คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1146/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 13 บัญญัติไว้ว่า”ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ว่าด้วยการโอนคดีในท้องที่ที่ศาลเยาวชนและครอบครัวเปิดทำการแล้ว ห้ามมิให้ศาลชั้นต้นอื่นใดในท้องที่นั้นรับคดีที่อยู่ในอำนาจศาลเยาวชนและครอบครัวไว้พิจารณาพิพากษา” บทบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับเฉพาะคดีที่จะฟ้องใหม่เมื่อเริ่มเปิดทำการศาลเยาวชนและครอบครัวในท้องที่นั้น ๆ แล้วเท่านั้น ส่วนคดีที่ได้ฟ้องต่อศาลอื่นตามเขตอำนาจเดิมไว้แล้ว ค้างพิจารณาอยู่และไม่ได้ดำเนินการโอนคดีไปยังศาลเยาวชนและครอบครัวที่เปิดทำการใหม่ ศาลที่รับฟ้องคดีไว้แล้วจึงยังคงมีอำนาจพิจารณาคดีต่อไปได้ตามมาตรา 11(1) และ 136 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 3 ต่อศาลจังหวัดชลบุรี แล้วต่อมามีพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเปิดทำการแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลจังหวัดชลบุรีในระหว่างพิจารณาคดี แต่ศาลจังหวัดชลบุรีมิได้โอนคดีไปยังแผนกคดีเยาวชนและครอบครัว ในศาลจังหวัดชลบุรีศาลจังหวัดชลบุรียังคงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี นี้ต่อไปได้จนเสร็จตามบทกฎหมายดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277,317, 83 และ 91 และนับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 841/2538 ของศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การปฏิเสธ จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพข้อหาความผิดต่อเสรีภาพและปฏิเสธข้อหากระทำชำเรา แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ

ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความ

ศาลชั้นต้นพิพากษา จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคแรก จำเลยที่ 1 อายุ 16 ปี ลดมาตราส่วนโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 กึ่งหนึ่ง จำคุก 1 ปี 6 เดือน จำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก และ 317 วรรคสาม ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำเลยที่ 3 อายุ 17 ปี ลดมาตราส่วนโทษให้ตามมาตรา 75 กึ่งหนึ่ง ฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุไม่เกิน 15 ปี จำคุก 2 ปี ฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจารจำคุก 2 ปี 6 เดือน รวมจำคุก 4 ปี 6 เดือน จำเลยที่ 1 รับสารภาพเมื่อสืบพยานโจทก์เสร็จแล้ว ส่วนจำเลยที่ 3 รับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คนละหนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 ปี จำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 3 ปี ยกคำขอให้นับโทษต่อ

จำเลยที่ 3 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน

จำเลยที่ 3 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ผู้เสียหายซึ่งเกิดเมื่อวันที่ 3ธันวาคม 2524 อยู่ในความปกครองดูแลของนายแดงผู้เป็นบิดา ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ประการแรกมีว่า ศาลชั้นต้นมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้หรือไม่ ปัญหาดังกล่าวจำเลยที่ 3 ฎีกาว่า หลังจากที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 3 แล้ว ได้มีพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชนจังหวัดชลบุรีขึ้นศาลชั้นต้นจะต้องโอนคดีนี้ไปยังศาลคดีเด็กและเยาวชนจังหวัดชลบุรีซึ่งมีเขตอำนาจในการพิจารณาคดีนี้ ศาลชั้นต้นจึงไม่มีอำนาจพิจารณาคดีนี้นั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 21 มีนาคม2538 ต่อมามีพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเปิดทำการแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลจังหวัดชลบุรี ศาลจังหวัดตรัง ศาลจังหวัดนครปฐม ศาลจังหวัดนราธิวาสศาลจังหวัดปทุมธานี ศาลจังหวัดร้อยเอ็ด และศาลจังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2538 มาตรา 4 ให้เปิดทำการแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลจังหวัดชลบุรีและศาลจังหวัดปทุมธานี ตั้งแต่วันที่ 7 สิงหาคม 2538 เป็นต้นไปและให้มีเขตอำนาจตลอดจังหวัดชลบุรี และจังหวัดปทุมธานี ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า เมื่อเปิดทำการแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลชั้นต้นดังกล่าวแล้ว ศาลชั้นต้นยังคงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้หรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 13 บัญญัติไว้ว่า “ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ว่าด้วยการโอนคดีในท้องที่ที่ศาลเยาวชนและครอบครัวเปิดทำการแล้ว ห้ามมิให้ศาลชั้นต้นอื่นใดในท้องที่นั้นรับคดีที่อยู่ในอำนาจศาลเยาวชนและครอบครัวไว้พิจารณาพิพากษา” บทบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับเฉพาะคดีที่จะฟ้องใหม่เมื่อเริ่มเปิดทำการศาลเยาวชนและครอบครัวในท้องที่นั้น ๆ แล้วเท่านั้นส่วนคดีที่ได้ฟ้องต่อศาลอื่นตามเขตอำนาจเดิมไว้แล้วและค้างพิจารณาอยู่จนกระทั่งมีการเปิดทำการศาลเยาวชนและครอบครัวในท้องที่นั้น ศาลที่ได้รับฟ้องคดีเยาวชนและครอบครัวไว้แล้วและไม่ได้ดำเนินการโอนคดีไปยังศาลเยาวชนและครอบครัวที่เปิดทำการใหม่ศาลที่รับฟ้องคดีไว้แล้วจึงยังคงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีต่อไปได้ ทั้งนี้ เป็นไปตามมาตรา 11(1) และ 136 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งมาตรา 11(1) บัญญัติว่า”ศาลเยาวชนและครอบครัวมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีดังต่อไปนี้ (1) คดีอาญาที่มีข้อหาว่าเด็กหรือเยาวชนกระทำผิด” และมาตรา 136 บัญญัติว่า “คดีตามมาตรา 11 ที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลชั้นต้นตามมาตรา 3 แห่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรมในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ถ้าเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัว ให้ศาลชั้นต้นดังกล่าวคงพิจารณาพิพากษาต่อไปจนเสร็จแต่ถ้าศาลนั้นเห็นว่าคดีมีเหตุอันสมควรจะโอนคดีนั้นไปพิจารณาพิพากษาในศาลเยาวชนและครอบครัวที่จัดตั้งขึ้นตามมาตรา 8 และมาตรา 10 และมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่โอนไป ก็ให้โอนไปได้”ฉะนั้น แม้จะได้เปิดทำการแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลชั้นต้นระหว่างการพิจารณาคดีนี้ แต่ศาลชั้นต้นมิได้โอนคดีไปยังแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นจึงยังคงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ต่อไปได้จนเสร็จ ตามบทกฎหมายมาตราดังกล่าว ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาคดีนี้โดยชอบแล้วฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share