แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ศาลแรงงานกลางจะรับฟังข้อเท็จจริงใดหรือไม่ขึ้นอยู่กับคำให้การของจำเลยว่าได้ให้การต่อสู้ไว้อย่างไร แม้การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลแรงงานกลางจะมีพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานกลางและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 บัญญัติไว้โดยเฉพาะ แต่พระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 31 ก็บัญญัติให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับแก่การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลแรงงานเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัติ นี้โดยอนุโลม การที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 ไม่ได้บังคับว่าจำเลยจะต้องยื่นคำให้การ กรณีจำเลยไม่ได้ยื่นคำให้การเป็นหนังสือแม้พระราชบัญญัติดังกล่าวมาตรา 39 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ศาลบันทึกคำให้การของจำเลย และถ้าจำเลยไม่ยอมให้การมาตรา 39 วรรคสองให้ศาลจดบันทึกไว้ ก็เป็นเพียงบทบัญญัติที่ใช้บังคับเมื่อจำเลยไม่ให้การเป็นหนังสือหรือไม่ยอมให้การเท่านั้น หาใช่เป็นบทบัญญัติที่ให้สิทธิแก่จำเลยที่จะนำสืบพยานนอกเหนือข้อต่อสู้ในคำให้การไม่และเมื่อจำเลยให้การเป็นหนังสือก็ต้องนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม โดยจำเลยต้องให้การต่อสู้โดยชัดแจ้ง เมื่อโจทก์ฟ้องว่าจำเลยจ่ายเงินเดือนค่าจ้างสอนให้โจทก์ไม่ครบ แล้วจำเลยให้การว่าไม่เคยจ่ายเงินเดือนไม่ครบโดยมิได้ให้การต่อสู้ว่า ที่จำเลยจ่ายเงินเดือนให้โจทก์ไม่ครบเพราะโจทก์สมัครใจให้จำเลยหักเงินเป็นค่าบริจาคแก่นักเรียนข้อเท็จจริงที่จำเลยนำสืบว่า จำเลยจ่ายเงินเดือนให้โจทก์ไม่ครบเพราะโจทก์สมัครใจให้จำเลยหักเงินดังกล่าว จึงเป็นการนำสืบข้อเท็จจริงนอกประเด็นข้อพิพาท โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย โดยจำเลยจ่ายค่าจ้างให้เป็นรายเดือนมีกำหนดจ่ายเป็นระยะเวลา ค่าจ้างนี้คือเงินเดือน อายุความที่จะเรียกร้องเอาค่าจ้างค้างจ่ายดังกล่าว มีอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 166
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีกิจการโรงเรียนและจ้างโจทก์เป็นครูสอนแล้วจำเลยจ่ายเงินเดือนค่าจ้างสอนให้โจทก์ไม่ครบ ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินเดือนค้างชำระแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย จำเลยให้การต่อสู้คดีว่า จำเลยไม่เคยจ่ายเงินเดือนไม่ครบ คดีโจทก์ขาดอายุความศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ศาลแรงงานกลางจะรับฟังข้อเท็จจริงใดหรือไม่ย่อมขึ้นอยู่กับคำให้การของจำเลยด้วยว่าจำเลยได้ให้การต่อสู้ไว้อย่างไร แม้การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลแรงงานกลางได้มีพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 บัญญัติไว้โดยเฉพาะ แต่พระราชบัญญัติดังกล่าวมาตรา 31 ก็บัญญัติให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับแก่การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลแรงงานเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินั้นโดยอนุโลม ในกรณีที่พระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522ไม่ได้บัญญัติไว้ ก็ต้องนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม แม้พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 ไม่ได้บังคับว่าจำเลยจะต้องยื่นคำให้การ ในกรณีที่จำเลยไม่ได้ยื่นคำให้การเป็นหนังสือตามพระราชบัญญัติ ดังกล่าว มาตรา 39 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ศาลบันทึกคำให้การของจำเลย และมาตรา 39 วรรคสอง ถ้าจำเลยไม่ยอมให้การให้ศาลบันทึกไว้ ก็เป็นเพียงบทบัญญัติที่ใช้บังคับเมื่อจำเลยไม่ให้การเป็นหนังสือหรือไม่ยอมให้การเท่านั้น หาใช่เป็นบทบัญญัติที่ให้สิทธิแก่จำเลยที่จะนำสืบพยานนอกเหนือข้อต่อสู้ในคำให้การของจำเลยตามที่จำเลยอุทธรณ์ไม่ คดีนี้จำเลยได้ให้การเป็นหนังสือจึงต้องนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลมกล่าวคือจำเลยจะต้องให้การต่อสู้โดยชัดแจ้ง ข้อเท็จจริงใดที่โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้อง ถ้าจำเลยจะปฏิเสธจะต้องให้การปฏิเสธโดยชัดแจ้งปรากฏว่าโจทก์ทั้งห้าฟ้องว่าจำเลยจ่ายเงินเดือนค่าจ้างสอนให้โจทก์ไม่ครบ จำเลยให้การว่าไม่เคยจ่ายเงินเดือนไม่ครบตามที่โจทก์ทั้งห้ากล่าวอ้าง จำเลยหาได้ให้การต่อสู้ไม่ว่าจำเลยจ่ายเงินเดือนให้โจทก์ไม่ครบเพราะโจทก์สมัครใจให้จำเลยหักเงินเป็นค่าบริจาคแก่นักเรียนดังนั้น ข้อเท็จจริงที่จำเลยนำสืบว่าจำเลยจ่ายเงินเดือนให้โจทก์ไม่ครบเพราะโจทก์ทุกคนสมัครใจให้จำเลยหักเงินเพื่อบริจาคแก่นักเรียนนั้น จึงเป็นการนำสืบข้อเท็จจริงนอกประเด็นข้อพิพาท ศาลแรงงานกลางไม่รับฟังข้อเท็จจริงนี้ชอบแล้ว อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยอุทธรณ์ข้อหลังว่าเงินที่โจทก์ทั้งห้าเรียกร้องในคดีนี้เป็นค่าสอนซึ่งมีอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 165(3) ไม่ใช่มีอายุความ 5 ปี ดังที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยนั้น ได้ความว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยโดยจำเลยจ่ายค่าจ้างให้เป็นรายเดือน มีกำหนดจ่ายเป็นระยะเวลา ค่าจ้างนี้คือเงินเดือน การที่โจทก์เรียกร้องเอาค่าจ้างค้างจ่ายดังกล่าวจึงมีอายุความ 5 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 166 ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยชอบแล้ว อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน