แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 จัตวา (3) นั้น เมื่อเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแจ้งต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีว่าลูกหนี้หรือบริวารยังไม่ออกไปตามคำบังคับ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีปิดประกาศกำหนดเวลาให้ผู้ที่อ้างว่าไม่ใช่บริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษายื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลภายในกำหนดเวลาแปดวัน นับแต่วันปิดประกาศ ถ้าไม่ยื่นภายในกำหนดเวลาดังกล่าวให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นบริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ฉะนั้นผู้ที่อ้างอำนาจพิเศษดังกล่าวจะต้องมีหลักฐานเบื้องต้นมาแสดงต่อศาลมิใช่กล่าวอ้างขึ้นมาลอย ๆ การเช่าช่วงที่ผู้ร้องอ้างตามคำร้องก็คือการเช่านั่นเองเมื่อเป็นการเช่าอสังหาริมทรัพย์ก็ต้องตกอยู่ภายใต้บังคับของ ป.พ.พ.มาตรา 538 ซึ่งจะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลง ลายมือชื่อฝ่ายที่ต้อง รับผิดเป็นสำคัญ แต่ตามคำร้อง ของ ผู้ร้องปรากฏชัดว่าผู้ร้องเช่าช่วงตึกแถวพิพาทจากจำเลยโดยไม่มีสัญญาเช่ากับจำเลยหรือโจทก์ใบเสร็จรับเงินเอกสารท้ายคำร้องก็มิใช่หลักฐานการเช่า เพราะมิได้มีลายมือชื่อของโจทก์หรือจำเลยลงไว้ ดังนั้นผู้ร้องจึงไม่อาจยกการเช่าช่วงขึ้นใช้ยันโจทก์ได้ทั้งนี้ไม่ว่าโจทก์จะรู้เห็นยินยอมด้วยหรือไม่ก็ตาม ทั้งมิใช่เป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าการเช่าอันไม่จำต้องมีหลักฐานการเช่าดังที่ผู้ร้องฎีกา เพราะเงินกินเปล่าที่ผู้ร้องอ้างว่าได้เสียให้ไปนั้นมิใช่เงินช่วยค่าก่อสร้างตึกแถวพิพาท กรณีถือไม่ได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้มีอำนาจพิเศษตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 จัตวา (3) ผู้ร้องซึ่งเป็นบริวารของจำเลย.
ย่อยาว
คดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยและบริวารให้ขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากตึกแถวเลขที่ 81/1 หมู่ที่ 6 ถนนเอกชัย แขวงบางบอนเขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร ของโจทก์ และส่งมอบตึกแถวดังกล่าวคืนให้แก่โจทก์และเรียกค่าเสียหาย โจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันต่อศาล และศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมให้จำเลยขนย้ายทรัพย์สินพร้อมด้วยบริวารออกไปจากตึกแถวตามฟ้องและส่งมอบคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อยภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2531 ต่อมาจำเลยไม่ยอมปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์ขอให้บังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดีนำประกาศของเจ้าพนักงานบังคับคดีไปปิดไว้ที่ตึกแถวตามฟ้อง
ผู้ร้องยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษว่า ผู้ร้องมิใช่บริวารของจำเลยเพราะผู้ร้องและครอบครัวอาศัยอยู่ในตึกแถวพิพาทเลขที่81/1 โดยเช่าช่วงจากจำเลย แต่ไม่มีสัญญาเช่ากับจำเลยหรือโจทก์ผู้ร้องได้เสียเงินกินเปล่าให้แก่จำเลยซึ่งเป็นพี่ชายของผู้ร้องจำเลยไม่เคยอาศัยอยู่ในตึกแถวพิพาท ผู้ร้องได้ย้ายทะเบียนบ้านเข้ามาอยู่ในตึกแถวพิพาทโดยโจทก์รู้เห็นยินยอมและมอบหมายให้นายแกงลิ้มเก็บค่าเช่าตึกแถวพิพาทเดือนละ 70 บาท โดยออกใบเสร็จรับเงินให้ตลอดมา โจทก์ไม่เคยมีหนังสือบอกกล่าวให้ผู้ร้องออกจากตึกแถวพิพาท โจทก์ฟ้องจำเลยก็โดยอาศัยสัญญาเช่าเดิมที่จำเลยทำไว้กับโจทก์ ขอให้ศาลไต่สวนและยกเลิกการบังคับคดีที่จะบังคับแก่ผู้ร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่ผู้ร้องฎีกาว่าผู้ร้องย้ายทะเบียนบ้านเข้ามาอยู่ในตึกแถวพิพาทประกอบการค้าและอยู่อาศัยพร้อมครอบครัวโดยได้รับความยินยอมจากโจทก์และโจทก์เก็บค่าเช่าตลอดมา ปรากฏตามเอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 1 ถึง 4 จึงเป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าการเช่าโดยไม่จำต้องทำสัญญาเช่าหรือเช่าช่วงกับโจทก์หรือจำเลยตามกฎหมาย ผู้ร้องจึงมีสิทธิแสดงอำนาจพิเศษว่าผู้ร้องมิใช่บริวารของจำเลยนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 จัตวา (3) นั้นเมื่อเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแจ้งต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีว่าลูกหนี้หรือบริวารยังไม่ออกไปตามคำบังคับให้เจ้าพนักงานบังคับคดีปิดประกาศกำหนดเวลาให้ผู้ที่อ้างว่าไม่ใช่บริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษายื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลภายในกำหนดเวลาแปดวัน นับแต่วันปิดประกาศ ถ้าไม่ยื่นภายในกำหนดเวลาดังกล่าวให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นบริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ฉะนั้นผู้ที่อ้างอำนาจพิเศษดังกล่าวจะต้องมีหลักฐานเบื้องต้นมาแสดงต่อศาลมิใช่กล่าวอ้างขึ้นมาลอย ๆ การเช่าช่วงที่ผู้ร้องอ้างตามคำร้องก็คือการเช่านั่นเอง เมื่อเป็นการเช่าอสังหาริมทรัพย์ก็ต้องตกอยู่ภายใต้บังคับของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 538ซึ่งจะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ แต่ตามคำร้องของผู้ร้องปรากฏชัดว่าผู้ร้องเช่าช่วงตึกแถวพิพาทจากจำเลยโดยไม่มีสัญญาเช่ากับจำเลยหรือโจทก์ ใบเสร็จรับเงินเอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 4 ก็มิใช่หลักฐานการเช่า เพราะมิได้มีลายมือชื่อของโจทก์หรือจำเลยลงไว้ ดังนั้นผู้ร้องจึงไม่อาจยกการเช่าช่วงขึ้นใช้ยันโจทก์ได้ทั้งนี้ไม่ว่าโจทก์จะรู้เห็นยินยอมด้วยหรือไม่ก็ตาม ทั้งมิใช่เป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าการเช่าอันไม่จำต้องมีหลักฐานการเช่าดังที่ผู้ร้องฎีกา เพราะเงินกินเปล่าที่ผู้ร้องอ้างว่าได้เสียให้ไปนั้นมิใช่เงินช่วยค่าก่อสร้างตึกแถวพิพาทกรณีถือไม่ได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้มีอำนาจพิเศษตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 จัตวา (3) ผู้ร้องจึงเป็นบริวารของจำเลย ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.