คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 499/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ทำสัญญาจะซื้อขายห้องชุดจากจำเลย โดยมีข้อสัญญาว่าผนังห้องชุดเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กและวัสดุก่อเรียบทาสี ซึ่งคำว่า “วัสดุก่อเรียบทาสี” นี้น่าจะมีความหมายว่า นำวัสดุก่อสร้าง เช่น อิฐมอญหรืออิฐบล็อกมาเรียงก่อขึ้นเป็นผนังก่อนและฉาบด้วยปูนซีเมนต์ทับผิวให้เรียบแล้วทาสีดังนั้นเมื่อแผ่นยิปซัมเป็นวัสดุที่ผลิตขึ้นสำเร็จรูป มิใช่วัสดุก่อขึ้นอย่างก่ออิฐฉาบปูนแผ่นยิปซัมจึงไม่เป็นวัสดุก่อเรียบทาสีตามความหมายที่ระบุในสัญญา ซึ่งแม้ตามสัญญาจะให้สิทธิจำเลยที่จะนำวัสดุอื่นที่มีคุณภาพเท่าเทียมกับผนังที่ก่ออิฐฉาบปูนมาใช้แทนได้โดยจำเลยมีใบอนุญาตแสดงเครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมของประธานกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมและหนังสือรับรองมาตรฐานคุณภาพ ไอเอสโอ 9002 ของบริษัท บ. มาแสดงก็ตาม แต่ก็เป็นการรับรองเพียงว่าผลิตภัณฑ์แผ่นยิปซัมที่จำเลยใช้ติดตั้งนั้นเป็นสินค้าที่ผลิตขึ้นถูกต้องตามมาตรฐานการผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมประเภทแผ่นยิปซัมเท่านั้น มิได้เปรียบเทียบกับสินค้าประเภทอื่น ทั้งมิได้มีข้อความรับรองคุณภาพเมื่อใช้กั้นเป็นผนังแล้วจะมีความคงทนเท่าเทียมกับผนังที่ก่อด้วยอิฐฉาบปูนแต่อย่างใด จึงรับฟังได้เพียงว่าแผ่นยิปซัมที่จำเลยนำมาใช้มีคุณภาพอยู่ในระดับหนึ่งของสินค้าประเภทเดียวกันเท่านั้น แต่ไม่มีคุณภาพเท่าเทียมกันกับผนังที่ก่อด้วยอิฐฉาบปูน เมื่อจำเลยใช้วัสดุก่อสร้างผิดจากข้อตกลงในสัญญา จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์ทำสัญญาจะซื้อขายห้องชุดป๊อบปูล่าคอนโดมิเนียม โครงการไพลินสแควร์กับจำเลยจำนวน 2 ห้อง ราคาห้องละ 722,064บาท ชำระเงินวันจองห้องละ 3,000 บาท วันหรือก่อนวันทำสัญญา ชำระอีกห้องละ 12,000 บาท หลังทำสัญญาแล้วโจทก์ผ่อนชำระครบรวมสองห้องคิดเป็นเงิน 361,056 บาท ต่อมาจำเลยได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปรับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดทั้งสองห้อง ก่อนไปรับโอนกรรมสิทธิ์โจทก์ได้ไปตรวจสอบความเรียบร้อยของห้องชุดทั้งสองห้อง พบว่าจำเลยก่อสร้างผิดแบบและใช้วัสดุก่อสร้างผิดข้อตกลงในสัญญา กล่าวคือ ตามสัญญาระบุผนังห้องเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กและวัสดุก่อเรียบทาสี แต่จำเลยกลับใช้แผ่นยิปซัมบอร์ด โจทก์จึงมีหนังสือแจ้งให้จำเลยแก้ไขให้เป็นไปตามสัญญาภายใน 15 วัน หากไม่แก้ไขให้ถือเป็นการบอกเลิกสัญญา จำเลยได้รับหนังสือแล้วเพิกเฉยไม่แก้ไข การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย กล่าวคือหากมีการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุด โจทก์สามารถนำออกให้บุคคลอื่นเช่าได้เดือนละไม่ต่ำกว่า 5,000 บาท ต่อหนึ่งห้อง คิดเป็นค่าเสียหายตั้งแต่วันที่จำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปรับโอนกรรมสิทธิ์ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 80,000 บาท และจำเลยมีหน้าที่คืนเงินที่โจทก์ชำระไปแล้ว 361,056 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 9.25 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ชำระเงินให้จำเลยครบถ้วนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 86,277 บาท รวมเป็นเงิน 447,333 บาท รวมค่าเสียหายทั้งสิ้น 527,329 บาท (ที่ถูกเป็นเงิน 527,333 บาท) ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 527,329 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 9.25 ต่อปี ในต้นเงิน 361,056 บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยไม่ได้ปฏิบัติผิดสัญญากล่าวคือ วัสดุก่อเรียบทาสีที่จำเลยใช้กั้นผนังเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นไปตามสัญญาข้อ 2.2 โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาที่ไม่ยอมรับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดทั้งสองตามกำหนด โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย ขอให้ยกฟ้อง โจทก์มีหน้าที่ต้องรับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดทั้งสองห้องและชำระราคาห้องชุดรวมเป็นเงิน 1,083,072 บาทขอให้บังคับโจทก์ชำระเงินจำนวน 1,083,072 บาท และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2538 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องแย้งเป็นเงิน 91,384.20 บาท

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา ขอให้ยกฟ้องแย้ง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 361,056 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 6 มิถุนายน 2539 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยกและยกฟ้องแย้ง

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์ซื้อห้องชุดป๊อบปูล่าคอนโดมิเนียมโครงการไพลินสแควร์ จำนวน 2 ห้อง บล็อกหมายเลข พี 2 ชั้นที่ 14 เลขที่ 07 และ 08ราคาห้องละ 722,064 บาท จากจำเลย ตามสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดป๊อบปูล่า-คอนโดมิเนียม เอกสารหมาย จ.2 และ จ.3 โจทก์ชำระเงินในวันจองแก่จำเลย 3,000 บาทต่อห้อง และชำระในวันทำสัญญา 12,000 บาท ต่อห้อง หลังทำสัญญาแล้วได้ผ่อนชำระเงินดาวน์เดือนละ 6,897 บาท ต่อห้อง มีกำหนด 24 เดือน คิดเป็นเงิน 361,056 บาท ตามสัญญาดังกล่าวกำหนดรายละเอียดส่วนที่เป็นผนังของอาคารไว้ว่า “เป็นผนังคอนกรีตเสริมเหล็กและวัสดุก่อเรียบทาสี” จำเลยได้ก่อสร้างแล้วเสร็จ โดยผนังส่วนที่เป็นโครงสร้างรับน้ำหนักเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กแต่ผนังบริเวณหน้าห้องติดกับทางเดิน ผนังกั้นระหว่างห้องและผนังห้องน้ำภายในจำเลยใช้แผ่นยิปซัมกั้นเป็นผนังโจทก์อ้างว่าจำเลยผิดสัญญาโดยใช้วัสดุผิดข้อตกลงในสัญญาจึงไม่ยอมรับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทและบอกเลิกสัญญากับจำเลย

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาหรือไม่ ทางพิจารณาโจทก์นำสืบว่า เมื่อจำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์รับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดตามเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 โจทก์ไปตรวจสอบความเรียบร้อยห้องชุดดังกล่าวพร้อมกับวิศวกรของโจทก์ปรากฏว่าจำเลยก่อสร้างผิดแบบและใช้วัสดุผิดจากที่กำหนดไว้ในสัญญา กล่าวคือ ในสัญญาระบุว่าผนังห้องชุดเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กและวัสดุก่อเรียบทาสี แต่จำเลยใช้แผ่นยิปซัมบอร์ดแทน ซึ่งไม่อาจถือได้ว่าเป็นวัสดุที่ก่อขึ้น ทั้งคุณสมบัติความแข็งแรงไม่เท่ากับคอนกรีตเสริมเหล็ก โจทก์เคยมีหนังสือแจ้งให้จำเลยแก้ไขให้ถูกต้องแต่จำเลยเพิกเฉย โจทก์จึงถือเอาหนังสือแจ้งดังกล่าวเป็นการบอกเลิกสัญญากับจำเลยตามเอกสารหมาย จ.8 และ จ.9 จำเลยนำสืบว่าผนังโดยรอบของห้องชุดพิพาทเป็นผนังคอนกรีตเสริมเหล็ก ยกเว้นบริเวณผนังส่วนหน้าห้องที่ติดทางเดิน ผนังกั้นระหว่างห้องและผนังห้องน้ำภายในที่ใช้แผ่นยิปซัม ซึ่งเป็นวัสดุที่ได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมและได้รับการยอมรับมาตรฐานในสากลด้วยมีคุณสมบัติกันไฟและมีความสวยงามมากกว่าก่ออิฐฉาบปูนเห็นว่า คำว่า “วัสดุก่อเรียบทาสี” ที่ระบุในสัญญานั้น น่าจะมีความหมายว่านำวัสดุก่อสร้างเช่น อิฐมอญหรืออิฐบล็อกมาเรียงก่อขึ้นเป็นผนังก่อนและฉาบด้วยปูนซีเมนต์ทับผิวให้เรียบแล้วทาสี ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงได้ความจากการนำสืบของจำเลยว่าแผ่นยิปซัมเป็นวัสดุที่ผลิตขึ้นสำเร็จรูป มิใช่วัสดุที่ก่อขึ้นอย่างก่ออิฐฉาบปูนดังกล่าวข้างต้น จึงรับฟังไม่ได้ว่าแผ่นยิปซัมเป็นวัสดุก่อเรียบทาสีตามความหมายที่ระบุในสัญญาปัญหาวินิจฉัยต่อไปมีว่า จำเลยมีสิทธิใช้แผ่นยิปซัมกั้นเป็นผนังหรือไม่ซึ่งจำเลยอ้างว่าแผ่นยิปซัมของจำเลยมีคุณภาพเท่าเทียมกันกับผนังที่ก่ออิฐฉาบปูนซึ่งตามสัญญาข้อ 2.2 ใช้สิทธิจำเลยที่จะนำมาใช้แทนได้ พร้อมกับนำสืบว่าแผ่นยิปซัมที่จำเลยนำมาใช้ บริษัทผู้ผลิตได้รับเครื่องหมายมาตรฐานสากลไอเอสโอ 9002ตามเอกสารหมาย ล.11 ถึง ล.13 และผนังเบานี้มีโครงเคร่าเป็นโลหะอยู่ภายในช่องห่างของโครงเคร่าประมาณ 20 เซนติเมตร สามารถป้องกันการบุกรุกได้มีความคงทนเท่าเทียมคอนกรีตกันเสียงและกันไฟได้ และยังมีความสวยงามและความเรียบกว่าก่ออิฐฉาบปูน พิเคราะห์ใบอนุญาตแสดงเครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมของประธานกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเอกสารหมาย จ.11 และหนังสือรับรองมาตรฐานคุณภาพ ไอเอสโอ 9002 ของบริษัทบูโร เวอริตาส ประเทศไทย จำกัด หมาย จ.13 แล้วเห็นว่า เป็นใบรับรองแต่เพียงว่าผลิตภัณฑ์แผ่นยิปซัมของบริษัทไทยผลิตภัณฑ์ยิปซัม จำกัด เป็นสินค้าที่ผลิตขึ้นถูกต้องตามมาตรฐานการผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมประเภทแผ่นยิปซัมเท่านั้น มิได้เปรียบเทียบกับสินค้าประเภทอื่น ทั้งมิได้มีข้อความรับรองคุณภาพเมื่อใช้กั้นเป็นผนังแล้วจะมีความคงทนเท่าเทียมกับผนังที่ก่อด้วยอิฐฉาบปูนแต่อย่างใด พยานหลักฐานของจำเลยคงรับฟังได้แต่เพียงว่า แผ่นยิปซัมที่จำเลยนำมาใช้มีคุณภาพอยู่ในระดับหนึ่งของสินค้าประเภทเดียวกันเท่านั้น แต่ไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่ามีคุณภาพเท่าเทียมกันกับผนังที่ก่อด้วยอิฐฉาบปูน จำเลยจึงไม่อาจอ้างสิทธิตามสัญญาข้อ 2.2 นำมาใช้แทนได้ เมื่อจำเลยใช้วัสดุก่อสร้างผิดจากข้อตกลงในสัญญา จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share