คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 169/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยขับรถในทางก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลแล้วไม่หยุดรถให้การช่วยเหลือและแสดงตัวต่อเจ้าพนักงานเป็นเหตุให้บุคคลนั้นถึงแก่ความตาย ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 โจทก์ร่วมไม่ใช่ผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดฐานนี้โดยตรง จึงไม่ใช่ผู้เสียหายตามกฎหมายและไม่มีสิทธิอุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดตาม พ.ร.บ. ดังกล่าวได้ และเมื่อโจทก์มิได้บรรยายฟ้องอ้างเหตุว่าการที่จำเลยไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือตามสมควร ไม่แสดงตัวและไม่แจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันทีอันเป็นการไม่ปฏิบัติตามมาตรา 78 แห่ง พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ นั้น เป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตาย คดีจึงไม่อาจลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 160 วรรคสอง ได้ และปัญหานี้แม้คู่ความจะมิได้อุทธรณ์ฎีกา แต่เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า ขณะเกิดเหตุ รถจำเลยแล่นอยู่ในช่องเดินรถที่ 1 มิได้วิ่งคร่อมช่องเดินรถที่ 1 และที่ 2 การที่รถจำเลยเฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์ของผู้ตาย ผู้ตายจึงมีส่วนประมาทอยู่ด้วย ทำนองว่าจำเลยมิได้กระทำความผิดตามฟ้องนั้น เป็นข้อเท็จจริงที่ยกขึ้นใหม่และขัดแย้งกับคำให้การรับสารภาพของจำเลย จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 78, 157, 160 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 291
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยาน จำเลยขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพ
ระหว่างพิจารณา นางสาวจันทร์เพ็ญ มารดาของผู้ตาย ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาตเฉพาะข้อหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ส่วนข้อหาอื่น โจทก์ร่วมไม่เป็นผู้เสียหายจึงไม่อนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 (เดิม) พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 78 วรรคหนึ่ง, 157, 160 วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานขับรถในทางก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลแล้วไม่หยุดรถให้การช่วยเหลือและแสดงตัวต่อเจ้าพนักงานเป็นเหตุให้บุคคลนั้นถึงแก่ความตาย ลงโทษจำคุก 6 เดือน และปรับ 10,000 บาท ฐานขับรถโดยประมาทอันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินกับฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 ปี และปรับ 10,000 บาท รวมจำคุก 2 ปี 6 เดือน และปรับ 20,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี 3 เดือน และปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอไว้มีกำหนด 2 ปี ให้คุมความประพฤติของจำเลยโดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อเจ้าพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือน ต่อครั้งภายใน 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
โจทก์ร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ลงโทษปรับ ไม่คุมความประพฤติ และไม่รอการลงโทษ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สำหรับความผิดฐานขับรถในทางก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลแล้วไม่หยุดรถให้การช่วยเหลือและแสดงตัวต่อเจ้าพนักงานเป็นเหตุให้บุคคลนั้นถึงแก่ความตาย ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 โจทก์ร่วมไม่ใช่ผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดฐานนี้โดยตรง จึงไม่ใช่ผู้เสียหายตามกฎหมาย จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำคุกโดยไม่รอการลงโทษให้แก่จำเลยในความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าวได้ ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมและศาลอุทธรณ์ภาค 7 รับพิจารณาในข้อหานี้โดยพิพากษาเป็นไม่รอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยนั้น จึงไม่ชอบด้วยบทกฎหมายดังกล่าว และเมื่อโจทก์มิได้บรรยายฟ้องอ้างเหตุว่าการที่จำเลยไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือตามสมควร ไม่แสดงตัวและไม่แจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันทีอันเป็นการไม่ปฏิบัติตามมาตรา 78 วรรคหนึ่ง ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 นั้น เป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตาย คดีจึงไม่อาจลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 160 วรรคสอง ได้ ปัญหาดังกล่าว แม้คู่ความจะมิได้อุทธรณ์ฎีกา แต่เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า ขณะเกิดเหตุ รถจำเลยแล่นอยู่ในช่องเดินรถที่ 1 มิได้วิ่งคร่อมช่องเดินรถที่ 1 และที่ 2 การที่รถจำเลยเฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์ของผู้ตาย ผู้ตายจึงมีส่วนประมาทอยู่ด้วย ทำนองว่าจำเลยมิได้กระทำความผิดตามฟ้องนั้น เห็นว่า เป็นข้อเท็จจริงที่ยกขึ้นใหม่ในชั้นฎีกาและขัดแย้งกับคำให้การรับสารภาพของจำเลย จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 ที่แก้ไขใหม่ ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่ามีเหตุสมควรลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยในความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายหรือไม่ เห็นว่า จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ร่วมแล้ว 80,000 บาท อีกทั้งภายหลังศาลอุทธรณ์ภาค 7 มีคำพิพากษา บริษัทรับประกันภัยวางเงินชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ร่วมเป็นเงิน 565,000 บาท รวมถึงจำเลยวางเงินชดใช้ค่าเสียหายเพิ่มเติมให้แก่โจทก์ร่วมอีก 40,000 บาท นับว่าจำเลยรู้สำนึกในการกระทำความผิดและพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิดของตนตามสมควร เมื่อปรากฏว่า จำเลยมีอาชีพการงานเป็นหลักแหล่ง และมีภาระต้องเลี้ยงดูบุคคลในครอบครัว การให้โอกาสจำเลยได้กลับตนเป็นพลเมืองดี และได้ประกอบสัมมาชีพต่อไปน่าจะเป็นผลดีและเป็นประโยชน์แก่จำเลยและสังคมมากกว่าการลงโทษจำคุกจำเลยไปเสียทีเดียว กรณีจึงเห็นสมควรรอการลงโทษให้แก่จำเลย แต่เพื่อให้จำเลยหลาบจำ เห็นสมควรลงโทษปรับอีกสถานหนึ่งและคุมความประพฤติของจำเลยไว้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ลงโทษฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายหลังลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี นั้นเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว แต่ที่ใช้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษให้จำเลยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 (เดิม) พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 78 วรรคหนึ่ง, 157, 160 วรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานขับรถในทางก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลแล้วไม่หยุดรถให้การช่วยเหลือและแสดงตัวต่อเจ้าพนักงาน ลงโทษจำคุก 3 เดือน และปรับ 10,000 บาท ฐานขับรถโดยประมาทอันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินกับฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ให้ลงโทษฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 ปี และปรับ 20,000 บาท รวมจำคุก 2 ปี 3 เดือน และปรับ 30,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี 1 เดือน 15 วัน และปรับ 15,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 3 ปี นับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟัง และคุมความประพฤติของจำเลยมีกำหนด 2 ปี โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือน ต่อครั้ง ภายในกำหนดดังกล่าว กับให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรมีกำหนด 20 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 (ที่แก้ไขใหม่) หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 (ที่แก้ไขใหม่)

Share