แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยตกลงจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์เป็นรายเดือนทุกวันสิ้นเดือนจึงถือได้ว่า ค่าจ้างที่จำเลยจะต้องจ่ายให้แก่โจทก์เป็นหนี้ที่กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 204 วรรคสอง หากจำเลยไม่ชำระตามกำหนดเวลาดังกล่าวย่อมตกเป็นผู้ผิดนัดนับถัดแต่วันดังกล่าวเป็นต้นไปซึ่งจำเลยจะต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่งเมื่อโจทก์มิได้ขอคิดดอกเบี้ยจากจำเลยนับแต่วันฟ้อง การที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์นับแต่วันฟ้อง จึงผิดไปจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสำนวน เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย
การที่จำเลยไม่จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ เมื่อมิได้เป็นไปโดยจงใจหรือโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิที่จะเรียกให้จำเลยชำระเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 15 ของเงินที่ค้างจ่ายทุกระยะเวลา7 วัน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2541 จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ทำหน้าที่ผู้จัดการโครงการได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 60,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน ระหว่างทำงานกับจำเลย จำเลยค้างจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ตั้งแต่วันที่ 1 ถึงวันที่ 30พฤศจิกายน 2542 เป็นเงิน 60,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินค่าจ้างจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และเงินเพิ่มอัตราร้อยละ 15 ของเงินที่ค้างจ่ายทุกระยะเวลา 7 วัน นับแต่วันผิดนัดจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยขาดนัดและขาดนัดพิจารณา
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างเป็นเงิน60,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกว่า ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ตามคำขอบังคับท้ายฟ้องและคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องของโจทก์ฉบับลงวันที่ 9ธันวาคม 2542 ซึ่งศาลแรงงานมีคำสั่งอนุญาตแล้ว โจทก์ขอให้บังคับจำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน2542 ซึ่งเป็นวันผิดนัดเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ว่าจำเลยตกลงจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์เป็นรายเดือนทุกวันสิ้นเดือน จึงถือได้ว่า ค่าจ้างที่จำเลยจะต้องจ่ายให้แก่โจทก์นั้นเป็นหนี้ที่กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 204 วรรคสอง ซึ่งหากจำเลยไม่ชำระตามกำหนดเวลาดังกล่าวย่อมตกเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้ทันทีโดยโจทก์ไม่จำต้องทวงถามก่อน ฉะนั้น ค่าจ้างในเดือนพฤศจิกายน 2542ของโจทก์จึงครบกำหนดที่จำเลยจะต้องจ่ายให้แก่โจทก์ในวันที่ 30พฤศจิกายน 2542 เมื่อจำเลยไม่จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์จึงตกเป็นผู้ผิดนัดนับถัดแต่วันดังกล่าวเป็นต้นไปซึ่งจำเลยจะต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง ประกอบกับข้อเท็จจริงในคดีนี้ก็ไม่ปรากฏว่า โจทก์ได้แถลงขอคิดดอกเบี้ยจากจำเลยนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 7 ธันวาคม 2542) ตามที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยไว้คำพิพากษาของศาลแรงงานกลางที่พิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 12 พฤศจิกายน 2542) จึงผิดไปจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสำนวนไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการสุดท้ายมีว่าโจทก์มีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 15 ของเงินที่ค้างจ่ายทุกระยะเวลา 7 วัน หรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานของโจทก์ไม่ปรากฏว่า การที่จำเลยไม่จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์นั้นเป็นไปโดยจงใจโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะเรียกให้จำเลยชำระเงินเพิ่มตามคำขอบังคับท้ายฟ้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าจ้างเป็นเงิน 60,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2542 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลแรงงานกลาง