คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2349/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยทำสัญญาจะขายที่พิพาทให้โจทก์โดยทราบว่าโจทก์จะซื้อที่พิพาทไปเพื่อสร้างโรงงาน เมื่อจำเลยทราบว่าที่พิพาทอยู่ในเขตประกาศของกระทรวงมหาดไทยเรื่องห้ามก่อสร้างอาคารแต่ปกปิดข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงถือว่าโจทก์แสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์ที่จะซื้อซึ่งเป็นสาระสำคัญ สัญญาจะซื้อขายเป็นโมฆียะ เมื่อโจทก์บอกล้างแล้วสัญญาจะซื้อขายจึงเป็นโมฆะมาแต่แรกคู่สัญญาต้องกลับคืนยังฐานะเดิมจำเลยต้องคืนเงินมัดจำให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินจากจำเลย จำเลยปกปิดข้อเท็จจริงที่ว่าที่ดินดังกล่าวอยู่ในเขตประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องกำหนดบริเวณห้ามก่อสร้างอาคาร โจทก์จะซื้อที่ดินเพื่อก่อสร้างโรงงานหากโจทก์ทราบ โจทก์ก็จะไม่ซื้อที่ดินดังกล่าว โจทก์สำคัญผิดในคุณสมบัติของที่ดินอันเป็นสาระสำคัญ สัญญาจึงเป็นโมฆียะกรรมโจทก์ได้บอกล้างแล้วขอให้จำเลยคืนเงินมัดจำ 250,000 บาทพร้อมดอกเบี้ย จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์มิได้แจ้งให้จำเลยทราบว่าจะก่อสร้างโรงงาน จำเลยไม่ทราบว่ามีประกาศกระทรวงมหาดไทย จำเลยมิได้จงใจปิดบังหลอกลวงโจทก์ โจทก์ผิดนัดไม่ไปรับโอนที่ดิน โจทก์ผิดสัญญา ขอให้ยกฟ้องและให้โจทก์ใช้ค่าเสียหาย 300,000 บาทพร้อมดอกเบี้ย โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยคืนเงินมัดจำตามฟ้องโจทก์ จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีคงมีปัญหาวินิจฉัยข้อแรกตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยทราบว่าโจทก์ซื้อที่พิพาทเพื่อสร้างโรงงานหรือไม่ โจทก์มีตัวโจทก์และนายชูศักดิ์ ห่านประภายืนยันต้องกันว่าในวันทำสัญญาจะซื้อขาย ก่อนตกลงกัน พยานทั้งสองได้พูดกับจำเลยแล้วว่าจะซื้อที่พิพาทไปเพื่อก่อสร้างโรงงานผลิตยางแอสฟัลต์ เพื่อความแน่นอนและรวดเร็วแห่งการนั้นจึงได้มีการเพิ่มข้อสัญญาเป็นข้อ 7 ว่าผู้จะขายยอมให้ผู้จะซื้อเข้าไปปรับปรุงพื้นที่ได้ก่อนการโอนและหากผู้จะขายผิดสัญญา ผู้จะขายยอมใช้ค่าเสียหายให้ผู้จะซื้อ โจทก์มีรายงานการประชุมของกรรมการบริษัททิปโก้ อีมัลชั่น จำกัด ซึ่งโจทก์เป็นประธานกรรมการมาสนับสนุนด้วยว่าโจทก์ได้รับมอบหมายจากบริษัทดังกล่าวให้หาซื้อที่ดินเพื่อสร้างโรงงานผลิตยางแอสฟัลต์ในนามโจทก์แล้วนำไปโอนให้บริษัทภายหลัง จึงน่าเชื่อว่าพยานทั้งสองได้พูดถึงวัตถุประสงค์ในการซื้อให้จำเลยทราบแล้ว ฝ่ายจำเลยเพียงปฏิเสธลอย ๆว่า โจทก์ไม่ได้บอกว่าจะซื้อที่พิพาทไปเพื่อสร้างโรงงานแอสฟัลต์พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักและเหตุผลดีกว่าจำเลย ฟังว่าจำเลยทราบแล้วว่าโจทก์ซื้อที่พิพาทเพื่อสร้างโรงงาน
จำเลยฎีกาในปัญหาข้อที่สองที่ว่า จำเลยทราบว่าที่พิพาทอยู่ในเขตประกาศของกระทรวงมหาดไทยเรื่องห้ามก่อสร้างอาคารหรือไม่โจทก์มีนายชูศักดิ์และนางสาวชิดชนก กิจเจริญ ซึ่งอ้างว่ารู้เห็นร่วมกันขณะนายชูศักดิ์บอกล้างนิติกรรมจะซื้อขายที่พิพาทที่สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครสาขามีนบุรีเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน2524 ว่า จำเลยไม่รับรู้การบอกล้างโดยอ้างว่าประกาศเขตพื้นที่สีเขียวหรือประกาศห้ามก่อสร้างฯ มีมานานแล้วโจทก์ไม่ไปตรวจดูเองแสดงว่าจำเลยทราบดีมาก่อน นอกจากนี้ยังได้ความจากนางวิบูลย์ภรรยาจำเลยว่าจำเลยซื้อขายที่ดิน มีแบบพิมพ์สัญญาจะซื้อขายที่ดินอยู่กับบ้าน จำเลยเองก็ให้การไว้ว่ารู้จักกับคนในสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขามีนบุรี คือนายจำลอง เจริญศักดิ์ผู้โทรศัพท์ตามจำเลยไปพบโจทก์ที่สำนักงานที่ดินดังกล่าว เมื่อวันที่2 พฤศจิกายน 2524 ด้วย นายสำราญ เพ็งพานิช พยานจำเลยผู้เคยเป็นช่างรังวัดประจำสำนักงานที่ดินแห่งเดียวกันนี้ก็ยืนยันว่าจำเลยไปติดต่อที่สำนักงานฯ บ่อย ดังนั้นในฐานะที่จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทจึงน่าจะได้ทราบประกาศใด ๆ ที่เกี่ยวกับที่ดินของตนโดยเฉพาะประกาศห้ามก่อสร้างอาคารในที่พิพาทซึ่งมีผลกระทบต่อราคาที่ดินของตนโดยตรงเพราะประกาศนี้นายชาญชัย รังสิหวัฒน์หัวหน้างานโยธาเขตลาดกระบัง พยานโจทก์ผู้หนึ่งอ้างว่าได้มีการประชาสัมพันธ์ประกาศนี้ให้ประชาชนทราบมาตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม2524 แล้วทั้งทางหนังสือพิมพ์และทางกำนันผู้ใหญ่บ้านเจ้าของท้องที่นั้น ๆ ที่จำเลยนำสืบว่าไม่เคยทราบมาก่อนนั้น ไม่น่าเชื่อ คดีฟังได้ว่าจำเลยทราบว่าที่พิพาทอยู่ในเขตประกาศของกระทรวงมหาดไทยเรื่องห้ามก่อสร้างอาคาร
จำเลยฎีกาเป็นข้อที่สามว่า ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์หยิบยกปัญหาที่ว่าโจทก์แสดงเจตนาซื้อที่ดินพิพาทเพื่อจะก่อสร้างโรงงานแต่ที่พิพาทไม่สามารถนำไปก่อสร้างโรงงานได้ ถือว่าเป็นการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในคุณสมบัติของที่ดินที่จะซื้อขาย ซึ่งตามปกติย่อมนับว่าเป็นสาระสำคัญหรือไม่ขึ้นวินิจฉัยไม่ชอบ เพราะไม่ใช่ปัญหาข้อกฎหมายที่ศาลพึงรู้เองหรือเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน นั้น เห็นว่าปัญหานี้ความจริงก็มีความหมายรวมอยู่ในปัญหาที่จำเลยฎีกาข้อที่หนึ่งและข้อที่สองอยู่ในตัวนั่นเอง ศาลจึงหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ ส่วนที่จำเลยฎีกาต่อไปว่า ศาลล่างทั้งสองมิได้ยกข้อเท็จจริงขึ้นวินิจฉัยว่านิติกรรมจะซื้อขายระหว่างโจทก์จำเลยอันเกิดแต่การแสดงเจตนาวิปริตของโจทก์ มีผลให้นิติกรรมเป็นโมฆียะ ชอบที่จะบอกล้างได้หรือไม่อย่างไร นั้น เห็นว่า ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้แล้วว่านิติกรรมนั้นเป็นโมฆียะเพราะโจทก์สำคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์ที่จะซื้อและถือว่าโจทก์บอกล้างแล้ว เนื่องจากจำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้สัญญาจะซื้อขายที่พิพาทเป็นโมฆะมาแต่แรก คู่สัญญาต้องกลับคืนยังฐานะเดิม จำเลยต้องคืนเงินมัดจำให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยจึงเป็นคำวินิจฉัยที่ชอบด้วยบทกฎหมายแล้วและผลแห่งคำวินิจฉัยนี้เองทำให้ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยในปัญหาที่ว่าฟ้องแย้งเกี่ยวกับค่าเสียหายเคลือบคลุมหรือไม่ และจำเลยเสียหายหรือไม่เพียงใดอีกต่อไปเพราะเมื่อคู่สัญญาต้องกลับคืนยังฐานะเดิมแล้วจำเลยก็ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายใดใดจากโจทก์ได้…”
พิพากษายืน

Share