย ล.14 และ ล.15 โดยเหตุผลที่ว่า ผลงานตามแบบรูปปั้นทองเหลืองของกลางที่ยึดได้จากร้านของจำเลยที่ 1 นั้น ไม่ใช่งานสร้างสรรค์ของโจทก์ แต่เป็นงานที่โจทก์เลียนแบบมาจากนิตยสารและสิ่งที่เป็นธรรมชาติ โจทก์จึงฟ้องคดีเองเป็นคดีนี้
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่า โจทก์เป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในผลงานแบบรูปปั้นหล่อทองเหลืองตามฟ้องหรือไม่เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 6 บัญญัติให้ผู้สร้างสรรค์เป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในงานที่ตนได้สร้างสรรค์ขึ้น และมาตรา 4 ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า “ผู้สร้างสรรค์” ไว้ว่าหมายความถึง ผู้ทำหรือก่อให้เกิดงานโดยความคิดริเริ่มของตนเองจากคำจำกัดความดังกล่าวผู้ที่จะได้ชื่อว่าเป็นผู้สร้างสรรค์นั้นจะต้องเป้นผู้ที่ทำหรือก่อให้เกิดงานขึ้นจากความคิดริเริ่มด้วยตนเอง มิใช่เป็นการลอกเลียนแบบจากของจริงจากธรรมชาติ หรือลอกเลียนแบบจากงานของผู้อื่นทั้งที่ปรากฏเป็นรูปร่างหรือภาพถ่าย ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าโจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์งานอันเป็นแบบรูปปั้นหล่อทองเหลืองตามฟ้องหรือไม่ ได้ความจากคำเบิกความของตัวโจทก์เองที่เบิกความตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามค้านว่า แบบรูปปั้นหล่อทองเหลืองของโจทก์ตามฟ้องโจทก์ได้สร้างขึ้นจากประสบการณ์ที่ดูจากของจริงดูจากธรรมชาติ ดูจากของที่คนอื่นทำขึ้น ดูจากตำราและนิตยสารอื่นและได้ความจากคำเบิกความของนายนนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน พยานของโจทก์เองซึ่งเป็นคณบดี คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งเบิกความตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามค้านว่าวัตถุพยานที่เป็นพวกยิมนาสติกก็ดี ที่เป็นพวกสัตว์ก้ดีเป็นรูปแบบตามธรรมชาติที่มีมาเป็นเวลาช้านานแล้ว จากคำเบิกความของตัวโจทก์และของนายนนทิวรรธน์ พยานโจทก์ดังกล่าวแสดงว่างานที่โจทก์อ้างว่าโจทก์มีลิขสิทธิ์ตามฟ้องนั้น เป็นงานที่เกิดขึ้นจากการถอดรูปแบบมาจากของจริงตามธรรมชาติบ้างลอกเลียนแบบจากความคิดริเริ่มของผู้อื่นที่ได้สร้างสรรค์ไว้แล้วบ้าง และลอกเลียนแบบจากนิตรสารอื่น ๆ บ้าง งานของโจทก์ดังกล่าวจึงมิใช่เป็นงานที่โจทก์สร้างสรรค์ขึ้นโดยความคิดริเริ่มของโจทก์เอง โจทก์จึงมิใช่เป็นผู้สร้างสรรค์ตามความหมายแพ่งมาตรา 4 ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521โจทก์จึงไม่มีลิขสิทธิ์ในแบบรูปปั้นหล่อทองเหลืองตามฟ้อง คดีจึงไม่มีทางที่จะลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ตามฟ้องได้ จึงไม่มีความจำเป็นต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำซ้ำหรือดัดแปลงงานของโจทก์หรือไม่ ทั้งไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ในข้ออื่นอีกต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์นั้นชอบแล้ว”
พิพากษายืน.

Share