แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยโดยเหตุที่ว่าผู้ลงชื่อในอุทธรณ์ศาลมิได้อนุญาตให้เป็นทนายความของจำเลยนั้น เป็นการสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 232 เมื่อจำเลยมิได้ทำอุทธรณ์ให้ถูกต้องและมายื่นใหม่ภายในอายุอุทธรณ์แต่กลับร้องขอแก้ไขความบกพร่องในอุทธรณ์ที่ศาลไม่รับเสียแล้ว เมื่อศาลชั้นต้นไม่อนุญาตจำเลยจึงยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่รับอุทธรณ์ตามมาตรา 234 และศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยืนตามคำปฏิเสธของศาลชั้นต้นแล้ว ดังนี้ คำสั่งศาลอุทธรณ์จึงเป็นที่สุดตามมาตรา 236 แม้ฎีกาของจำเลยจะมีข้อความคัดค้านคำสั่งศาลอุทธรณ์ที่ไม่อนุญาตให้จำเลยแก้ไขความบกพร่องก็ดี แต่ผลที่สุดก็ขอให้สั่งอนุญาตให้จำเลยลงชื่อในอุทธรณ์ที่ศาลชั้นต้นไม่รับแล้วเท่ากับฎีกาคัดค้านคำสั่งศาลอุทธรณ์ที่ยืนตามคำปฏิเสธของศาลชั้นต้นนั้นเองจำเลยจะฎีกาหาได้ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ห้ามจำเลยทั้งสองทำการก่อสร้างในที่ดินมรดกของนายแนบพหลโยธิน ให้ห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้องและขัดขวางโจทก์ และขอให้ส่งมอบที่ดินแก่โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดก
ศาลชั้นต้นพิพากษาห้ามมิให้จำเลยเข้าไปทำการก่อสร้างในที่ดินและห้ามมิให้จำเลยและบริวารเข้าไปเกี่ยวข้องในที่ดินดังกล่าว
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์และยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับ
ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์และคำร้องขอทุเลาการบังคับของจำเลยที่ 1แต่ไม่รับอุทธรณ์และคำร้องขอทุเลาการบังคับของจำเลยที่ 2 เพราะผู้ลงชื่อในอุทธรณ์และคำร้องขอทุเลาการบังคับนั้น ศาลมิได้อนุญาตให้เป็นทนายความของจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมความบกพร่อง โดยขออนุญาตลงชื่อและประทับตราจำเลยที่ 2 กับเพิ่มข้อความท้ายอุทธรณ์
ศาลชั้นต้นสั่งว่า ศาลสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ไปแล้ว ไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 2 แก้เพิ่มเติมชื่อ ให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ โดยขอให้อนุญาตให้จำเลยที่ 2 แก้ไขความผิดพลาดบกพร่อง โดยให้ลงชื่อในอุทธรณ์ แล้วรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ไว้พิจารณา
ศาลอุทธรณ์สั่งว่า คำสั่งศาลชั้นต้นชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นนั้นประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 229 บังคับให้ยื่นต่อศาลชั้นต้นมาตรา 232 บัญญัติให้ศาลชั้นต้นตรวจอุทธรณ์และมีคำสั่งให้ส่งหรือปฏิเสธไม่ส่งอุทธรณ์นั้นไปยังศาลอุทธรณ์ ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ถ้าศาลปฏิเสธไม่ส่ง ให้ศาลแสดงเหตุที่ไม่ส่งนั้นไว้ในคำสั่งทุกเรื่องไป ถ้าเหตุที่ไม่ส่งนั้นเป็นไปโดยอุทธรณ์ไม่ถูกต้อง ผู้อุทธรณ์อาจทำให้ถูกต้องแล้วนำมายื่นใหม่ภายในอายุอุทธรณ์ได้ แต่ถ้าผู้อุทธรณ์ไม่นำมายื่นใหม่ก็มีมาตรา 234 บังคับไว้ว่า ถ้าศาลชั้นต้นไม่รับอุทธรณ์ ผู้อุทธรณ์อาจอุทธรณ์คำสั่งนั้นไปยังศาลอุทธรณ์ โดยยื่นคำขอเป็นคำร้องต่อศาลชั้นต้น และมีมาตรา 236บังคับให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาคำร้องอุทธรณ์ ฟ้องอุทธรณ์ คำพิพากษาและคำสั่งศาลชั้นต้น ถ้าเห็นจำเป็นที่จะต้องตรวจสำนวน ก็ให้เรียกสำนวนมาตรวจแล้วมีคำสั่งยืนตามคำปฏิเสธของศาลชั้นต้น หรือมีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ คำสั่งนี้ให้เป็นที่สุด
ตามฎีกาของจำเลยที่ 2 แม้จะมีข้อความคัดค้านคำสั่งศาลอุทธรณ์ที่ไม่อนุญาตให้จำเลยขอแก้ไขความบกพร่องในเรื่องอำนาจของผู้แทนนิติบุคคลมาลอย ๆ ก็ดี แต่ผลที่สุดก็ขอให้สั่งอนุญาตให้แก้ไขเพิ่มเติมความบกพร่องโดยอนุญาตให้จำเลยที่ 2 ลงชื่อและประทับตราของจำเลยที่ 2 ในอุทธรณ์ที่ศาลชั้นต้นไม่รับแล้ว เท่ากับเป็นฎีกาคัดค้านคำสั่ง ศาลอุทธรณ์ที่ยืนตามคำปฏิเสธของศาลชั้นต้นนั้นเอง เมื่อปรากฏว่าศาลชั้นต้นสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 คดีนี้ โดยเหตุที่ว่าผู้ลงชื่อในอุทธรณ์ ศาลมิได้อนุญาตให้เป็นทนายความของจำเลยที่ 2 ก็ได้ชื่อว่าสั่งตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 232 แล้ว แต่จำเลยที่ 2 ก็มิได้ทำอุทธรณ์ให้ถูกต้องและมายื่นใหม่ ภายในอายุอุทธรณ์ จำเลยกลับร้องขอแก้ไขความบกพร่องในอุทธรณ์ที่ศาลไม่รับเสียแล้ว เมื่อศาลชั้นต้นไม่อนุญาต จำเลยที่ 2 จึงยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่รับอุทธรณ์ตามมาตรา 234 และศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยืนตามคำปฏิเสธของศาลชั้นต้นแล้วเช่นนี้ คำสั่งศาลอุทธรณ์ จึงเป็นที่สุดตามมาตรา 236 จำเลยที่ 2 จะฎีกาหาได้ไม่
พิพากษาให้ยกฎีกาจำเลยที่ 2 เสีย